แก้ ก.ม.สกัด ‘รัฐประหาร’ การันตี ‘ไม่ฉีกรัฐธรรมนูญ ?’
"รัฐประหาร"บทสรุปสุดท้าย ด้วยการใช้ “อำนาจเหนืออำนาจ” ฉีกรัฐธรรมนูญ! ถอดรหัสกลาโหม เสนอกฎหมายป้องกันยึดอำนาจ "เกมชิงไหวชิงพริบ"อำนาจนิติบัญญัติ สัญญาณ"ชินวัตร"?
KEY
POINTS
- ดันกฎหมายสกัดรัฐประหาร แผลเก่ายึดอำนาจ “2 นายกฯตระกูลชินวัตร”
- สัญญาณขยับ “ดุลอำนาจ” จับตา “นายกฯหญิงผู้น้อง” กลับไทยภายใต้ “ดีลภาค2” ที่ครอบอยู่อีกชั้น
- จังหวะ “เกมชิงไหวชิงพริบ” ทางดุลอำนาจนิติบัญญัติ
- เสียงวิพากษ์วิจารณ์ทิ้งไว้ซึ่งคำถามที่ว่า จะป้องกันรัฐประหารได้จริงหรือไม่?
- ต่อให้ออกกฎหมายกี่ฉบับ แต่บทสรุปของรัฐประหารสุดท้ายก็จบลงด้วยการใช้ “อำนาจเหนืออำนาจ” ฉีกรัฐธรรมนูญอยู่ดี!
ผ่านพ้นการปรับทัพ “ครม.เศรษฐา 2” เริ่มนับหนึ่งปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นทางการ ด้วยการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)นัดแรกไปเมื่อ วันที่ 7 พ.ค.2567
ท่ามกลางสัญญาณการสลับสับเปลี่ยน “โยกย้ายอำนาจ” โดยเฉพาะรัฐมนตรีในส่วนของพรรคเพื่อไทย ที่รอบนี้มีการปรับใหญ่
ตอกย้ำชัดด้วยการแบ่งงานรองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลในแต่ละกระทรวง
โฟกัสไปที่โหมดความมั่นคงโดยเฉพาะ “กระทรวงกลาโหม”จากเดิมที่อยู่ในการดูแลของนายกรัฐมนตรี ล่าสุดมีการสลับสับเปลี่ยนไปที่ “ขุนพลตระกูลชินวัตร” คือ “ภูมิธรรม เวชยชัย”รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ จากเดิมที่คุมเฉพาะกระทรวงด้านเศรษฐกิจ
อย่างที่รู้กันว่า ก่อนที่โผ ครม.เศรษฐา 2 จะถูกปิดจบ มีกระแสข่าวมาเป็นระยะว่า นายกฯ“เศรษฐา ทวีสิน” จะโยกจาก “ขุนคลังนิด” มาเป็น “บิ๊กนิด” ที่ตำแหน่ง รมว.กลาโหม อีกเก้าอี้ โดยตามโผในเวลานั้น จะมีการปรับ “สุทิน คลังแสง” รมว.กลาโหม ออก
ทว่า ถึงเวลาจริง ชื่อของ “สุทิน” กลับพ้นเรดโซน ได้กลับเข้ามาอยู่ในโผในนาทีสุดท้าย ก่อนปิดจบ
เป็นเช่นนี้ ต้องจับตา การที่"สุทิน"ได้คืนสู่อำนาจในตำแหน่ง รมว.กลาโหม โดยมี “ภูมิธรรม” ขุนพลนายใหญ่ครอบอยู่อีกชั้น แน่นอนว่า มีวาระแฝงทางการเมืองอย่างมีนัยสำคัญ
โดยเฉพาะวาระที่ค้างคามาตั้งแต่ ครม.เศรษฐา 1 นั่นคือการเสนอแก้ร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบกระทรวงราชการกระทรวงกลาโหม เพื่อสกัดกั้นการรัฐประหาร
หลักใหญ่ใจความของการแก้ไข ที่“สุทิน” พูดไว้หลายวันก่อน ไฮไลต์สำคัญอยู่ที่การ “ติดดาบ” ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีสามารถ “สั่งพักราชการ” กรณีพบความเคลื่อนไหว ในลักษณะที่ไม่เป็นคุณ หรือมีหลักฐานที่เชื่อได้ว่า จะทำแบบนั้น โดยจะต้องเป็นการเสนอของคณะทำงาน
จับสัญญาณฟากฝั่งพรรคเพื่อไทย แกนนำรัฐบาลเวลานี้ ไม่เพียงแต่เรียนรู้ถึงแผลเก่าเหตุการณ์รัฐประหาร 2 ครั้งส่งผลให้ “2 นายกฯตระกูลชินวัตร” เดินทางออกนอกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นรัฐประหาร 2549 มี ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกฯ และรัฐประหาร 2557 มี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกฯ แต่เพียงเท่านั้น
แต่การเสนอโมเดลครั้งนี้ถูกจับตาไปถึงการขยับ “ดุลอำนาจ” สอดรับสัญญาณเดินทางกลับไทยของ “นายกฯหญิงผู้น้อง” ภายใต้ “ดีลภาค2” ที่ครอบอยู่อีกชั้นในเวลานี้
เหนือไปกว่านั้น การเสนอโมเดลดังกล่าว ยังต้องจับตาไปที่จังหวะ “เกมชิงไหวชิงพริบ” ทางดุลอำนาจนิติบัญญัติ ไล่ย้อนกลับไปในช่วงสมัยประชุมสภาสมัยที่แล้ว ยังมีกฎหมายชุด “ปฏิรูปกองทัพ” ที่เสนอโดยพรรคก้าวไกล 5 ฉบับ ประกอบด้วย
- ร่าง พ.ร.บ.รับราชการทหาร เพื่อยกเลิกการบังคับเกณฑ์ทหารในยามปกติ และเปลี่ยนเป็นระบบสมัครใจ 100%
- ร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม เพื่อตัดอำนาจสภากลาโหม ให้พลเรือนอยู่เหนือกองทัพ
- ร่าง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ เพื่อเพิ่มความโปร่งใสเรื่องภาระค่าใช้จ่ายและเงินนอกงบประมาณทั้งหมดของรัฐ
- ร่าง พ.ร.บ. ยกเลิก พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 เพื่อดำเนินการยุบกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.)
- ร่าง พ.ร.บ. ยกเลิกประกาศ คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. เพื่อยกเลิกประกาศและคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพ
ขณะนี้กฎหมายทั้ง 5 ฉบับของพรรคก้าวไกล ยังค้างอยู่ในวาระของสภาฯ เนื่องจากเป็นช่วงปิดสมัยประชุม และจะเปิดสมัยประชุมอีกครั้งในช่วงวันที่ 3 ก.ค.- 30 ต.ค.2567 นี้ ต้องจับตาถึงเวลานั้น น่าจะได้เห็นเกมชิงไหวชิงพริบของฟากฝั่งการเมืองอย่างเห็นได้ชัด
เรียกได้ว่า “โมเดลสกัดรัฐประหาร” ที่ถูกพูดถึงในเวลานี้ ในทางการเมืองยังมีอีกหลายฉากหลายตอนให้ต้องลุ้นกันยาวๆ ยังไม่นับรวมเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทิ้งไว้ซึ่งคำถามที่ว่า จะป้องกันรัฐประหารได้จริงหรือไม่?
แม้แต่“สุทิน” เองที่อยู่วงในรายล้อมด้วยบรรดาบิ๊กเหล่าทัพ ก็ยังยอมรับว่า การเสนอแก้ไขกฎหมายอาจไม่มีอะไรร้อยเปอร์เซ็นต์ เพียงแต่เป็นการสกัดยับยั้งลดโอกาสที่จะเกิดลง
ไม่ต่างจากผลสำรวจ “นิด้าโพล” เปิดเผยเมื่อวันที่ 28 เม.ย. ถามความเห็นประชาชนเรื่อง“หยุดรัฐประหาร!”
คำถามแรก ร่างพ.ร.บ.จัดระเบียบกระทรวงกลาโหมจะช่วยป้องกันการรัฐประหาร พบว่า ร้อยละ 51.83 ระบุว่า ไม่เชื่อเลย ร้อยละ 25.73 ระบุว่า ไม่ค่อยเชื่อร้อยละ 12.52 ระบุว่า ค่อนข้างเชื่อร้อยละ 6.72 ระบุว่า เชื่อมากร้อยละ 3.20 ระบุว่า เฉย ๆ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ขณะเดียวกันเมื่อถามว่า ความเชื่อของประชาชนเกี่ยวกับการทำรัฐประหารในปี 2557 จะเป็นครั้งสุดท้ายของประเทศไทย พบว่า
ร้อยละ 61.83 ระบุว่า ไม่เชื่อเลย ร้อยละ 20.38 ระบุว่า ไม่ค่อยเชื่อร้อยละ 8.24 ระบุว่า ค่อนข้างเชื่อร้อยละ 6.11 ระบุว่า เชื่อมากร้อยละ 3.44 ระบุว่า เฉย ๆ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ฉะนั้นแม้รัฐบาลหรือฟากฝั่งการเมืองจะยังหวังให้กฎหมายดังกล่าวเกิดขึ้นเพื่อ“สกัด-ยับยั้ง-ลดโอกาส” เกิดรัฐประหาร แต่ก็ยังมีความเห็นอีกมุม ที่มองว่า สิ่งที่จะ “การันตี” ว่าการรัฐประหารจะเกิดขึ้นหรือไม่ หัวใจสำคัญอยู่ที่กฎหมายสูงสุดคือ “รัฐธรรมนูญ”
ต่อให้ออกกฎหมายกี่ฉบับ แต่บทสรุปของรัฐประหารสุดท้ายก็จบลงด้วยการใช้ “อำนาจเหนืออำนาจ” ฉีกรัฐธรรมนูญอยู่ดี!