ปิดฉาก 5 ปี 'สว.คสช.' ผลงานโหวต ‘ประยุทธ์-เศรษฐา’นายกฯ
5ปีของ "สว." ทำผลงานได้ตามรัฐธรรมนูญกำหนด ทั้งตรวจสอบรัฐบาล-ตรากฎหมาย-ติดตามปฏิรูป ทว่าต้องจับตาการทิ้งทวน ในห้วงที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ไปจนกว่ามี สว.ชุดใหม่
Key Point :
- เที่ยงคืน 10พ.ค. สว.คสช.จะสิ้นสุดวาระ หลังอยู่ในวาระครบ 5 ปี
- 5ปีของ "สว." ทำผลงานได้ตามรัฐธรรมนูญกำหนด ทั้งตรวจสอบรัฐบาล-ตรากฎหมาย-ติดตามปฏิรูป
- ผลงานที่แจ่มชัด คือ อำนาจ ร่วมโหวตนายกฯ ที่ผ่านมา โหวต2นายกฯ ตีตก 1 ราย
- ทว่าหน้าที่ของ "สว." ชุดนี้ยังมีต่อไป จนกว่ามี "สว.ใหม่" ทำหน้าที่
วาระของ “สว.” ชุดที่ 12 ถือว่า “สิ้นสุดวาระแล้ว” เมื่อดำรงตำแหน่งครบ 5 ปี ในวันที่ 10 พ.ค.2567 แต่ยังต้องอยู่ทำหน้าที่จนกว่า “สว.ใหม่” จะเข้ารับตำแหน่ง
สำหรับ สว. ชุดที่ 12 นี้ มาโดยบทเฉพาะกาล ของรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 269 แต่งตั้งโดย “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ” หรือ คสช. ดังนั้น เมื่อวาระสิ้นสุดมาถึง เท่ากับว่าหมด “ทายาท คสช.” ในบทบาทของฝ่ายนิติบัญญัติ -ตรวจสอบรัฐบาล
ทว่า เมื่อรัฐธรรมนูญกำหนดให้อยู่ปฏิบัติหน้าที่จนกว่ามีสว.ใหม่ เท่ากับว่า “สว.คสช.” ยังคงทำหน้าที่ตามอำนาจที่รัฐธรรมนูญ 2560 บทหลักกำหนดไว้ได้ทุกประการ
นั่นคือ การตรากฎหมาย-ตรวจสอบรัฐบาล-งานในกรรมาธิการ-เห็นชอบองค์กรอิสระ
ยกเว้นเรื่องเดียว คือ “การร่วมโหวตนายกฯ” ในที่ประชุมรัฐสภา ตามมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญ
กับ 5 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค.2562 ถึง 9 เม.ย.2567 มีผลงานในหน้าที่และอำนาจตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด โดย “พรเพชร วิชิตชลชัย” ประธานวุฒิสภา แถลงต่อที่ประชุมในวันสุดท้ายของสมัยประชุมว่า ใช้เวลาประชุมรวม 1,579 ชั่วโมง 55 นาที
โดยผ่านร่างกฎหมาย 53 ฉบับ แบ่งเป็น สว.เห็นด้วยกับสภาผู้แทนราษฎร 37 ฉบับ วุฒิสภาแก้ไขเพิ่มเติม และสส.เห็นชอบด้วย 10 ฉบับ สว.-สส.เห็นชอบด้วยร่วมกันผ่านคณะกรรมาธิการที่ตั้งขึ้นระหว่าง 2 สภาฯ จำนวน 4 ฉบับ อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ 2 ฉบับ และตกไป 1 ฉบับ และอนุมัติพระราชกำหนด 14 ฉบับ
ขณะที่ผลงานการตรวจสอบรัฐบาล ผ่านการตั้งกระทู้ และการอภิปรายทั่วไป พบว่า สว.ตั้งกระทู้ถามรัฐบาล ตลอด 5 ปี จำนวน 488 กระทู้ ทว่าการตอบสนองในประเด็นนี้จากรัฐบาล พบว่า “รัฐมนตรีตอบกระทู้ของ สว.น้อยมาก”
โดย สว.ชุดที่ 12 ตั้งกระทู้ถามด้วยวาจารวม 167 กระทู้ รัฐบาลมาตอบ 59 กระทู้ ที่เหลือ 108 กระทู้ต้องตกไปตามข้อบังคับ
กระทู้ถามเป็นหนังสือมีทั้งสิ้น 721 กระทู้ แบ่งเป็น กระทู้ที่ขอให้ตอบในที่ประชุม 170 กระทู้ พบว่าตอบแล้ว 115 กระทู้ ค้างตอบ 6 กระทู้ ตกไป 49 กระทู้ และกระทู้ถามที่ขอให้ตอบในราชกิจจานุเบกษา 151 กระทู้ พบว่าตอบแล้ว 112 กระทู้ รอตอบ 19 กระทู้ ตกไป 20 กระทู้
นอกจากนั้น ยังมีการตรวจสอบรัฐบาลผ่านการอภิปรายทั่วไปพบ 1 ครั้งและเกิดขึ้นเฉพาะ “รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน”
ขณะที่บทบาทงานในกรรมาธิการสามัญ ของ “สว.” นั้น พบว่ามีภาพการทำงานที่เน้นในเรื่องการติดตามงานจากหน่วยงาน ตามแผนงานปฏิรูปประเทศ การจัดทำรายงานเพื่อศึกษาในประเด็นทางสังคม ทั้งนี้มีบ้างที่ “กรรมาธิการ” บางคณะ ออกแรงตรวจสอบฝ่ายบริหาร แต่เสียงสะท้อนไม่ดังพอที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
อย่างไรก็ดี ในห้วง 5 ปีของการทำงานของ “สว.คสช.” ยังพบเรื่องราวที่เป็นรอยด่างที่เกิดกับ “สภาสูง” ทั้งการปฏิบัติหน้าที่ของ “สว.” บางคน ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสีเทา หรือพฤติกรรมที่สังคมไม่ยอมรับ จนถูกตั้งเรื่องตรวจสอบจริยธรรม และตั้งคำถามถึงการ “ใช้ตำแหน่งเพื่อหาประโยชน์”
ทว่าเรื่องนี้ กลับเงียบหายไปจากสังคม เพราะ สว.ไม่ได้ทำหน้าที่ตรวจสอบกันเอง
ทำให้สังคมตั้งคำถามว่า สว.ตรวจสอบบุคคลอื่น-คนนอกองค์กรได้ แต่ทำไมองค์กรตัวเองถึงเกียร์ว่าง
ในบทบาทของ สว. ที่ตรวจสอบและเห็นชอบบุคคลในส่วนของ “กรรมการองค์กรอิสระ” พบว่า 5 ปี มีการเสนอชื่อบุคคลให้ สว. เห็นชอบจำนวนมาก ซึ่ง สว.เห็นชอบไปเพียง 24 คน แบ่งเป็น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 7 คน กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ 6 คน กรรมการสิทธิมนุษยชน 5 คน กรรมการการเลือกตั้ง 2 คน ผู้ตรวจการแผ่นดิน 2 คน กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน 1 คนและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน 1 คน
กับผลงานของ สว. ที่ผ่านมาในมิติการเมือง สังคมจดจำได้ชัดเจน คือการร่วมเลือก “นายกรัฐมนตรี”
โดยตั้งแต่ปี 2562 ของการทำหน้าที่ พบว่า สว.ใช้อำนาจนี้กำหนดตัวนายกฯ มาแล้ว 2 คน คนแรก คือ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา”
นายกฯ จากพรรคพลังประชารัฐ เมื่อปี 2562 และ “เศรษฐา ทวีสิน” นายกฯจากพรรคเพื่อไทย เมื่อปี 2567 และโหวตคว่ำ 1 คน คือ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” จากพรรคก้าวไกล เมื่อปี 2567
โดยในครั้งที่ร่วมเลือกนายกฯ ครั้งแรก คือ บทสะท้อนภาพการเมืองของการ “ต่อท่ออำนาจ” คณะรัฐประหาร ให้อยู่ต่อในระบบการเมืองไทย จน สว.ถูกเรียกขานว่าเป็น “สว.คสช.” และวาระทำงานของ สว.หลังจากนั้น สังคมวงกว้างมองว่า นี่คือกลไกพิทักษ์ “องคาพยพของฝ่ายรัฐประหาร”
ทั้งบทบาทของการไม่ยินยอมให้แก้ “รัฐธรรมนูญ 2560” เพื่อปรับปรุงกติกาให้เป็นธรรมกับทุกส่วน ทุกกลุ่มในสังคม จากที่ภาคประชาสังคม-การเมือง ยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อรัฐสภาถึง 20 ฉบับ พบว่าผ่านเพียง 1 ฉบับ ว่าด้วยการแก้ไขกติกาเลือกตั้ง
ขณะที่อีก 18 ฉบับไม่ผ่านความเห็นชอบของ สว.เพราะกลไกรัฐธรรมนูญออกแบบให้ “เสียงสว.” มีน้ำหนักชี้วัดว่า “รัฐธรรมนูญ” ฉบับแก้ไขใดจะผ่านด้วยเกณฑ์ ต้องได้รับความเห็นชอบจาก สว. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3
ขณะที่อีก 1 ฉบับ ว่าด้วยการออกแบบกลไกยกร่างรัฐธรรมนูญ ด้วย “สภาร่างรัฐธรรมนูญ” (สสร.) กลับถูกดองในรัฐสภา เพราะบทบาทของ สว.ในฐานะผู้สนับสนุนฝ่ายการเมืองขั้ว คสช. ร่วมยื่นเรื่องตีความต่อศาลรัฐธรรมนูญ ทำให้การรื้อใหญ่รัฐธรรมนูญก่อนเริ่มนับหนึ่งต้องผ่านขั้นตอน “ประชามติ”
กับบทบาทของ “สว.” ที่ถูกมองว่าเป็นทั้งฝ่ายปกป้อง และสนับสนุนขั้วอำนาจเก่า ทำให้ฉากทัศน์การเมืองไทย “บิดเบี้ยว” จึงมีความพยายามจาก“คนรุ่นใหม่”ต้องการรื้อกลไกนี้ และเสนอให้ใช้ระบบสภาเดี่ยว คือมีเฉพาะ“สภาผู้แทนราษฎร”
ทว่า ประเด็นนี้ยังคงเป็นเพียงแนวคิดที่รอวันขยายผล หาก “ประชามติ” ทำรัฐธรรมนูญใหม่ผ่านความเห็นของประชาชน และ “สว.ชุดใหม่” ที่มาจากการเลือกกันเองนั้น “เอาด้วย”
บทบาทของ "สว.คสช.” ที่แม้จะครบวาระ 5 ปีแล้ว แต่วันนี้ก็ยังมีอำนาจเต็มตามที่กฎหมายและรัฐธรรมนูญบัญญัติ จนกว่า “สว.ชุดใหม่” จะเข้ามาทำหน้าที่อย่างเป็นทางการ ดังนั้นจึงน่าสนใจว่า จะทิ้งทวนเรื่องใดส่งท้ายในที่สุด.