เปิดขั้นตอนศาล รธน.ก่อนชี้ขาด ‘เศรษฐา’ เทียบคดี ‘ประยุทธ์’

เปิดขั้นตอนศาล รธน.ก่อนชี้ขาด ‘เศรษฐา’ เทียบคดี ‘ประยุทธ์’

กรณี “เศรษฐา” คงต้องรอดูว่า หลังจากยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาใน 15 วันแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญจะมีมติอะไรออกมาบ้าง

KEY

POINTS

  • เปิดขั้นตอนการไต่สวนในศาลรัฐธรรมนูญ คดีกล่าวหา “เศรษฐา” หลังยื่นคำชี้แจงภายใน 15 วัน หรือภายใน 6 มิ.ย.
  • รอศาลนัดพิจารณาอีกครั้ง ข้อเท็จจริง-ข้อกฎหมายเพียงพอให้ชี้ขาดเลยหรือไม่ ถ้าไม่พอต้องเปิดไต่สวนต่อ คดียืดเยื้อไปอีก
  • เทียบเคียงคดีกล่าวหา “บิ๊กตู่” ในศาล ยกคำร้อง 1 ไม่สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ 2 สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ 1 แต่สุดท้ายรอด

เริ่มนับหนึ่งอย่างเป็นทางการ สำหรับการตรวจสอบคุณสมบัติความเป็น “นายกรัฐมนตรี” ของ เศรษฐา ทวีสิน นายกฯคนที่ 29 และนับเป็น “นายกฯคนที่ 5” ที่ขึ้นเขียงศาลรัฐธรรมนูญระหว่างดำรงตำแหน่ง หลังจากศาลมีมติข้างมาก 6 ต่อ 3 เสียง “รับคำร้อง” ของ “กลุ่ม 40 สว.” กรณีการแต่งตั้ง “พิชิต ชื่นบาน” เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

ทั้งที่ถูกครหาแผลเก่าในอดีตคือ “คดีถุงขนม” จนติดคุกมาแล้ว ทำให้สบช่องโดนร้องตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) ความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และ (5) ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง

แกะประเด็นการรับคำร้องของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว เห็นได้ว่า มีประเด็นน่าสนใจอยู่ เริ่มจากมติศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 เสียงรับคำร้องกรณีนี้ โดยมีตุลาการเสียงข้างน้อย 3 คน ได้แก่ นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ อุดม รัฐอมฤต และสุเมธ รอยกุลเจริญ

ต่อมา มติ 8 ต่อ 1 เสียง ไม่รับคำร้องกล่าวหา “พิชิต”เนื่องจากเจ้าตัวชิงลาออกจากตำแหน่งไปแล้วเมื่อ 21 พ.ค.ที่ผ่านมา มีเสียงข้างน้อย 1 เดียวคือ อุดม สิทธิวิรัชธรรม

และประเด็นสุดท้ายมติข้างมาก 5 ต่อ 4 เสียง ไม่สั่ง “เศรษฐา” หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกฯ มีเสียงข้างน้อย 4 คน ได้แก่ ปัญญา อุดชาชน อุดม สิทธิวิรัชธรรม วิรุฬห์ แสงเทียน และจิรนิติ หะวานนท์

ชี้ให้เห็นว่าตุลาการที่ “ไม่เห็นด้วย” ให้รับคำร้องดังกล่าวคือกลุ่มของ นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญคนล่าสุด พร้อมด้วยอุดม รัฐอมฤต และสุเมธ รอยกุลเจริญ นอกจากนี้ยังเป็น 3 ใน 8 เสียงข้างไม่มากไม่รับคำร้องสอบ “พิชิต” รวมถึงเป็น 3 ใน 5 “เสียงข้างมาก” ไม่สั่งให้ “เศรษฐา” หยุดปฏิบัติหน้าที่ด้วย

ขณะที่กลุ่มที่ “เห็นด้วย” นำโดย “อุดม สิทธิวิรัชธรรม” ทั้งประเด็นควรรับคำร้องสอบ “เศรษฐา-พิชิต” และควรสั่งให้นายกฯหยุดปฏิบัติหน้าที่

ขั้นตอนหลังจากนี้คือ ศาลรัฐธรรมนูญขีดเส้น 15 วันให้ “เศรษฐา” เข้ามาชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาคดี นับตั้งแต่ได้รับสำเนาคำร้อง หรือภายใน 6 มิ.ย. 2567 

หลังจากนั้นศาลรัฐธรรมนูญจะประชุมปรึกษาหารือกันอีกครั้งว่า คดีนี้มีข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเพียงพอวินิจฉัยหรือไม่ หากเพียงพอแล้ว ไม่จำเป็นต้องไต่สวน และนัดฟังคำวินิจฉัยต่อไป แต่ถ้าข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายยังไม่เพียงพอ จะต้องนัดไต่สวนก่อน ซึ่ง “เศรษฐา” ยังมีโอกาสทำเอกสารชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา พร้อมแนบพยานหลักฐานทั้งพยานบุคคล และพยานเอกสาร เพื่อเข้ารับการไต่สวนอีกรอบหนึ่ง ซึ่งจะทำให้คดีนี้ “ยืดยาว” ออกไปอีก

คดีกล่าวหา “เศรษฐา” ถูกบางฝ่ายนำไปเปรียบเทียบกับคดีกล่าวหา "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" ที่ถูกร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญถึง 4 คดี ขณะปฏิบัติหน้าที่นายกฯ โดยศาลยกคำร้อง 1 คดี และมี 2 คดีที่ไม่ถูกสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ คือ 

1.คดี “บ้านพักหลวง” โดยมีการกล่าวหาว่า “นายกฯ” พ้นจากตำแหน่ง ผบ.ทบ.แล้ว แต่ยังพักอาศัยในบ้านพักราชการทหารที่ ร.1 รอ. สุดท้ายศาลรัฐธรรมนูญมติเอกฉันท์ว่าพล.อ.ประยุทธ์ ไม่ผิดกรณีนี้ เนื่องจากไปเป็นไปตามระเบียบของกองทัพบก

2.คดีเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐเนื่องจากเป็นหัวหน้า คสช. ทำให้ขาดคุณสมบัติเป็นนายกฯหรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ว่า ตำแหน่ง คสช.ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐ เนื่องจาก คสช.เป็นอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ เป็นอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ การทำงานของหัวหน้า คสช.เป็นการแต่งตั้งไม่ได้ขึ้นกับกฎหมาย จึงตีตกคำร้องกล่าวหา

โดยทั้ง 2 คดีที่ไม่ถูกสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่นั้น ศาลใช้เวลาในการวินิจฉัยไม่นานนัก เพราะเป็นคดีที่มีข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายครบถ้วนแล้ว ไม่จำเป็นต้องสืบพยานไต่สวนเพิ่มเติมอีก ก่อนที่จะชี้ว่า “บิ๊กตู่” ไม่มีความผิดตามข้อกล่าวหา สามารถดำรงตำแหน่งนายกฯต่อไปได้

มีเพียง 1 คดีซึ่งถูกสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ คือคดีดำรงตำแหน่งนายกฯ เกิน 8 ปี ขัดกับรัฐธรรมนูญปี 2560 หรือไม่ โดยศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 เสียงรับคำร้องดังกล่าว และมีมติ 5 ต่อ 4 เสียงให้ “พล.อ.ประยุทธ์” หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกฯ เมื่อ 24 ส.ค. 2565 จนกว่าจะมีคำวินิจฉัย

 โดยตุลาการที่เห็นด้วยว่าควรให้หยุดปฏิบัติหน้าที่มี 5 คน ได้แก่ นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ (เมื่อครั้งยังไม่เป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ) ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ์ (ปัจจุบันเกษียณอายุ) จิรนิติ หะวานนท์ วิรุฬห์ แสงเทียน และนภดล เทพพิทักษ์ พร้อมกับให้ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาใน 15 วัน

ต่อมาเมื่อครบกำหนดศาลรัฐธรรมนูญได้กำหนดวันอ่านคำวินิจฉัยคดีนี้ในวันที่ 30 ก.ย. 2565 ภายหลัง “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯขณะนั้น รักษาการนายกฯได้เกือบ 30 วัน ศาลอ่านคำวินิจฉัยด้วยมติเสียงข้างมาก 6 เสียง ได้แก่ วรวิทย์ กังศศิเทียม (เมื่อครั้งเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ ปัจจุบันเกษียณอายุ) อุดม สิทธิวิรัชธรรม บรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์ ปัญญา อุดชาชน จิรนิติ หะวานนท์ วิรุฬห์ แสงเทียน ส่วนข้างน้อย 3 เสียง ได้แก่ นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ์ (ปัจจุบันเกษียณอายุ) และนภดล เทพพิทักษ์ 

โดยเสียงข้างมากเห็นว่า ความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ. ประยุทธ์ ไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสอง และมาตรา 158 วรรคสี่ เนื่องจากความเป็นรัฐมนตรีต้องเริ่มนับตั้งแต่ 6 เม.ย. 2560 อันเป็นวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560

ทั้งหมดคือขั้นตอนการพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับคำร้องกล่าวหา “นายกฯ” ระหว่างดำรงตำแหน่งเท่าที่ผ่านมา 

ส่วนกรณี “เศรษฐา” คงต้องรอดูว่า หลังจากยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาใน 15 วันแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญจะมีมติอะไรออกมาบ้าง