จุดอ่อนเลือก 'สว.ระบบปิด' ครหาลากตั้ง สภาตรายาง

จุดอ่อนเลือก 'สว.ระบบปิด' ครหาลากตั้ง สภาตรายาง

หาก สว.ชุดใหม่ที่ได้มา ประชาชนไม่มีส่วนร่วมหรือรับรู้ว่าใครจะมาเป็น “ปากเสียงแทน” ก็คงไม่แคล้วครหา “สว.ลากตั้ง” ทำงานแบบ “สภาตรายาง” ให้กับผู้มีอำนาจ โดยไม่เห็นหัวประชาชนเหมือนที่ผ่านมาอีก

KEY

POINTS

  • สารพัดปัญหากติกาซับซ้อนเลือก สว.ชุดใหม่ รุมฟ้อง กกต.รอศาลปกครองกลางชี้ขาด
  • สาระสำคัญหลักคือระเบียบแนะนำตัวที่จำกัดสิทธิเสรีภาพผู้สมัคร ไม่เปิดช่องให้ประชาชนมีส่วนร่วมรับรู้
  • แถมส่อเอื้อให้กลุ่มคน “คอนเนกชั่นเยอะ-กำลังทรัพย์แยะ” เข้ามาจัดตั้งฮั้วคนมาเลือกได้
  • จับตาบทสรุป 24 พ.ค.ศาลปกครองนัดฟังคำพิพากษา ตรงกับวันสุดท้ายปิดรับสมัคร

แม้ว่าจะเข้าสู่วันที่ 3 ในการเปิดรับสมัครบุคคลเข้าไปเป็น สว. ตามกำหนดการของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ระหว่างวันที่ 20-24 พ.ค.ก็ตาม แต่สารพันปัญหา โดยเฉพาะ “ความซับซ้อน” เรื่องกติกาการสมัคร และการโหวตเลือก สว.ยังคงถูกพูดถึงอย่างกว้างขวาง 

เนื่องจาก “ผู้สมัคร” ถูกปิดกั้น-จำกัดสิทธิแทบจะทุกทาง สามารถ “แนะนำตัว” ได้เพียงแค่ช่องทางแพลตฟอร์มออนไลน์ แถมถูกตีกรอบว่า ต้องเป็นไปตามเอกสาร “สว.3” หรือได้แค่ประวัติส่วนตัว ประวัติการศึกษา และประสบการณ์ทำงานเท่านั้น 

ห้าม มิให้พูดในลักษณะจุดยืน ทัศนคติ โชว์วิสัยทัศน์ หรือพูดสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นที่เป็นไปลักษณะการขอคะแนนเสียง

นั่นจึงไม่แปลกที่บรรดา “ผู้สมัคร สว.” จำนวนไม่น้อย ต่างยื่นฟ้อง กกต.ต่อศาลปกครอง ขอให้เพิกถอน หรือแก้ไข “กติกา” ในการสมัครเลือก สว.ครั้งนี้ เพราะ สว.ชุดใหม่ มีความสำคัญเป็นอย่างมาก ถือว่าเป็น “จุดชี้ขาด” ทางการเมือง ภายหลังหลุดพ้นพันธนาการ “บทเฉพาะกาล” ของรัฐธรรมนูญ ที่ถูกเขียนขึ้น “ยุค คสช.

ปัญหาเดิม ๆ ที่ผู้สมัคร สว.ต่างตั้งคำถาม และเรียกร้องขอให้ กกต.ปรับเปลี่ยน รวมถึงการยื่นต่อศาลปกครอง ขอให้แก้ไข คือ ประเด็นการ “แนะนำตัวผู้สมัคร” ที่ต้องเปิดช่องให้สามารถ “แสดงวิสัยทัศน์” แก่สาธารณะได้ ไม่ใช่จำกัดแค่เรื่องประวัติการศึกษา หรือประสบการณ์ทำงานเพียงอย่างเดียว มิฉะนั้นจะไม่สามารถเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร สร้างความรับรู้แก่ประชาชนโดยทั่วไปได้เลย

ในการยื่นฟ้อง กกต.ของศาลปกครองที่มีผู้สมัคร สว.เป็นผู้ดำเนินการ นำโดย “พนัส ทัศนียานนท์” อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กับพวก และ “เทวฤทธิ์ มณีฉาย” บรรณาธิการสำนักข่าวประชาไท ระบุสาระสำคัญตรงกันคือ

ระเบียบดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ประชาชนขาดส่วนร่วม ไม่สามารถสร้างกระบวนการรับผิดชอบ รวมถึงการไม่ให้เผยแพร่เอกสารแนะนำตัวของผู้สมัคร และกระทบต่อเสรีภาพในการประกอบอาชีพของสื่อมวลชน เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน และประสงค์จะลงสมัครรับเลือก สว.ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย

นอกจากนี้ กกต.ออกระเบียบดังกล่าวโดยมีเจตนาไม่สุจริต จงใจไม่ให้ผู้สมัครและประชาชนมีเวลาในการเตรียมตัวสมัครรับเลือกตั้ง ขัดต่อเจตนารมณ์ของการเลือก สว. ทำให้ประชาชนเข้าไม่ถึงข่าวสาร และทำให้การเลือก สว.เป็นระบบปิด เอื้อต่อผู้มีอิทธิพล รวมทั้งออกระเบียบในทางจำกัดสิทธิเสรีภาพ ทำให้ผู้ฟ้องคดีซึ่งประสงค์จะลงสมัครรับเลือก สว.ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย

แม้แต่ตุลาการผู้แถลงคดีนี้ (มีอำนาจหน้าที่ในการอ่านแถลงการณ์ สรุปข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และความเห็นของตุลาการเสนอต่อองค์คณะตุลาการ เพื่อพิจารณาพิพากษาเท่านั้น เป็นไปตามขั้นตอนการพิจารณาคดีของศาลปกครอง) ยังเห็นว่าในระเบียบ กกต.ว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือก สว. 2567 มีปัญหาสำคัญคือ ข้อ 7 ของระเบียบดังกล่าว ที่ให้แนะนำตัวผู้สมัครด้วยประวัติส่วนตัว ประวัติการศึกษา และประสบการณ์ทำงาน เพียงแค่ 2 หน้ากระดาษ A4 และให้แนะนำตัวเฉพาะ “ในกลุ่มผู้สมัคร” อาจไม่เพียงพอ เป็นการตัดโอกาสในการแนะนำตัวของผู้สมัคร และประชาชนที่จะได้รับทราบข้อมูล

ตุลาการผู้แถลงคดีจึงเห็นว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้นหากมีการแก้ไขข้อ 7 ของระเบียบดังกล่าว เปิดช่องให้ผู้สมัคร สว.แนะนำตัวแก่สาธารณชนให้มากขึ้น จะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ที่จะได้ผู้ที่มาทำหน้าที่ แทนปวงชนชาวไทย โดยทั้ง 2 สำนวนดังกล่าวที่ “พนัส-เทวฤทธิ์” ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองนั้น ศาลได้นัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 24 พ.ค.นี้ ดังนั้นต้องรอดูผลคำพิพากษาว่าจะออกมาในทิศทางใด

จุดอ่อนเลือก \'สว.ระบบปิด\' ครหาลากตั้ง สภาตรายาง

นอกจากประเด็นเรื่อง “แนะนำตัว” ที่ยังเป็นปัญหาคาราคาซังอยู่ ดันมีประเด็นใหม่โผล่ขึ้นมาซ้ำเติมอีก ล่าสุด ธีรยุทธ สุวรรณเกษร ในฐานะทนายความผู้รับมอบอำนาจจาก วิเดือน งามปลั่ง ผู้สมัครรับเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ยื่นฟ้อง กกต.ต่อศาลปกครอง 

ขอให้มีคำพิพากษาเพิกถอนระเบียบ กกต.ว่าด้วยการเลือก สว. 2567 ข้อ 91 ข้อ 3 ข้อ 6 และระเบียบ กกต. ว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือก สว. ฉบับที่ 2 พ.ศ 2567 ข้อ 8 พร้อมกับขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลาระงับใช้ระเบียบดังกล่าวไว้ จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา และส่งความเห็นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามมาตรา 212 วรรคหนึ่ง ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. 2561 มาตรา 36 มาตรา 41 และมาตรา 42 ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 107 หรือไม่ด้วย

สรุปสาระสำคัญได้ว่า บุคคลที่มีสิทธิ์เข้าไปเลือก สว.ได้นั้น ต้องเสียเงินค่าสมัคร 2,500 บาท สูงเกินไป นอกจากนี้ในการแบ่งกลุ่ม ต้องแบ่งในลักษณะที่ทำให้ประชาชน มีสิทธิ์สมัครสามารถอยู่ในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้ 

ขณะเดียวกันกติกาดังกล่าวมีข้อกำหนดให้ผู้ช่วยเหลือผู้สมัคร สามารถช่วยผู้สมัครในการแนะนำตัว อาจทำให้เกิดการแทรกแซง ครอบงำ จากบุคคลที่ไม่ใช่ผู้มีสิทธิ์เลือก ทำให้เกิดความได้เปรียบ ไม่เป็นธรรม ระหว่างผู้สมัครรับเลือกเป็น สว.ด้วยกัน

“การให้ผู้สมัครสามารถแนะนำตัวด้วยวิธีอิเล็กทรอนิกส์ และประชาชนอาจเข้าถึงข้อมูลนั้นได้ เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับผู้สมัครที่มีกำลังทรัพย์ กำลังคน เครือข่ายโซเชียลเน็ตเวิร์ก สามารถใช้กลไกเหล่านี้สร้างความได้เปรียบ ไม่เป็นธรรม เหลื่อมล้ำ กับผู้สมัคร สว.รายอื่น และการที่ระเบียบเปิดช่องให้ผู้สมัครไม่ต้องลงคะแนนให้ตัวเอง จะทำให้เกิดการรับจ้างลงสมัครเพียงเพื่อจะได้มีเสียงโหวต จากกลุ่มผู้สมัครที่จัดตั้งขึ้น หรือกลุ่มผู้สมัครนั้นอาจจะมีพฤติกรรมชี้นำ ครอบงำ ชักจูง สั่งการหรือสมยอมให้มีการเลือกเพื่อให้เป็นไปตามระเบียบ ทำให้การเลือกสว. เกิดความเสียหายยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลัง จึงขอให้ศาลมีคำสั่งตามที่ร้องขอ” ธีรยุทธ ระบุ

ทั้งหมดคือสารพันปัญหาที่คาราคาซัง รอศาลปกครองชี้ขาด และลุ้นท่าที กกต.ว่าจะมีการปรับเปลี่ยนแก้ไขอะไร ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนหมดเวลาเปิดรับสมัครในวันที่ 24 พ.ค.นี้หรือไม่ เพราะตำแหน่ง สว.มิใช่มีหน้าที่แค่กลั่นกรองกฎหมาย หรือสรรหาบุคคลไปนั่งดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระเพียงอย่างเดียว แต่ต้องทำหน้าที่ “ฝ่ายนิติบัญญัติ” เป็นปากเป็นเสียงแทนประชาชน ไม่ต่างอะไรกับ “สส.” ด้วย

หาก สว.ชุดใหม่ที่ได้มา ประชาชนไม่มีส่วนร่วมหรือรับรู้ว่าใครจะมาเป็น “ปากเสียงแทน” ก็คงไม่แคล้วครหา “สว.ลากตั้ง” ทำงานแบบ “สภาตรายาง” ให้กับผู้มีอำนาจ โดยไม่เห็นหัวประชาชนเหมือนที่ผ่านมาอีก