ปฏิรูปราชการยุครัฐบาล ‘เศรษฐา’ ผุดกระทรวง Climate Change - Soft Power

ปฏิรูปราชการยุครัฐบาล ‘เศรษฐา’ ผุดกระทรวง Climate Change - Soft Power

ปฏิรูปราชการยุครัฐบาล ‘เศรษฐา’ ผุดกระทรวง Climate Change - Soft Power คาดดำเนินการเสร็จใน 6 เดือน เปิดทางปรับ ครม.

Key Point :

  • ประเทศไทยห่างหายจากการปฏิรูปราชการครั้งใหญ่มา 22 ปี จากรัฐบาล "ทักษิณ ชินวัตร" มาถึงรัฐบาล "เศรษฐา ทวีสิน"
  • ล่าสุด "เพื่อไทย" เตรียมส่งร่างกฎหมายปฏิรูประบบราชการเข้าสู่ที่ประชุมสภาฯช่วงเดือน ก.ค. มีเป้าหมายยุบรวมบางกระทรวง-หน่วยงาน เพื่อจัดตั้งกระทรวง Climate Change และกระทรวง Soft Power
  • คาดการณ์ว่าจะใช้เวลา 6 เดือน ในการดำเนินการ หลังจากนั้นจะมีการปรับครม.อีกครั้ง

ปฏิรูปราชการยุครัฐบาล ‘เศรษฐา’ ผุดกระทรวง Climate Change - Soft Power

รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน เริ่มขยับปฏิรูประบบราชการ วางไทม์ไลน์เอาไว้ในช่วงเปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 2 ก.ค.2567 นี้ 

โดยพรรคเพื่อไทยเตรียมเสนอกฎหมายสำคัญหลายฉบับเพื่อผลักดันนโยบาย เนื้อหาเป็นการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม ใหม่

หากย้อนไปในยุคพรรคไทยรักไทย “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรีเคยปฏิรูประบบราชการสำเร็จมาแล้ว โดยเพิ่มกระทรวง หน่วยงาน ให้ทำงานสอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของโลก

อย่างไรก็ตาม การปฏิรูประบบราชการมีมาหลายยุคสมัย เพื่อเพิ่มประศักยภาพ ประสิทธิภาพ และประสิทธิผลการทำงานของภาครัฐ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน และพัฒนาประเทศ

 

ในยุคสมัยใหม่ เริ่มต้นจากรัฐบาล“อานันท์ ปันยารชุน” ปี 2534 โดยมี 14 กระทรวง 1 ทบวง ประกอบด้วย 1.สำนักนายกรัฐมนตรี 2.กระทรวงกลาโหม 3.กระทรวงการคลัง 4.กระทรวงการต่างประเทศ 5.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 6.กระทรวงคมนาคม 7.กระทรวงพาณิชย์ 

8.กระทรวงมหาดไทย 9.กระทรวงยุติธรรม 10.กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการพลังงาน (ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน 2535) 11.กระทรวงศึกษาธิการ 12.กระทรวงสาธารณสุข 13.กระทรวงอุตสาหกรรม 14.กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม จัดตั้งขึ้นเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2536 และ 1. ทบวงมหาวิทยาลัย

จากนั้นผ่านไป 11 ปี การปฎิรูประบบราชการมาเกิดขึ้นอีกในยุครัฐบาล “ทักษิณ ชินวัตร” โดยในปี 2545 มีการตั้งกระทรวงเพิ่มขึ้นอีก 6 กระทรวง จากเดิม 14 กระทรวง ทำให้ประเทศไทยมี 20 กระทรวง

โดย 6 กระทรวงที่เพิ่มขึ้น ประกอบด้วย 1. กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา แยกออกมาจากสำนักนายกรัฐมนตรี 2. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยดึงกรมประชาสงเคราะห์ ซึ่งเป็นหน่วยงานของกระทรวงมหาดไทยออกมา ตั้งเป็นกระทรวง 3. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แบ่งหน่วยงานจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม 

4. กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร 5. กระทรวงพลังงาน แยกออกมาจากกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม รวมถึงบางหน่วยงานของกระทรวงอุตสาหกรรม 6. กระทรวงวัฒนธรรม แยกออกมาจากกระทรวงศึกษาธิการ

ต่อมาในยุครัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในปี 2562 ยุบรวมกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ และสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เข้าด้วยกัน และจัดตั้งเป็นกระทรวงใหม่ คือกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

กระทั่งยุครัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน ปี 2567 มีแนวคิดปฏิรูประบบราชการครั้งใหญ่อีกครั้ง จะมีการยุบและเพิ่มกระทรวง โดยจัดตั้งกระทรวงใหม่ชื่อ “Climate Change” เพราะถือเป็นภารกิจของโลก

อย่างไรก็ตามหน่วยงานที่ดูแลเรื่อง “Climate Change” ในตอนนี้คือ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อบูรณาการการทำงานให้รวดเร็วมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงานในกระทรวงอื่น อาทิ กระทรวงพลังงาน กระทรวงคลัง (การกำกับภาษีเครดิตคาร์บอน) กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นต้น

ตัวอย่างจากต่างประเทศ เช่น ประเทศออสเตรเลีย รวมกับกระทรวงพลังงาน ตั้งเป็น กระทรวงใหม่ “กระทรวง Climate Change” ประเทศเยอรมัน รวมกับกระทรวงเศรษฐกิจ ตั้งเป็นกระทรวงใหม่ “กระทรวง Climate Change”

ขณะเดียวกันมีแนวคิดตั้ง “กระทรวง Soft Power” โดยอาจจะใช้โมเดล แยกกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (งานด้านกีฬาอาจจะไปอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานอื่น) โดยจะรวมกับกระทรวงวัฒนธรรม ตั้งเป็น “กระทรวง Soft Power”

อย่างไรก็ตาม กระทรวงด้านความมั่นคง แม้จะมีบางแนวคิดควบรวมหน่วยงานด้านความมั่นคง อาทิ กระทรวงยุติธรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เป็นต้น แต่มีการมองมิติ การแยกหน่วยงานเพื่อการคานอำนาจ เพราะหากรวมศูนย์ การคานอำนาจจะหายไป

นอกจากนี้ “เพื่อไทย” จะเสนอแก้ พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย ในช่วงเปิดสมัยประชุมสภาฯด้วย โดยต้องการปรับ 2 เรื่อง 

แยกกระทบวนการทำงานของธนาคารกลาง ให้ดูแลนโยบายการเงิน นโยบายแลกเปลี่ยนการเงิน และระบบชำระการเงิน ส่วนสถาบันการเงินแยกออกไปหนึ่งหน่วยงาน ซึ่งจะทำหน้าที่คล้ายกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

ทั้งนี้คาดการณ์ว่าจะใช้เวลาปฏิรูประบบราชการให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือนหลังจากนี้ จากนั้นจะมีการปรับ ครม.เกิดขึ้นอีกครั้ง เนื่องจากมีกระทรวงใหม่เกิดขึ้น จึงจำเป็นต้องปรับครม.

ดังนั้นหากนับตั้งแต่ปี 2545 ยุค “ทักษิณ” ถือเป็นการปฏิรูประบบราชการครั้งใหญ่ มีการเปลี่ยนแปลงในหลายกระทรวง-หลายหน่วยงาน 

ผ่านมา 22 ปี ยุค “เศรษฐา” กำลังจะมีการปฏิรูประบบราชการครั้งใหญ่อีกรอบ เพื่อแก้ปัญหาการทำงานของ “ข้าราชการ” ให้ทันสมัยมากยิ่งขึ้น