‘นิรโทษกรรม’คดี ม.112 ทางเบี่ยงวิกฤติศรัทธา‘เพื่อไทย’

‘นิรโทษกรรม’คดี ม.112  ทางเบี่ยงวิกฤติศรัทธา‘เพื่อไทย’

หลัง "บุ้ง ทะลุวัง" เสียชีวิต คำถามต่อความจริงใจ ละโทษ ผู้เห็นต่างทางการเมือง ถูกส่งถึง "รัฐบาล" หากปมนี้ถูกเพิกเฉย อาจขยายกลายเป็นวิกฤตศรัทธา ที่ "เพื่อไทย" โดนถล่มทั้งในและนอกสภาทันที

Key Point :

  • กรณีการตายของ "บุ้ง ทะลุวัง" ทำให้ "รัฐบาล-เพื่อไทย" ถูกตั้งคำถามต่อมาตรฐานของผู้ต้องขัง
  • ปรากฎการณ์ ของ "บุ้ง ทะลุงวัง" นอกสภาฯ สอดรับกับ ความเคลื่อนไหวในสภาฯ ที่กัดกร่อนศรัทธาของพรรคเพื่อไทย
  • คำถามที่เกิดขึ้น คือ ความจริงใจต่อการละโทษของผู้เห็นต่างทางการเมือง
  • การนิรโทษกรรม จึงเป็นคำตอบและทางรอดจากวิกฤติศรัทธาของ "รัฐบาล-เพื่อไทย"
  • ทว่า กมธ.นิรโทษกรรม ยังเห็นต่างกับปมนิรโทษกรรม คดีม.112 และยังไม่ฟันธงสรุปชัดเจนว่า จะเอาอย่างไรกันแน่

 

การเสียชีวิตของ “บุ้ง ทะลุวัง” หรือ “เนติพร เสน่ห์สังคม” ผู้ต้องขัง คดี ม.112 ระหว่างถูกคุมขังในเรือนจำ

เป็นประเด็นที่กลุ่มนักเคลื่อนไหว-ต่อสู้ทางการเมือง กระหน่ำตั้งคำถามต่อรัฐบาล-พรรคเพื่อไทย และ กระทรวงยุติธรรม ในการปฏิบัติกับผู้ต้องขังที่เป็นธรรม และทวงถามหาคนที่รับผิดชอบต่อเรื่องนี้

แม้สาเหตุของการเสียชีวิตที่ชัดเจนต้องรอการผ่าพิสูจน์จากแพทย์โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ ทว่าสิ่งที่เป็นจุดตั้งต้น คือ “บุ้ง” อดอาหารและน้ำ เพราะต้องการประท้วงต่อระบบยุติธรรมที่ปฏิบัติกับ “ผู้เห็นต่างทางการเมือง” และต้องการให้กระบวนการยุติธรรมถูกปฏิรูป

แน่นอนว่าผู้ที่จะขับเคลื่อนเรื่องนี้ได้ คือ “ฝ่ายนโยบาย” ที่มี “พรรคเพื่อไทย” เป็นแกนนำ ซึ่งที่ผ่านมายังไม่เห็นการเอาจริงเอาจัง 

เมื่อเจือสมกับมาตรฐานความยุติธรรมที่ถูกตั้งคำถาม เทียบกับกรณี “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯ ที่ถูกวิจารณ์ว่าเป็น "นักโทษวีวีไอพี”ปฏิเสธไม่ได้ว่ารัฐบาลเผชิญกับแรงกระเพื่อมที่อาจ “กร่อน” ความมั่นคงทางการเมืองนอกสภาได้

‘นิรโทษกรรม’คดี ม.112  ทางเบี่ยงวิกฤติศรัทธา‘เพื่อไทย’

ขณะเดียวกัน สังคมได้ตั้งประเด็นและความสนใจไปที่ “กระบวนการนิรโทษกรรม” เพื่อพอให้เป็นทางออกของผู้ต้องโทษ “คดี ม.112” และทางไปของรัฐบาล

ปฏิเสธไม่ได้ว่าในประเด็นความขัดแย้งและเห็นต่างทางการเมืองที่ขยายวง กลายเป็นประเด็นมาตรฐานความยุติธรรมในรัฐบาลปัจจุบัน พรรคเพื่อไทย มีเครื่องมือพอที่จะเป็นทางรอดของการถูกตั้งคำถามจากความสองมาตรฐาน คือกระบวนการตรา “กฎหมายนิรโทษกรรม”

ต่อประเด็นนี้อยู่ระหว่างการศึกษาของ "คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม” ที่มี “ชูศักดิ์ ศิรินิล” สส.เพื่อไทย เป็นประธาน

‘นิรโทษกรรม’คดี ม.112  ทางเบี่ยงวิกฤติศรัทธา‘เพื่อไทย’

กับกรณี “คดี ม.112” ที่ผ่านมา ยังไม่มีบทสรุปที่เป็นทิศทางชัดเจน ท่าทีของ กมธ.นิรโทษกรรมฯ ถูกแบ่งเป็น 2 ฝั่ง ทั้ง ฝั่งที่ต้องการให้นำคดี ม.112 รวมกับการนิรโทษกรรม กับอีกฝั่งที่มีทิศทางตรงกันข้าม แต่สงวนท่าทีไว้ในตอนสุดท้าย และพยายามบ่ายเบี่ยงโยนเผือกร้อนให้เป็นเรื่องของ “สภาผู้แทนราษฎร” ที่ต้องออกความเห็นเป็นบทสรุป

สอดคล้องกับท่าทีของ กมธ.นิรโทษกรรมฝั่งรัฐบาลระดับคีย์แมน ต่อประเด็น “บุ้ง ทะลุวัง” ที่กลายเป็นหัวเชื้อให้วงกรรมาธิการฯ มีประเด็นร้อนให้พิจารณา ยืนยันว่ามีรายละเอียดที่อ่อนไหว ทั้งมิติทางการเมืองและมิติความมั่นคง ดังนั้น เรื่องร้อนนี้จำเป็นต้องรับฟังความเห็นจากทุกฝ่าย รวมถึงผลศึกษาจากอนุกรรมาธิการฯ ที่รอบด้าน

ทว่า ในท่าทีของ สส.ก๊วนนักเคลื่อนไหวการเมือง ที่สนับสนุนให้คดี ม.112 ถูกนิรโทษกรรม ไม่ยอมให้การสละชีวิตของ “บุ้ง ทะลุวัง” ถูกด้อยค่า หรือ “ตายฟรี” มีความพยายามเสนอประเด็นนี้ให้ กมธ.นิรโทษกรรม พิจารณา และควรมีท่าทีที่ชัดเจน 

‘นิรโทษกรรม’คดี ม.112  ทางเบี่ยงวิกฤติศรัทธา‘เพื่อไทย’

“รังสิมันต์ โรม” สส.ก้าวไกล เป็นหนึ่งในนั้น และเตรียมจุดประเด็นให้กลุ่มเยาวชน-ผู้ต้องคดี ม.112 เป็นสารตั้งต้นที่ กมธ.นิรโทษกรรม ควรแสดงเจตนา-ท่าทีที่ชัดเจน ว่าจะเป็นคดีที่ได้รับการนิรโทษกรรมและตราเป็นกฎหมาย

เพื่อนำประเด็นนี้ต่อยอดและเรียกร้องไปยัง “รัฐบาล” ให้แสดงจุดยืนในทิศทางที่เป็น “บวก” กับนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ที่มีคดีความเกี่ยวข้องกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

“รังสิมันต์” ให้สัมภาษณ์เมื่อ 15 พ.ค. ความตอนหนึ่งว่า “ผมมองไปไกลกว่า กมธ. เนื่องจากบุคคลที่เป็น กมธ.นิรโทษกรรม หลายคนเป็นผู้อาวุโสที่มีบทบาทต่อรัฐบาล ดังนั้น ควรพิจารณาในคดีต่างๆ ที่ไม่ได้ประกันตัว ให้ได้รับการประกันตัว เพื่อได้ใช้สิทธิต่อสู้คดี และไม่ให้เกิดกรณีของบุ้งซ้ำอีก นอกจากนั้นคือมาตรการที่ทำได้โดยรัฐบาล ผ่านกลไกของการชะลอคดีที่มีเงื่อนไขตรงกับคดีที่จะได้รับการนิรโทษกรรม เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อกระบวนการยุติธรรม”

‘นิรโทษกรรม’คดี ม.112  ทางเบี่ยงวิกฤติศรัทธา‘เพื่อไทย’

กับข้อเสนอของ “รังสิมันต์” นั้น ตั้งหวังว่าในระหว่างที่ยังไม่มี “พ.ร.บ.นิรโทษกรรม” ใช้บังคับ ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาตราเป็นกฎหมายเป็นแรมปี กลไกของรัฐ-ฝ่ายบริหาร ควรหาวิธีหรือมีวิธีที่เป็นจุดช่วยคลี่คลายความขัดแย้งในสังคมที่เกิดจากความเห็นต่างทางการเมือง ผ่านกระบวนการที่เป็นไปได้

อย่างไรก็ดี ต้องรอฟังเสียงตอบรับจาก “ฝั่งรัฐบาล” ว่าจะเห็นเป็นอย่างไร นอกจากการแสดงความเสียใจของนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ต่อการจากไปของ “บุ้ง ทะลุวัง” แล้ว แน่นอนว่าสังคมที่เห็นต่าง ต้องการเห็นถึงความจริงใจในการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม

จุดเริ่มที่ควรได้เห็นคือ ทิศทางของ กมธ.พิจารณาศึกษาแนวทางการตรากฎหมายนิรโทษกรรม ในฐานะตัวแทน “รัฐบาล” ที่ชัดเจน ไม่ใช่โบ้ย-ใบ้ ปล่อยให้เป็นชะตาของ “นักโทษคดีการเมือง-ม.112” ที่ต้องรับกรรมจากกระบวนการยุติธรรมที่คาใจ.