'พิธา' ปัดฉวยโอกาส ชิงซีน ปม'บุ้ง ทะลุวัง' หวัง3เสาหลักร่วมหาทางออก
"พิธา" ปัดก้าวไกลฉวยโอกาส ชิงซีน กรณีการเสียชีวิต "บุ้ง ทะลุวัง" เชื่อเคลื่อนไหวของเยาวชน มีอิสระเป็นของตัวเอง ไม่ได้ยึดโยงพรรคการเมือง หวัง3เสาหลักร่วมหาทางออก
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีที่ทนายของ น.ส.เนติพร เสน่ห์สังคม หรือ "บุ้ง ทะลุวัง" ระบุสาเหตุของการเสียชีวิตเนื่องจากมีการใส่ท่อช่วยหายใจผิดนั้น อยากให้รอฟังความชัดเจนจากแพทย์ผู้ให้การรักษา ซึ่ง พล.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม บอกว่า วันที่ 20 พ.ค. จะให้ข้อมูลกับครอบครัวในเรื่องนี้ ขอให้สังคมตั้งสติและรอฟังข้อมูลจากกรมราชทัณฑ์
ส่วนกรณีการเสียชีวิตของ น.ส.เนติพร ที่ถูกนำไปโยงกับคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 นั้น เรื่องนี้ต้องแยกกัน เพราะการแก้ไข มาตรา 112 กับการปฏิรูปสถาบันฯ ก็เป็นสิ่งที่ น.ส.เนติพร เรียกร้อง แต่การที่ต้องอดอาหารเวลานาน เป็นการเรียกร้องสิทธิการประกันตัว เพราะการถูกฝากขังยังถือเป็นผู้บริสุทธิ์ จึงได้ตัดสินใจอดอาหารประท้วง
ส่วนที่ น.ส.เนติพร เคยได้รับสิทธิ์การประกันตัวแล้ว แต่กระทำผิดซ้ำ ในคดีทำร้ายเจ้าหน้าที่ศาล จึงถูกถอดสิทธิ์การประกันตัวนั้น ตนไม่สามารถตอบแทนได้ เพราะน.ส.เนติพร เสียชีวิตไปแล้ว
"แต่ถ้าจะให้เดาเชื่อว่าไม่ได้ต่อสู้เพื่อตนเองเพียงคนเดียว แต่ต่อสู้เพื่อเพื่อนและเสรีชนที่มีความคิดแบบเดียวกัน ว่าทุกคนเสมอภาคตามกฎหมาย และการขังคน 2-3 เดือน โดยที่เขาไม่มีความผิดเป็นเรื่องที่เขาติดใจและเรียกร้อง ไม่ใช่เพื่อตัวเองคนเดียวแต่เพื่อคนไทยทุกคน" นายพิธา กล่าว
ถามว่า เหตุผลที่ สส. พรรคก้าวไกล ไม่ออกมาเคลื่อนไหวในช่วงที่ น.ส.เนติพร ออกมาเรียกร้องแต่กลับมาแสดงความเห็นในช่วงที่เสียชีวิตไปแล้ว ยืนยันว่าไม่ใช่การฉกฉวยแน่นอน เพราะการเคลื่อนไหวของเยาวชน มีอิสระเป็นของตัวเอง ไม่ได้ยึดโยงพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง แต่พรรคก้าวไกล เชื่อในหลักนิติรัฐนิติธรรม เชื่อในสิทธิ์การประกันตัวและสิทธิ์การเข้าถึงทนาย
"แต่ไม่ได้หมายความว่าพรรคก้าวไกลกับกลุ่มเยาวชนเห็นไปในทิศทางเดียวกันทุกเรื่อง และหากฝั่งตรงข้ามถูกฝากขัง เราก็จะออกมาพูดเรื่องนี้เช่นเดียวกัน ไม่ใช่การฉกฉวยผลประโยชน์ทางการเมืองแต่อย่างใด ไม่มีเรื่องนั้นอยู่ในหัว เป็นการให้เกียรติครอบครัวผู้เสียชีวิตมากกว่า" นายพิธา ระบุ
อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวมีข้อเรียกร้อง 5 ข้อ คือ ความโปร่งใสชัดเจนจากทางราชทัณฑ์ ระบบยุติธรรม ที่เริ่มตั้งแต่ตำรวจและอัยการ ซึ่งหากสองหน่วยงานนี้ ได้รับนโยบายจากรัฐบาล ไม่เอาผิดผู้เห็นต่างทางการเมือง และมองผู้ที่มีความเห็นต่างกับผู้มีอำนาจเป็นเรื่องปกติ อาจจะชะลอและรับฟังความเห็นจากรัฐบาลหรือนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.)
ทั้งนี้ มองว่าสามเสาหลักของประเทศทั้งศาล ฝ่ายนิติบัญญัติ และบริหาร น่าจะพูดคุยกันเพื่อหาทางออกในเรื่องนี้ และเรื่องกฎหมายนิรโทษกรรม ต้องรีบผลักดันให้ออกมาเร็ว ไม่ควรแยกกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งออก และไม่ควรผลักอนาคตของชาติออกไป จนไม่มีพื้นที่เหลือให้พูดคุยกันของตัวเองและเอาชีวิตตัวเองมาเสี่ยงแบบนี้
"ผมหวังว่าเหตุการณ์นี้จะเป็นครั้งสุดท้าย เพราะเชื่อว่าหากต้นทางถึงปลายทาง เห็นตรงกัน เราจะหยิบฟืนออกจากกองไฟทางการเมืองได้" นายพิธา กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า พรรคก้าวไกลจะเข้าไปพูดคุยกับบุคคลที่ยังอดอาหารหรือไม่หลังสูญเสีย น.ส.เนติพร ไปแล้วหนึ่งคน นายพิธา กล่าวว่า พยายามพูดคุยมาโดยตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ว่าไม่อยากให้เอาชีวิตไปเสี่ยง แต่ก็ไม่สามารถก้าวก่ายความมุ่งมั่นและความเด็ดเดี่ยว และจิตใจของเขาได้ เพราะตนไม่ได้รู้จักเป็นการส่วนตัว
ทั้งนี้ แต่หากมีโอกาสได้เข้าไปเยี่ยม ก็จะบอกว่าให้เอาชีวิตตัวเองมาก่อนการต่อสู้ เพราะยังอีกยาวนาน แต่จะฟังหรือไม่ ถือเป็นสิทธิ์ของเขา เพราะบางครั้งการเลือกทำแบบนี้ อาจจะเพื่อให้สังคมได้รับรู้ข้อเรียกร้อง
ส่วนอีกคนที่น่าเป็นห่วง คือ น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ นั้น จำเป็นจะต้องพูดคุยหรือไม่ นายพิธา กล่าวว่า เท่าที่ทราบขณะนี้ถูกย้ายตัวมาที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ แล้ว ซึ่งอยากให้ทานตะวัน คิดถึงภาพรวม ซึ่งตนทราบดีว่าตอนนี้เสียใจกับการสูญเสีย แต่ชีวิตของตัวเองเป็นเรื่องสำคัญ ฝากถึงคุณพ่อคุณแม่ทานตะวันไว้ด้วย