“ยุทธพร” ชง3แนวทางนิรโทษกรรม พ่วงคดีผิดกม.ประชามติ รณรงค์ไม่รับร่างรธน.60
"อนุกมธ.นิรโทษกรรม" จำแนกความผิดทางการเมือง ชง3แนวทางนิรโทษกรรม พ่วงคดีผิดกฎหมายประชามติ เมื่อปี60 การรณรงค์ไม่รับร่างรธน.
ที่รัฐสภา นายยุทธพร อิสรชัย ฐานะประธานอนุกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษาและจำแนกกระทำเพื่อประกอบการพิจารณาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม สภาฯ ให้สัมภาษณ์ก่อนการนำเสนอผลการศึกษาต่อกมธ.นิรโทษกรรมฯ ว่า อนุกมธ.ฯ เสนอทางเลือกการนิรโทษกรรม 3 ทาง คือ 1.ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือนิรโทษกรรม เพื่อให้กฎหมายเป็นส่วนที่ให้อำนาจหน่วงานที่เกี่ยวข้อง 2.ในความผิดบางฐานที่ไม่มีข้อสรุปหรือข้อยุติในสังคม อาจใช้มาตรการอื่นที่ไม่ใช้กฎหมายดำเนินการ และ 3. บางฐานความผิดที่ดำเนินคดีแล้วไม่ก่อให้เกิดประโยชน์กับสาธารณะ ให้ใช้กฎหมายอื่นดำเนินการ เช่น พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) องค์กรอัยการ มาตรา21 สั่งไม่ฟ้อง ซึ่งมีตัวอย่าง เช่น คดีความผิดเกี่ยวกับกฎหมายจราจร, เครื่องขยายเสียง, ความสะอาด เป็นต้น ส่วนประเด็นของมาตรา 112 นั้นยังไม่มีข้อสรุป
“การนิรโทษกรรมเป็นเรื่องของสภาฯหลังจากกมธ.มีข้อสรุปไม่เกินเดือนก.ค. เพื่อนำเสนอต่อสภาฯ และนำไปพิจารณา ซึ่งสภาฯมีเอกสิทธิ์ ฟังข้อเสนอทั้งหมด หรือไม่ฟังก็ได้หรือใช้บางส่วนก็ได้ เพราะกมธ.ตั้งขึ้นตามญัตติของสภาฯ โดยข้อเสนอนั้นอาจนำไปพิจารณาประกอบกับ พ.ร.บ. นิรโทษษกรรม ที่เสนอจากหลายฝ่าย” นายยุทธพร กล่าว
นายยุทธพร กล่าวด้วยว่า สำหรับกรอบและระยะเวลาที่พิจารณานั้น เริ่มตั้งแต่ 1 ม.ค. 48 ถึงปัจจุบัน โดยระยะ 20 ปี นั้นจะแบ่งเป็น 4 ช่วง คือ ช่วงปี 48 - 51, ช่วงปี 52-55, ช่วงปี 56-62 และ ช่วงปี 63-67 ที่จะมีเหตุการณ์ทางการเมืองใหญ่ คือ การชุนนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย, กลุ่มนปช., กลุ่ม กปปส. และกลุ่มเยาวชน ทั้งนี้กการพิจารณารายละเอียดจะจำแนกผ่านเกณฑ์ต่างๆ ที่มีแรงจูงใจทางการเมืองที่ชัดเจน และ แรงจูงใจทางการเมืองที่ไม่ชัดเจน
“สำหรับแรงจูงใจทางการเมืองที่ชัดเจน จะมีกฎหมายที่เกี่ยวกับฐานความผิดกับการชุมนุม ทั้งการชุมนุมสาธารณะ อาญา และกฎหมายที่บังคับใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน รวมถึงการรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งเกี่ยวกับประชามติ ขณะที่แรงจูงใจทางการเมืองที่ไม่ชัดเจน จะเป็นเรื่องการกระทำต่างๆ เช่น กฎหมายจราจร, ความสะอาด ทั้งนี้เมื่ออนุกมธ.เสนอต่อกมธ.แล้ว และมีข้อเสนอใดจะนำไปปรับปรุง” นายยุทธพร กล่าว.