ผู้แทนรัฐสภาไทย ร่วมประชุม World Water Forum ครั้งที่ 10 เสนอ2ข้อแก้ปัญหาน้ำ

ผู้แทนรัฐสภาไทย ร่วมประชุม World Water Forum ครั้งที่ 10 เสนอ2ข้อแก้ปัญหาน้ำ

ผู้แทนรัฐสภาไทย ร่วมประชุม World Water Forum ครั้งที่ 10 แนวทางการดำเนินการของฝ่ายนิติบัญญัติและแสวงหาความร่วมมือเกี่ยวกับการแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำ พร้อมเสนอ2ข้อบริหารจัดการน้ำอย่างอย่างยั่งยืน

คณะผู้แทนรัฐสภาไทย นำโดยนายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนรัฐสภาไทย ร่วมด้วยนายกิตติ วะสีนนท์ สมาชิกวุฒิสภา นายคริษฐ์ ปานเนียม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และนายศักดิ์ชาย ตันเจริญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เข้าร่วมการประชุมภาครัฐสภาในโอกาสการประชุมน้ำโลก ครั้งที่ 10 ระหว่างวันที่ 19 - 22 พฤษภาคม 2567 ณ จังหวัดบาหลี สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ซึ่งสหภาพรัฐสภา (IPU) และสภาผู้แทนราษฎรอินโดนีเซียได้ร่วมจัดขึ้นคู่ขนานในระหว่างการประชุมน้ำโลก ครั้งที่ 10 (ระหว่างวันที่ 18 – 25 พฤษภาคม 2567) ภายใต้หัวข้อหลัก “การแสวงหาแนวทางปฏิบัติภาครัฐสภาด้านน้ำเพื่อความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน” (Mobilizing parliamentary action on water for shared prosperity) ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ภาครัฐสภาได้มีส่วนร่วมในการแสดงวามมุ่งมั่นและเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระดับโลกเพื่อนำเสนอแนวทางการดำเนินการของฝ่ายนิติบัญญัติและแสวงหาความร่วมมือเกี่ยวกับการแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำ การเข้าถึงทรัพยากรน้ำ โดยเฉพาะการยกระดับศักยภาพและบทบาทของรัฐสภาในการมีส่วนร่วมกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างมั่นคงและยั่งยืนในทุกมิติ 

ในโอกาสนี้ คณะผู้แทนรัฐสภาไทยได้นำเสนอความสำเร็จของประเทศไทยเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำอย่างอย่างยั่งยืนใน 2 ประเด็น ได้แก่
 

1. การเข้าถึงน้ำและสุขาภิบาล เพื่อมุ่งบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 6 : น้ำสะอาดและสุขาภิบาล (Clean water and sanitation) โดยเฉพาะการออกพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 เพื่อการบริหารอย่างเป็นระบบ โดยรัฐสภาไทยมุ่งเป้าในการมีส่วนร่วมและการสนับสนุนให้เกิดการใช้น้ำอย่างคุ้มค่าทั้งการอุปโภค บริโภค และการชลประทาน การลดผลกระทบของการสูญเสียที่เกิดจากน้ำท่วมและภัยแล้ง รวมทั้ง การกำจัดอุปสรรคต่าง ๆ ที่ขัดขวางการเข้าถึงความต้องการด้านน้ำและสุขาภิบาลของประชาชน

2.ความสำเร็จของรัฐสภาไทยในการเป็นตัวกลางในการสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อบริหารจัดการน้ำภายในชุมชนอย่างยั่งยืน ภายใต้ “โครงการฝายแกนดินซิเมนต์แก้แล้ง-แก้จน” เพื่อรักษาแหล่งน้ำให้ชุมชนมีน้ำพอใช้ในครัวเรือนและการเกษตรกรรมตลอดทั้งปี เป็นผลให้สามารถเพิ่มผลผลิตและสร้างรายได้ให้เกษตรกรมากขึ้น 4 เท่า

รวมทั้ง เป็นการรักษาความชุ่มชื้น ป้องกันตลิ่งพังทลาย และเป็นตัวอย่างของโครงสร้างทางวิศวกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โครงการดังกล่าวเป็นตัวอย่างความสำเร็จของฝ่ายนิติบัญญัติในการสร้างการมีส่วนร่วมและความเชื่อมโยงระหว่างสมาชิกรัฐสภากับประชาชนในกระบวนการเสริมสร้างความมั่นคงด้านน้ำได้อย่างแท้จริง
 

ในตอนท้าย คณะผู้แทนรัฐสภาไทยได้แสดงจุดยืนในการเรียกร้องให้ใช้แนวทางทางการทูตและสร้างความร่วมมือเพื่อสันติภาพในการบริหารจัดการน้ำระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในบริบทของสถานการณ์ตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเพิ่มความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ดังเช่นในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และทะเลจีนใต้ ซึ่งไทยและอาเซียนสนับสนุนความร่วมมือมิใช่การเผชิญหน้า และเห็นควรเร่งรัดให้มีประมวลการปฏิบัติในทะเลจีนใต้ (Code of Conduct -COC- in South China Sea)

นอกจากนั้น รัฐสภาไทยมุ่งหวังที่เห็นการจัดการน้ำในลุ่มแม่น้ำโขงซึ่งเป็นแม่น้ำระหว่างประเทศให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยสนับสนุนให้มีกรอบกฎหมาย (Legal Regime) ที่กำกับการบริหารจัดการน้ำร่วมกัน โดยในปัจจุบันคณะกรรมการแม่น้ำโขง(MRC) มีอาณัติเฉพาะลุ่มน้ำโขงตอนใต้ (ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม) ส่วนจีนและเมียนมาเป็นคู่เจรจา) แม้จะมีกรอบความร่วมมืออื่น รวมทั้งกรอบแม่โขง-ล้านช้าง (MLC) ทั้งนี้ ประเทศอาเซียนในลุ่มน้ำโขงควรจะมีความร่วมมือที่แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้นในการ “ร่วมมือ” กับจีน โดยอาศัยกรอบยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (ACMECS)

อนึ่ง การประชุมน้ำโลก ครั้งที่ 10 (The 10th World Water Forum) จัดขึ้นโดยองค์กร The World Water Council เป็นประจ้าทุก 3 ปี เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการดำเนินการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนเกี่ยวกับความมั่นคงด้านน้ำซึ่งมีผลกระทบกับประชากรโลกหลายล้านคน