‘จิรพงษ์’ เผย ‘สธ.’ เชิญ 4หน่วยงาน ถก ร่างกฎกระทรวง กำหนดปริมาณยาเสพติด 17พ.ค.

‘จิรพงษ์’ เผย ‘สธ.’ เชิญ 4หน่วยงาน ถก ร่างกฎกระทรวง กำหนดปริมาณยาเสพติด 17พ.ค.

“รองโฆษก สธ.” เผย “สมศักดิ์” เชิญ “ตำรวจ-อัยการ-กฤษฎีกา-เลขาฯ ศาลยุติธรรม” ร่วมประชุม ร่างกฎกกระทรวงกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษ-วัตถุออกฤทธิ์ กรณีครอบครองเพื่อเสพ 17พ.ค.นี้ แล้วทำประชาพิจารณ์ทันที จับมือ ยธ. บำบัด เล็งใช้ยาฉีดแทนกิน ดีต่อผู้ป่วยทางจิต

นายจิรพงษ์​ ทร​งวัชราภรณ์​ ​รอง​โฆษก​กระทรวง​สาธารณสุข ​ฝ่ายการเมือง เปิดเผยว่า​ นายสมศักดิ์​ เทพสุทิน​ รัฐมนตรี​ว่าการ​กระทรวง​สาธารณสุข​ ได้เรียกประชุมคณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขอย่างไม่เป็นทางการ ​นำโดย นพ.โอภาส​ การย์กวินพงศ์​ ปลัดกระทรวง​สาธารณสุข​ และคณะ เพื่อเตรียมความพร้อมในการเสนอร่างกฏกระทรวงกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ ​ที่ให้สันนิษฐาน​ว่ามีไว้ในครอบครอง​เพื่อเสพ​ (ฉบับที่... )​ พ.ศ.​.... ซึ่งจะมีการประชุมพิจารณาร่างดังกล่าว ตามนโยบายของนายเศรษฐา​ ทวีสิน​ นายกรัฐมนตรี​ ในวันศุก​ร์ที่​ 17​ พฤษภาคม​นี้​ โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ​สำนักงานตำรวจแห่งชาติ​ อัยการ​ สำนักงานกฤษฏีกา​ เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม​ มาร่วมพิจารณา​ โดยส่งร่างกฏกระทรวงดังกล่าวให้พิจารณา​ก่อนแล้ว ​และขึ้นทำประชาวิจารณ์​ในวันเดียวกับที่ประชุมเลยเพื่อความรวดเร็ว

นายจิรพงษ์ กล่าวอีกว่า จากร่างกฏกระทรวงดังกล่าว จะทำให้มีผู้ถูกจับกุมมากขึ้น​ ดังนั้น นายสมศักดิ์​ จึงสั่งการเตรียมความพร้อมของกระทรวงสาธารณสุข ​เพื่อแบ่งเบาช่วยเหลือกระทรวงยุติธรรม​ ซึ่งจะปรึกษาหารือกันกับกระทรวงยุติธรรม​ โดยเฉพาะกรมควบคุมความประพฤติ​ และผู้ที่จะเกี่ยวข้องกับการรับกลุ่มสีเขียวมาบำบัดชึ่งปัจจุบัน​มีจำนวนมากว่าแสนคน ส่วนในกรณีที่จะรับผู้ติดยาเสพติดอย่างรุนแรง มีอาการทางจิตมารักษา ทางกระทรวงสาธารณสุข​ ก็มีความพร้อม โดยในกลุ่มอาการสีแดง​ สีส้ม​ และสีเหลือง​ ประมาณ​ 6,500 เตียง​ 

“เมื่ออาการทุเลา จะปล่อยกลับบ้าน แต่ผู้ป่วยยังต้องรับประทาน​ยาอย่างสม่ำเสมอ​ โดยนายสมศักดิ์​ จะเสนอให้ยาทดแทนชนิดแบบฉีด​ ซึ่งกำลังจัดทำข้อมูลของยาฉีด แอนตี้ไซโคติก ลองแอคติ้ง ที่ใช้ในผู้ป่วยกลุ่มรุนแรงสีแดง ที่บำบัดครบถ้วนแล้ว แต่ไม่สามารถทานยาได้สม่ำเสมอ หรือ ไม่กินยาต่อเนื่อง เพื่อควบคุมอาการแทนแบบชนิดรับประทาน​ ซึ่งเป็นผลดีต่อผู้ป่วยทางจิต จะไม่ขาดยา ชึ่งยาฉีดดังกล่าวมีประสิทธิภาพ​ครอบคลุมได้ 1 เดือน​ ดังนั้น ​จะช่วยลดผลกระทบต่อประชาชนที่มีความหวาดกลัวว่า ผู้ติดยาเสพติดที่มีอาการทางจิต จะขาดยาและไปทำอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินผู้อื่นได้” รองโฆษกกระทรวงสาธารณสุข ฝ่ายการเมือง กล่าว