หลังฉากคดีสินบน ‘สกุลธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ ภารกิจลับ ว.5 ก่อนศาลสั่งคุก

หลังฉากคดีสินบน ‘สกุลธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ ภารกิจลับ ว.5 ก่อนศาลสั่งคุก

เงื่อนปมที่น่าสนใจ ไฉนคณะพนักงานสอบสวนเมื่อปี 2560 ที่ดำเนินการสอบเรื่องนี้ ถึงไม่แจ้งข้อกล่าวหา หรือดำเนินคดีกับ “สกุลธร” ตั้งแต่ช่วงเวลาดังกล่าว ปล่อยจน “เรื่องแดง” จึงมีการรื้อฟื้นคดีนี้ขึ้นใหม่

KEY

POINTS

  • เปิดไทม์ไลน์คดีสินบน “สกุลธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ก่อนศาลคดีทุจริตฯสั่งคุก 6 เดือน
  • บก.ป.เดินภารกิจลับระดับ “ว.5” สอบสวนปมฉาว หลังได้กลิ่นไม่ปกติ จนท.สำนักงานทรัพย์สินฯ เตรียมปล่อยเช่าที่ดินย่านชิดลมให้เอกชน
  • พบพยานหลักฐานมีการให้เงิน 20 ล้านบาท โดยอ้างว่าเป็น “ค่านายหน้า” ก่อนเตรียมเช่าที่ดิน
  • บก.ป.จับกุม 2 ผู้ต้องหา อดีต จนท.สำนักงานทรัพย์สินฯ-นายหน้า แต่ไม่ดำเนินคดีกับ “สกุลธร” 
  • สุดท้ายศาลสั่งจำคุก 2 จำเลย โดยคำพิพากษาตอนหนึ่งระบุว่า “สกุลธร” ให้เงินดังกล่าวจริง ก่อน บก.ป.รื้อคดีกลับมาสอบอีกรอบ

หลังจากกินเวลามาราว 3 ปีเศษ ในที่สุดก็มีความคืบหน้าคดีการกล่าวหาว่ามีการให้สินบนเจ้าหน้าที่ และนายหน้า เพื่อเช่าที่ดินบริเวณชิดลม ของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ โดยเมื่อวันที่ 20 พ.ค. 2567 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีคำพิพากษาจำคุก 6 เดือนแก่ “สกุลธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ประธานบริหารบริษัท เรียลแอสเสท ดีเวลลอปเม้นท์จํากัด ซึ่งเป็นน้องชายของ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ศาสดาสีส้ม ประธานคณะก้าวหน้า

ในคำพิพากษาของศาลตอนหนึ่ง ระบุว่า “สกุลธร” กรณีมีพฤติการณ์กระทำผิดติดสินบนเจ้าพนักงาน และนายหน้าเป็นเงินจำนวน 20 ล้านบาท เพื่อเช่าที่ดินของทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ 2 แปลงใน ซ.ร่วมฤดี และ ย่านชิดลม 

ศาลพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 144 ประกอบมาตรา 84 พ.ร.ป.ว่าด้วย การป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123/5 ประกอบประมวลกฎหมายยามาตรา 84 เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท แต่ละบทมีอัตราโทษเท่ากัน 

โดยให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 144 ประกอบ84 เพียงบทเดียว จำคุก 8 เดือน ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์เเก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ใหลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา78 หนึ่งในสี่คงจำคุก 6 เดือน

อ่านข่าว: ศาลสั่งจำคุก ‘สกุลธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ น้องชาย ‘ธนาธร’ คดีติดสินบน 6 เดือน

ประเด็นที่น่าสนใจ ที่มาที่ไปของเรื่องนี้ ต้องย้อนไปตั้งแต่ปี 2560 โดยกองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) เริ่มได้กลิ่นไม่สู้ดีเกี่ยวกับบริษัทอสังหาริมทรัพย์ดัง เตรียมดำเนินเช่าที่ดินระยะยาวของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จึงเริ่ม “ภารกิจลับ” ระดับ “ว.5” เพื่อสืบสวนเรื่องนี้

กระทั่ง บก.ป. พบว่า นายประสิทธิ์ อภัยพลชาญ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริหารโครงการ ระดับ บ.4 แผนกโครงการธุรกิจ 1 กองโครงการธุรกิจ 1 ฝ่ายโครงการพิเศษ สำนักงานทรัพย์สินฯ มีการปลอมเอกสารสำนักงานทรัพย์สินฯ เพื่อเตรียมเอื้อประโยชน์ให้บริษัทอสังหาฯได้สิทธิเช่าที่ดินแปลงงามบริเวณชิดลม

โดยทีมสืบสวนของ บก.ป. นำโดย พ.ต.อ.สุวัฒน์ แสงนุ่ม (ยศขณะนั้น ปัจจุบันยศ พล.ต.ต. ดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง) เป็นหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน ตรวจสอบพบเอกสารหลักฐานการกระทำความผิด จึงแจ้งไปยังสำนักงานทรัพย์สินฯ เพื่อให้มาแจ้งความดำเนินคดีนี้

ทว่าในการสอบสวนคดีนี้ คณะพนักงานสอบสวนหารือกันว่าต้องแจ้งข้อกล่าวหากับ “สกุลธร” ในฐานะ “ผู้จ้างวาน” ให้เงินดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 84 ด้วยหรือไม่ 

แต่อย่างที่ทราบกันไปแล้วว่า สุดท้ายคณะพนักงานสอบสวนไม่ได้ดำเนินคดีกับ “สกุลธร” ก่อนจะสรุปสำนวนส่งอัยการฟ้อง 2 ราย คือ นายประสิทธิ์ และนายสุรกิจ ตั้งวิทูวนิช นายหน้าติดต่อเรื่องดังกล่าว กระทั่งเมื่อปี 2562 ศาลมีคำพิพากษาจำคุก 2 บุคคลดังกล่าว เรื่องจึงมาแดงขึ้น

ในคำพิพากษาฉบับเต็ม ตอนหนึ่งได้พาดพิงชื่อของ “สกุลธร” ด้วย โดยระบุว่า จำเลยที่ 1 (นายประสิทธิ) นำเอกสารสำนักงานทรัพย์สินฯปลอมไปเสนอแก่นายสกุลธร อ้างว่าที่มีดินให้เช่า ส่งผลให้นายสกุลธรเชื่อว่าสำนักงานทรัพย์สินฯ มีที่ดินแปลงดังกล่าวจริง จึงให้จำเลยที่ 2 (นายสุรกิจ) ดำเนินการติดต่อประสานงานและอำนวยความสะดวกเพื่อให้บริษัท เรียลแอสเตท ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ได้สิทธิเช่าที่ดินแปลงดังกล่าว โดยมีค่าตอบแทนจำนวน 500 ล้านบาท จากนั้นจำเลยทั้ง 2 ได้ร่วมกันในลักษณะแบ่งหน้าที่กันทำโดยจำเลยที่ 1 ได้แนะนำให้นายสกุลธร ยื่นหนังสือแสดงความจำนงขอเช่าที่ดินต่อสำนักงานทรัพย์สินฯ ตามช่องทางปกติ แล้วจำเลยทั้ง 2 ร่วมกันเรียกรับเงินจากนายสกุลธร รวม 3 ครั้ง 20 ล้านบาท

เพื่อเป็นการตอบแทนในการที่จำเลยทั้ง 2 จะร่วมกันไปดำเนินการติดต่อประสานงาน และนำเงินส่วนหนึ่งไปมอบให้รอง ผอ.สำนักงานทรัพย์สินฯ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงาน เจ้าหน้าที่ของรัฐ เจ้าพนักงานของรัฐตามกฎหมาย โดยวิธีอันทุจริตและผิดกฎหมาย เพื่อจูงใจรอง ผอ.สำนักทรัพย์สินฯให้กระทำการในหน้าที่ด้วยการจัดสรรที่ดินบริเวณองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ชิดลม) ซึ่งเป็นทรัพย์สินของสำนักงานทรัพย์สินฯ ให้กับบริษัท เรียลแอสเตทฯ ได้สิทธิการเช่าที่ดินระยะยาว โดยไม่ต้องผ่านการประมูลแข่งขันตามขั้นตอนปกติของการขอเช่าที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินฯ อันเป็นคุณแก่บริษัท เรียลแอสเตทฯ และทำให้สำนักงานทรัพย์สินฯ เสียประโยชน์ที่จะได้รับเงินจากการประมูลที่สูงที่สุด ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่สำนักงานทรัพย์สินฯ ผู้อื่น และประชาชน

ศาลพิพากษาว่า จำเลยทั้ง 2 ราย มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 143, 164, 256, 268 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123/4 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้เรียงกระทงลงโทษทุกกรรมป็นความผิดไป ตมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันปลอมเอกสารราชการและใช้เอกสารราชการปลอม รวม 2 กระทง ลงโทษจำเลยทั้งสองฐานร่วมกันใช้เอกสารราชการปลอม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 จำคุกกระทงละ 2 ปื ฐานร่วมกันเป็นตัวกลางในการเรียกรับสินบนเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท แต่ละบทมีอัตราโทษเท่ากัน ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 143 จำคุกคนละ 2 ปี รวมจำคุกคนละ 6 ปื จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่ง คงลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 3 ปี

สรุปใจความจากคำพิพากษาของศาลคือ “สกุลธร” คือผู้ให้เงินแก่จำเลยทั้ง 2 ราย อย่างน้อย 3 ครั้ง รวม 20 ล้านบาท จากยอดที่อ้างว่าจะให้ทั้งหมด 500 ล้านบาท โดยอ้างว่าเป็น “ค่าอำนวยความสะดวก” แก่บริษัท เรียลแอสเตทฯ ได้สิทธิเช่าที่ดินดังกล่าว 

จึงนำไปสู่ประเด็นที่ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยทั้ง 2 ราย ในฐานะความผิดการ “เรียกรับสินบน” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 143 

เมื่อ “จิ๊กซอว์” ในคดีเริ่มครบถ้วน ในปี 2563 บก.ป.รื้อคดีดังกล่าวมาสอบสวนอีกครั้ง โดยมีการเรียก “สกุลธร” มาให้ปากคำ พร้อมกับเชิญ 2 อดีตจำเลยในคดีนี้ ซึ่งพ้นโทษออกมาแล้ว มาให้ถ้อยคำประกอบด้วย

โดยในช่วงคดีนี้กำลังโด่งดังปลายปี 2563 “สกุลธร” ออกแถลงการณ์เป็นเอกสารข่าว (Press Release) ชี้แจง 3 หน้ากระดาษ ยืนยันความบริสุทธิ์ของตัวเอง พร้อมระบุว่าตนตกเป็นผู้เสียหาย เพิ่งทราบทีหลังว่าเป็นเอกสารปลอม ยืนยันที่ผ่านมาให้ความร่วมมือกับตำรวจเต็มที่จนจับผู้กระทำผิดได้ ส่วนการจ่ายเงินนั้น เป็นค่านายหน้าที่มีลักษณะเป็นที่ปรึกษาอสังหาริมทรัพย์ เป็นไปตามมาตรฐานสากลวิชาชีพ

หลังจากนั้น บก.ป.ได้แจ้งข้อกล่าวหาแก่ “สกุลธร” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 144 ฐานผู้ใดให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่เจ้าพนักงาน ประกอบมาตรา 83 โดยเขาเดินทางมาเข้าพบพนักงานสอบสวนเพื่อให้ปากคำ พร้อมปฏิเสธข้อกล่าวหา

หลังจากนั้น บก.ป.ได้สรุปสำนวนกล่าวหา “สกุลธร” ตามความผิดดังกล่าวส่งให้อัยการ และพนักงานอัยการปราบปรามการทุจริต 3 ยื่นฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตฯ เมื่อช่วงปี 2564 กระทั่งศาลมีคำพิพากษาจำคุก 6 เดือนแก่ “สกุลธร” ดังกล่าว

อย่างไรก็ดีเงื่อนปมที่น่าสนใจ ไฉนคณะพนักงานสอบสวนเมื่อปี 2560 ที่ดำเนินการสอบเรื่องนี้ ถึงไม่แจ้งข้อกล่าวหา หรือดำเนินคดีกับ “สกุลธร” ตั้งแต่ช่วงเวลาดังกล่าว ปล่อยจน “เรื่องแดง” จึงมีการรื้อฟื้นคดีนี้ขึ้นใหม่ 

ยังคงไม่มีคำตอบหรือคำอธิบายในเรื่องนี้