4 ฉากทัศน์‘เศรษฐา-พิชิต’ ลุ้นศาล รธน.ฟันคู่ โหวตนายกฯใหม่
หาก “ร่วงคู่” จะทำให้ตำแหน่งนายกฯว่างลง และกลับมาเป็นอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร ในการโหวตเลือกนายกฯคนใหม่ โดยคราวนี้ไม่ต้องอาศัยเสียงจาก สว.อีกต่อไป เพราะหมดบทเฉพาะกาลแล้ว และ สว.ชุดปัจจุบันหมดวาระการดำรงตำแหน่ง อยู่ในสถานะ “รักษาการ” เพียงเท่านั้น
KEY
POINTS
- กาง 4 ฉากทัศน์แนวทางศาลรัฐธรรมนูญ ปมคำร้องกล่าวหา “เศรษฐา” ปมตั้ง “พิชิต” นั่ง รมต.
- จุดด่างพร้อยสำคัญ เคยถูกศาลฎีกาฯสั่งจำคุก 6 เดือนฐานละเมิดอำนาจศาล สืบเนื่องจากปม “ถุงขนม” 2 ล้านบาท ระหว่างสู้คดีที่ดินรัชดาฯให้ “ทักษิณ”
- หากศาลรับ ต้องรอลุ้นว่าไต่สวนทั้งคู่ หรือเลือกเฉพาะกรณี “พิชิต” หรือถ้าเขาชิงลาออกก่อนอาจงดไต่สวน งดวินิจฉัย
- หากศาลไม่รับต้องรอดูเหตุผลประกอบ พร้อมท่าทีกลุ่ม 40 สว.จะดำเนินการอะไรต่อหรือไม่
กลายเป็นเรื่องราวบานปลาย พลันที่กลุ่ม “40 สว.” ลงชื่อยื่นผ่านประธานวุฒิสภา พรเพชร วิชิตชลชัย ส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยสถานะความเป็นนายกรัฐมนตรีของ “เศรษฐา ทวีสิน” และความเป็นรัฐมนตรีของ “พิชิต ชื่นบาน” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
เบื้องต้น คำร้องดังกล่าวส่งไปถึงสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเมื่อ 17 พ.ค.แล้ว โดยอยู่ในขั้นตอนของฝ่ายธุรการ ก่อนจะบรรจุในเรื่องนำเสนอต่อที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีวาระการประชุม 23 พ.ค.นี้
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการตั้ง “พิชิต ชื่นบาน” เข้ามาเป็น “รัฐมนตรี” ใน “ครม.เศรษฐา 2” ทำเอา “เศรษฐา” กลายเป็น “ตำบลกระสุนตก” ในเรื่องนี้ เพราะประวัติที่ผ่านมาของ “พิชิต” มีจุดด่างพร้อยในเรื่อง “คดีถุงขนม” เมื่อครั้งเป็นหัวหน้าทีมทนายความต่อสู้คดีที่ดินรัชดาภิเษก (ปัจจุบันคดีนี้หมดอายุความไปแล้ว)
โดยในช่วงเวลานั้นปรากฎข่าวว่ามีการ “หิ้วถุงขนม” บรรจุเงิน 2 ล้านบาท ไปมอบให้เจ้าหน้าที่ธุรการศาล ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กระทั่งศาลมีคำพิพากษาจำคุก 6 เดือน ไม่รอลงอาญา ฐานละเมิดอำนาจศาลมาแล้ว
แม้จะผ่านพ้นมรสุมดังกล่าว และรับโทษทางอาญามาแล้วก็ตาม “พิชิต” ยังคงเดินบนถนนการเมืองต่อ โดยคอยเป็นที่ปรึกษาด้านกฎหมาย และอยู่เบื้องหลังการกลั่นกรองกฎหมาย หรือระเบียบต่าง ๆ ของพรรคเพื่อไทย
ต่อมาช่วงปี 2562 ในยุค “แตกแบงก์พัน” พิชิต ได้รับความไว้วางใจไปนั่งเป็นประธานที่ปรึกษากฎหมาย พรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) กระทั่งพรรคถูกยุบ เขาได้กลับมาทำงานเบื้องหลังให้พรรคเพื่อไทยต่อ จน “บุญพาวาสนาส่ง” เมื่อ “ทักษิณ ชินวัตร” กลับไทยมารับโทษ “พิชิต” ถูกผลักดันให้นั่งเก้าอี้ “เสนาบดี” ในโควตาของอดีตนายกฯหญิง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จนสุดท้ายประสบผลสำเร็จ
ประเด็นที่น่าสนใจคือในคำร้อง “กลุ่ม 40 สว.” ดังกล่าว ที่เป็นเอกสารจำนวน 11 แผ่น พ่วงเอกสารประกอบ 87 แผ่น รวม 98 แผ่น ระบุตอนหนึ่งว่า
เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ผู้ถูกร้องที่ 1 ได้นำความกราบบังคมทูลฯ เพื่อโปรดเกล้าแต่งตั้ง พิชิต ชื่นบาน ผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีโดยผู้ถูกร้องที่ 1 ทั้ง ๆ ที่รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าผู้ถูกร้องที่ 2 ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160 (4)และ(5) ที่บัญญัติว่า มาตรา 160 รัฐมนตรีต้อง (4) มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ (5) ไม่มีประพฤติกรรม อันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
ดังนั้นขั้นตอนหลังจากนี้ จึงมีโอกาสเป็นไปได้ 4 แนวทาง คือ
- หนึ่ง ไม่รับคำร้อง แบ่งได้ 3 กรณีคือ
1.ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่า พยานหลักฐานไม่เพียงพอ 2.ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องกรณี “เศรษฐา” แต่รับคำร้องกรณี “พิชิต” 3.ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องทั้ง 2 กรณี หากเกิดเหตุการณ์ “พิชิต” ชิงลาออกจากตำแหน่งก่อน โดยอ้างอิงจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ในกรณีของ “นครชัย ขุนณรงค์” อดีต สส.ระยอง หรือกรณี 3 อดีตทหารเสือ กปปส. อย่าง “ถาวร เสนเนียม พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ และณัฏฐพล ทีปสุวรรณ” เป็นต้น
- สอง รับคำร้องไว้วินิจฉัยทั้ง “เศรษฐา-พิชิต”
โดยอาจเห็นว่า “เศรษฐา” ในฐานะนายกฯ เป็นหัวหน้ารัฐบาล มีหน้าที่ต้องพิจารณากลั่นกรองบุคคลให้มาเป็นรัฐมนตรี ต้องยึดหลักคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามของรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ ขณะที่ “พิชิต” เคยต้องโทษตามคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุดแล้ว
- สาม แต่หากศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องไว้วินิจฉัย แล้ว“พิชิต”ชิงลาออกกลางคันระหว่างการไต่สวนของศาล ศาลอาจงดการวินิจฉัยคดี และงดนัดฟังคำวินิจฉัย
เทียบเคียงกับกรณีกล่าวหา “นิพนธ์ บุญญามณี” หลังจากลาออกจากตำแหน่ง รมช.มหาดไทย ระหว่างการพิจารณาไต่สวนของศาลรัฐธรรมนูญ จากกรณีเคยถูกคำสั่งกระทรวงมหาดไทยให้พ้นจากตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สงขลา
- สี่ รับคำร้องไว้วินิจฉัยเฉพาะกรณี“พิชิต” ไม่รับกรณี“เศรษฐา”
โดยอาจเห็นว่า นายกฯดำเนินการถูกต้องตามกฎหมาย แต่เรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม เป็นเรื่อง “ความผิดเฉพาะตัว” และศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัยเรื่องนี้เพียงหน่วยงานเดียว
ใน 4 แนวทางดังกล่าว หากนับเฉพาะกรณีศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องไว้วินิจฉัย ขั้นตอนต่อมาคือ จะต้องพิจารณาสั่ง“หยุดปฏิบัติหน้าที่”ด้วยหรือไม่ หากสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่อาจกลายเป็นเรื่องใหญ่ และต้องให้รองนายกฯขึ้นมารักษาการเอาไว้ก่อนจนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัยหาก “รอดทั้งคู่” ก็ไม่มีผลอะไร กลับมาทำหน้าที่ต่อ แต่ถ้านายกฯรอด “พิชิต” ร่วง ก็จะต้องมีโควตาเก้าอี้รัฐมนตรีว่าง 1 ตำแหน่ง
แต่หาก “ร่วงคู่” จะทำให้ตำแหน่งนายกฯว่างลง และกลับมาเป็นอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร ในการโหวตเลือกนายกฯคนใหม่ โดยคราวนี้ไม่ต้องอาศัยเสียงจาก สว.อีกต่อไป เพราะหมดบทเฉพาะกาลแล้ว และ สว.ชุดปัจจุบันหมดวาระการดำรงตำแหน่ง อยู่ในสถานะ “รักษาการ” เพียงเท่านั้น
ในขณะเดียวกัน ศาลรัฐธรรมนูญยังมีคดีใหญ่อีกคดีรอขึ้นเขียงคือ กรณียุบพรรคก้าวไกล ดังนั้นกรณียื่นคำร้องสอบ “นายกฯ-พิชิต” อาจกลายเป็นอีกหนึ่งจุดสำคัญที่จะเปลี่ยน “สมการการเมือง” พลิกขั้วกลับข้างจัดตั้งรัฐบาลอีกหรือไม่?
ทั้งหมดคือ 4 แนวทางความเป็นไปได้ในการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ท่ามกลางกระแสข่าว “พิชิต” เตรียมชิงลาออกจากเก้าอี้ก่อน หลังได้รับโปรดเกล้าฯนั่งรัฐมนตรีเพียงแค่ 22 วัน
อย่างไรก็ดีคงต้องรอผลการประชุมปรึกษาหารือ คาดว่าในช่วงสัปดาห์นี้น่าจะได้รู้ผล