เลือก สว.67 ส่อถูกแขวน หลัง 'กกต.' ออกแบบกติกามีปัญหา
วงราชดำเนินเสวนาวิพากษ์กติกา กกต. "ปริญญา" หวั่นกติกาเลือก สว.ที่เป็นปัญหา ส่อทำให้ประกาศผลเลือกสว.ไม่ได้ "ไอลอว์" ย้ำเปิดเว็บไซต์สกัดฮั้ว
กระบวนการเลือก “สว.ชุดใหม่” ตามรัฐธรรมนูญกำหนด ใกล้เริ่มต้นนับหนึ่ง หลัง “สว.ปัจจุบัน” จะหมดวาระในวันที่ 10 พ.ค. นี้
ทว่าก่อนกระบวนการนี้จะเริ่มขึ้น กติกาที่ “คณะกรรมการการเลือกตั้ง” (กกต.) เขียนขึ้น ถูกวิจารณ์อย่างมาก
ล่าสุด สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดเวทีราชดำเนินเสวนา เรื่อง "เลือกสว.กติกาใหม่ ใครได้ใครเสีย” โดยมีตัวแทนฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม
ในเวทีได้ยกประเด็น ระเบียบ กกต. ว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) พ.ศ.2567 เป็นโจทย์หลัก ซึ่งมีเสียงสะท้อนจากฝ่ายวิชาการด้านกฎหมายระบุว่า กติกาที่ กกต.เขียนขึ้นนี้ จะเป็นปมปัญหาที่ทำให้การประกาศผลการเลือกสว. ตามปฏิทินกกต. 2 ก.ค. ทำไม่ได้ เมื่อผสมเข้ากับกระบวนการทำงานของ กกต. ที่อาจมีปัญหาในแง่ของการทำงาน
โดย "ปริญญา เทวานฤมิตรกุล" นักวิชาการคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้ชี้ให้เห็นในประเด็นข้อกฎหมายที่มีปัญหาว่า การเลือกกันเองของ สว.จาก 20 กลุ่ม ซึ่งแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศ รวมการโหวต 6 ครั้ง ที่คาดว่าจะมีผู้สมัครนับแสนคน การจำกัดการแนะนำตัวผ่านระเบียบกกต.ที่ออกมา อาจทำให้การทำความรู้จักกันได้ไม่ทั่วถึง ซึ่งกติกาที่ออกมาส่อให้เห็นว่าเป็นปัญหาโดยเฉพาะการกำหนดบทลงโทษ
“ผมเชื่อว่าประกาศผลเลือกได้ในวันที่ 2 ก.ค. จะทำไม่ได้ เนื่องจากมีขั้นตอนการเลือกซับซ้อน อีกทั้ง ระเบียบของกกต.ว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสว. นั้นถือว่าเป็นปัญหา และมีรายละเอียดที่จำกัดสิทธิเสรีภาพเกินกว่าเหตุ และอาจทำให้การเลือกนั้นไม่โปร่งใส ซึ่งข้อจำกัดการแนะนำตัว ที่กำหนดให้ผู้สมัครแนะนำตัวทางอิเล็กทรอนิกส์ด้วยตนเองเท่านั้น หมายถึงแนะนำตัวด้วยวิธีอื่นไม่ได้ พร้อมกับกำหนดบทลงโทษหากฝ่าฝืน เช่น โทษจำ โทษปรับ เพิกถอนสิทธิ ซึ่งตนมองว่า กกต.ไม่ใช่ฝ่ายนิติบัญญัตติที่สามารถออกกฎเอง แต่สามารถทำได้ตามกรอบของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสว.ไม่ใช่ให้อำนาจกกต. ทำเกินกว่าที่กฎหมายลูกและรัฐธรรมนูญกำหนด” ปริญญา กล่าว
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการตัดตอนปัญหาที่จะส่งผลกระทบต่อการประกาศผลเลือกสว. “ปริญญา” แนะนำให้ กกต. แก้ไขระเบียบที่เป็นการจำกัดสิทธิผู้สมัครเกินเหตุ และกำหนดวิธีให้ผู้สมัครรู้จักกันข้ามอำเภอ รวมถึงกำหนดรายละเอียดให้การเลือกโปร่งใส ผ่านการเปิดโอกาสให้ประชาชน สื่อมวลชน สังเกตการณ์และตรวจสอบ
“ที่ทำได้ทันที คือให้ผู้อำนวยการเลือกทุกระดับ คือเปิดเผยการบันทึกภาพและเสียงการเลือกทุกกลุ่ม ทุกระดับ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส ทั้งนี้เชื่อว่าเมื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนตรวจสอบ จะทำให้เกิดความโปร่งใส รวมถึงอนุญาตผู้สังเกตการณ์ สื่อมวลชน เข้าสังเกตการณ์ในการเลือก ทั้งนี้ กกต. ยังไม่ได้แสดงความชัดเจนในเรื่องดังกล่าว ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัด หรือนายอำเภอในฐานะเจ้าหน้าที่ คงไม่กล้า ดังนั้น กกต.ควรดำเนินการ หารือกับสมาคมนักข่าวฯ เพื่อกำหนดแนวทางที่ชัดเจนว่าผู้ใดเป็นสื่อและสามารถบันทึกภาพ เสียง นำกล้องเข้าไปในพื้นที่ได้” ปริญญา กล่าวย้ำ
ขณะที่ประเด็นที่อาจเป็นปมทำให้ กกต. ประกาศผลเลือก สว. ไม่ได้ “ปริญญา” ชี้ว่า คือการทำผิดกฎหมายอย่างชัดแจ้ง ในการจูงใจให้สมัครด้วยทรัพย์สินหรือสัญญาว่าจะให้ ไม่ใช่ประเด็นการรณรงค์ให้ประชาชนสมัครเข้ารับเลือกเป็นสว. หรือการเปิดเว็บไซต์ พร้อมย้ำว่าการจูงใจให้คนสมัครมากๆ คือ ช่องทางที่จะทำให้เกิดการตัดสินใจโดยอิสระ ไม่ฮั้ว
ขณะที่ “รัชพงษ์ แจ่มจิรไชยกุล” ตัวแทนจากไอลอว์ ฐานะผู้เปิดเว็บไซต์ Senate67 เพื่อให้มีพื้นที่ทำความรู้จัก และตรวจสอบ ว่าที่ผู้สมัคร สว. ยืนยันว่าการรณงค์ให้มีผู้สมัครโหวตนั้นไม่ผิด เพราะการเชิญชวนให้ผู้สมัครจำนวนมากๆ จะปิดช่องของการฮั้ว
ส่วนกรณีที่ศาลปกครองรับคำร้อง ว่าด้วยกติกาของกกต.ว่าด้วยการแนะนำตัว และเตรียมไต่สวนวันที่ 16 พ.ค.นั้น หากศาลยกคำร้อง ไอลอว์ต้องกลับมาพิจารณาและศึกษาระเบียบอีกครั้งว่า ยังเหลือประเด็นใดที่ทำได้หรือไม่
“การแนะนำตัวกับผู้สมัครเท่านั้น ส่งเสริมให้เกิดกระบวนการฮั้วกัน และยิ่งกกต.ไม่มีแพลตฟอร์มให้ทำความรู้จักกัน เชื่อว่าจะส่งเสริมให้เกิดการฮั้วได้แน่นอน ทั้งนี้การสมัครจำนวนมาก เชื่อว่าจะทำให้กระบวนการฮั้วกันทำได้ยาก ส่วนการเลือกไขว้ทำให้การฮั้วยาก เพราะการไขว้ คือการสุ่ม หากเขาจะฮั้วต้องซื้อทุกกลุ่ม ดังนั้นเป็นเรื่องยากหากมีผู้สมัครจำนวนมาก ดังนั้นการรณรงค์ให้สมัครโหวตไม่ผิด” ตัวแทนไอลอว์ระบุ
ขณะที่ในฟากความเห็นของ “สว.” ที่อีก 2 วันจะหมดวาระ “เสรี สุวรรณภานนท์” มองกติกาของ กกต. ว่า เป็นข้อกำหนดที่หยุมหยิม และบางประเด็น กกต. ไม่มั่นใจในสิ่งที่ตนเองเขียนขึ้น จึงออกแบบข้อยกเว้นไว้ในระเบียบ กกต. ว่าด้วยการเลือกสว. พ.ศ.2567 ข้อ 5 ที่กำหนดให้ ประธาน กกต. รักษาการตามระเบียบ แต่วรรคสองกำหนดว่า กรณีใดที่ไม่ได้กำหนดไว้ หรือมีเหตุจำเป็น กกต.อาจยกเว้น หรือผ่อนผันการปฏิบัติตามระเบียบได้
ส่วนวิธีที่ กกต.เขียนช่องไว้นั้น “เสรี” มองว่าอาจใช้เป็นทางออกเมื่อเกิดปัญหาจริงๆ อย่างไรก็ดีในการเลือกสว. ที่กำหนดวันประกาศผล เบื้องต้นเป็น 2 ก.ค. นั้น กกต. อาจมีวิธี ประกาศไปก่อน เหมือน สส. แต่กรณีที่กระบวนการไม่สุจริต เที่ยงธรรม ทำผิดกฎหมายชัดเจน กกต. ต้องรับผิดชอบ
ต่อมุมมองของการฮั้วกันนั้น “เสรี” มองว่า โอกาสเกิดได้ แต่ไม่ใช่ทั้งหมด อาจมีได้เฉพาะฝ่ายการเมืองบางกลุ่ม ผู้สมัครบางกลุ่มที่รู้เห็นเป็นใจ รวมตัวกัน และให้คะแนนกันในกลุ่ม อย่างไรก็ดีการฮั้วกันด้วยกลไกของการระดมคนเพื่อช่วยเหลือพรรคพวก เพื่อตั้งใจมาเลือกคนอื่นนั้น อาจทำให้เป็นปัญหา คือจะทำให้ผลคะแนนเท่ากันจำนวนมาก แต่ทางออกของเรื่องนี้ คือ การจับสลากตามที่กฎหมายกำหนดไว้
“การจัดกลุ่มเพื่อหวังผลต่อการเลือกสว.นั้น อาจเป็นเหตุให้การเลือกไม่สุจริตหรือเที่ยงธรรมได้ และอาจกลายเป็นเงื่อนไขทำให้การเลือกสว. ไม่สุจริตเที่ยงธรรม และทำให้ สว.รุ่นผมอยู่ยาว ซึ่งผมไม่อยากให้เกิดขึ้น เพราะพวกผมอยู่นานแล้ว ต้องการสว.รุ่นใหม่เข้ามาทำงานให้บ้านเมือง พวกผมอยู่สมควรแก่เหตุแล้ว ไม่อยากอยู่นานเกินเหตุ ต้องการคนใหม่เข้ามาเพื่อให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อย” เสรี แสดงความเห็น
ทั้งนี้ในตอนท้ายของเวที "ปริญญา"ตั้งคำถามกับ สว.“เสรี” ด้วยว่า กรณีที่ระหว่างที่ สว.ชุดเก่ารักษาการ จะมีผู้ยื่นตีความอำนาจของสว.ในการโหวตนายกฯ หรือไม่ รวมถึงอำนาจตามกฎหมายของสว.ที่มีอยู่ โดย “เสรี” กล่าวว่า การยื่นตีความนั้นมีแต่การพูด ไม่เห็นตัวเห็นตน ตนมองว่าเมื่ออำนาจหน้าที่หมด คือหมดไป อย่าแสวงหา ส่วนกรณีที่คาดว่า หากสว.ใหม่ยังทำหน้าที่ไม่ได้ สว.ชุดปัจจุบันต้องทำหน้าที่ตามกฎหมาย เช่น การเลือกกรรมการองค์กรอิสระ เป็นต้น