เกมถอด‘เศรษฐา’ ตีตรา‘บรรทัดฐาน’การเมือง
ศาลรัฐธรรมนูญ เตรียมพิจารณาคำร้องของ 40สว. เพื่อถอด "เศรษฐา-พิชิต" วันนี้ แนวทางนี้ออกได้ 2 หน้า คือ รับ ไม่รับ ความน่าจะเป็นของเรื่องนี้ คือ รับไว้พิจารณา เพื่อวางหลักทางการเมือง
Key Point :
- คำร้องของ 40สว. ให้ถอด "เศรษฐา-พิชิต" จะได้รู้วันนี้ ว่า รับ หรือไม่รับ
- ความน่าจะเป็นของเรื่องนี้ "ศาลรัฐธรรมนูญ" ในแนวรับไว้ เพื่อวางหลักทางการเมือง สร้างบรรทัดฐานคัดคนนั่งตำแหน่งเสนาบดี
- แม้ "พิชิต" ชิงลาออกก่อนไม่กี่วัน แต่ด้วยเหตุในคำร้อง "ศาลรัฐธรรรมนูญ" มีประเด็นที่จะพิจารณาต่อได้
- ทว่าในมุมการเมือง มีคนมองว่า ด้วยหน้าที่ ของ "สว." ที่หมดวาระแล้ว ไม่มีสิทธิยื่นตรวจสอบใครได้
- ต้องมาจับตาให้ดี ว่า "ศาลรัฐธรรมนูญ" จะมีแนวทางออกมาที่ชัดเจนอย่างไร หาก "รับ" แน่นอนว่าต้องจับตาการหยุดปฏิบัติหน้าที่ ของ "เศรษฐา"
- ปฏิเสธไม่ได้ในการเคลื่อนไหวของ "40สว." ตัวแทนฝ่ายอนุรักษ์ต้องการสำแดงฤทธิ์ ให้ "ขั้วทักษิณ" เห็นฤทธิ์ เห็นเดช
การเดินเกมของ “40 สว.” เพื่อถอด “เศรษฐา ทวีสิน” ให้พ้นจากตำแหน่งนายกฯ ผ่าน “ศาลรัฐธรรมนูญ” ด้วยเหตุผลของการแต่งตั้ง “พิชิต ชื่นบาน” อดีตทนายความที่มีประวัติด่างพร้อยให้ดำรงตำแหน่ง “รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ”
ในวันนี้ (23 พ.ค.) จะทราบว่าศาลรัฐธรรมนูญจะ “รับ” หรือ “ไม่รับ” คำร้องดังกล่าว หลังจากที่ได้ดูเนื้อหาตามคำบรรยายฟ้องของ “40 สว.” และข้อกฎหมายที่ขอให้วินิจฉัย “ความสิ้นสุดลงของตำแหน่ง เพราะมีลักษณะต้องห้ามการดำรงตำแหน่งในประเด็นขาดความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์” และ “มีพฤติกรรมขัดกับมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง”
แม้ว่า “พิชิต” ที่เป็นสารตั้งต้น ปมเหตุถอด “เศรษฐา” ชิงลาออกจากตำแหน่งไปก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณา เพื่อหวังตัดตอนไม่ให้ “ศาลรัฐธรรมนูญ” รับคำร้อง โดยมองในมุมของคดีที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้า
ทว่าใน “เกมถอดถอน” ครั้งนี้ ออกได้หลายหน้า ตามมุมทางกฎหมายที่สามารถยกเป็นเหตุผลได้
หน้าแรกคือ ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้อง ด้วยเหตุผล คือ
1.การใช้สิทธิของ “40 สว.” ไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ
คำอธิบายในเรื่องนี้ “เสรี สุวรรณภานนท์” ประธานกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ผู้ที่ค้านการยื่นเรื่อง มองว่า สว.ปัจจุบันดำรงตำแหน่งครบ 5 ปีแล้ว แม้มาตรา 109 ของรัฐธรรมนูญวรรคสาม กำหนดให้อยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป แต่การทำหน้าที่นั้น ไม่ใช่จะได้สิทธิ ตามที่มาตรา 82 ว่าด้วยเกณฑ์การยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย สส. หรือรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งเพราะขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้าม ที่ให้ถือว่า “เป็นการใช้สิทธิ”
“ในการหารือก่อนการยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ มีเหตุผลหลายประการที่ถูกโต้แย้งระหว่างหมู่ สว. ซึ่งส่วนหนึ่งเห็นว่า สว.หมดสิทธิที่จะยื่นตรวจสอบในเรื่องประเด็นว่าใครมีคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามที่จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีหรือไม่ ผมและ สว.คนอื่น จึงไม่ได้ร่วมลงชื่อด้วย” สว.เสรี ระบุความไว้
2.คือสารตั้งต้นเรื่อง คือ “พิชิต” ใช้แทคติกกฎหมาย ลาออกจากตำแหน่ง จึงไม่มีเหตุให้พิจารณาในประเด็นต่อเนื่อง ของ “เศรษฐา”
ขณะเดียวกันในคำบรรยายฟ้องของ “สว.” ที่อ้างถึงการยอมให้บุคคลอื่นใช้ตำแหน่งหน้าที่ของตนเองแสวงหาประโยชน์มิชอบ คบหาสมาคมกับผู้มีความประพฤติที่เสื่อมเสียง ที่กระทบกระเทือนต่อความเชื่อถือศรัทธาของประชาชน ผ่านการเข้าพบ “ทักษิณ ชินวัตร” ฐานะ “นาย” ของ “พิชิต ชื่นบาน” ไม่น้อยกว่า 3 ครั้ง ไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์
ส่วนหน้าที่สอง คือศาลรัฐธรรมนูญ “รับคำร้อง” โดยเหตุผลสำคัญ คือ “ต้องการวางหลัก” ที่นำไปสู่การสร้างบรรทัดฐานทางการเมือง ต่อการแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี
ต่อประเด็นนี้ “เจษฎ์ โทณะวณิก” นักกฎหมาย ในฐานะอดีตที่ปรึกษากรรมการร่างรัฐธรรมนูญ มองว่า แม้พิชิตจะลาออกจากตำแหน่งแล้ว เรื่องนี้ก็ไม่จบ ด้วยเหตุที่มีประเด็นต่อเนื่อง ที่ศาลรัฐธรรมนูญต้องวางหลักว่าตั้งรัฐมนตรีแบบใดที่จะขัดคุณสมบัติซื่อสัตย์เป็นที่ประจักษ์ หรือฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมหรือไม่
อ.เจษฎ์ มองในมุมกฎหมายต่อว่า กรณีของนายกฯ เศรษฐา นั้น ได้รับทราบอยู่แล้วกรณีที่ “พิชิต” มีประเด็นคุณสมบัติขาดความซื่อสัตย์เป็นที่ประจักษ์ เห็นจากการสอบถามต่อ “กฤษฎีกา” เพื่อหวังฟอกตัว และเมื่อได้คำตอบจากกฤษฎีกา ได้นำคำตอบนั้นมา “อธิบายบิดเบือน” จึงถือว่ากรณีที่เกิดนั้น มีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการกระทำ จึงเป็นเหตุผลให้รับคำร้องได้
ประเด็นต่อไปคือ หากศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องแล้ว จะสั่งให้ “เศรษฐา” หยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ “อ.เจษฎ์” มองว่ากรณีนี้อาจเป็นมาตรฐานเดียวกันกับ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกฯ เพราะหากศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้อง เท่ากับว่ามีเหตุอันควรสงสัย ซึ่งเท่ากับมีมูล
ส่วนฉากทัศน์การเมืองต่อไป ในกรณี “รับคำร้องและให้เศรษฐาหยุดปฏิบัติหน้าที่” อ.เจษฎ์ มองว่า ต้องติดตามการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญที่จะวางหลักเรื่องสำคัญนี้ไว้อย่างไร และอาจทำให้การแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีหลังจากนั้นไม่เหมือนเดิม
“ผมเชื่อว่าศาลรัฐธรรมนูญต้องทำเรื่องนี้ให้กระจ่าง เพราะการแต่งตั้งบุคคลให้เข้าไปใช้อำนาจรัฐ อำนาจบริหารเป็นสิ่งสำคัญต่อชาติ บ้านเมือง แต่จะไม่ใช่การการันตีความซื่อสัตย์สุจริตให้กับบุคคลใด” อ.เจษฎ์ กล่าวสรุป
ปรากฏการณ์ “40 สว.” ที่เดินเกมเร็ว ผ่าน “พรเพชร วิชิตชลชัย” ประธานวุฒิสภา ในห้วงไม่ถึง 10 วัน สร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับ “รัฐบาล-เพื่อไทย” จนออกอาการเป๋
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเดินเกมครั้งนี้ คือการส่งสัญญาณในศึกชิงอำนาจที่ไม่ยอมจบ ของ “ขั้วอนุรักษ์” ที่ต้องการให้ “ขั้วทักษิณ” เห็นถึงความเป็นต่อ
หากยังคิดจะลองดี... “อภินิหาร” ในรัฐธรรมนูญ 2560 ก็พร้อมแสดงฤทธิ์.