ปลดล็อคกติกาซับซ้อนเลือก สว. โจทย์ใหญ่ กกต.แจงต่างชาติ

ปลดล็อคกติกาซับซ้อนเลือก สว. โจทย์ใหญ่ กกต.แจงต่างชาติ

นับเป็นการ “ปลดล็อค” ข้อครหา “กติกาซับซ้อน” ไปอีกเปราะหนึ่ง แต่ยังเหลือข้อครหาสำคัญคือ เริ่มมีกลิ่น “นักเลือกตั้ง-บ้านใหญ่” จับจองพื้นที่-คณะบุคคล เพื่อทำการ “ฮั้ว” แล้ว

KEY

POINTS

  • ปิดรับสมัคร สว.วันสุดท้ายไปแล้วจากทั้งหมด 5 วัน รอลุ้นผู้สมัครยอดถึง 1 แสนคนตามที่ กกต.ประเมินไว้หรือไม่
  • ศาลปกครองกลางมีคำสั่งเพิกถอน 4 ปมใหญ่ในระเบียบแนะนำตัวเลือก สว. “ปลดล็อค” ให้ภาคประชาชนเข้าถึงง่ายขึ้น
  • จับตาโจทย์ใหญ่ กกต.แจง “ต่างชาติ” ทำความเข้าใจ “กติกาซับซ้อน”
  • ส่งผลให้ “ผู้สมัคร” สามารถแนะนำตัวได้เกิน 2 หน้ากระดาษ A4 แต่ยังห้ามมิให้พูดโชว์จุดยืน-วิสัยทัศน์
  • แนะนำตัวผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ได้ แต่ห้ามมิให้สัมภาษณ์สื่อกระดาษ-วิทยุ-โทรทัศน์

ปิดรับสมัครลงไปแล้ว สำหรับการเลือก สว.ครั้งประวัติศาสตร์ โดยไม่มี “บทเฉพาะกาล” จากรัฐธรรมนูญ 2560 มาใช้บังคับ ส่งผลให้ “สว.ชุดใหม่” จะมีจำนวน 200 คน จากเดิมในยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มี 250 คน และ สว.ชุดนี้ไม่มีอำนาจในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีแต่อย่างใด

โดยตัวเลขผู้สมัครอย่างเป็นทางการนั้น สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะเผยแพร่รายชื่อผู้สมัครทั่วประเทศเบื้องต้น 25 พ.ค.หลัง 22.00 น.เป็นต้นไป ส่วนรายชื่ออย่างเป็นทางการจะประกาศภายใน 5 วันหลังสิ้นสุดการรับสมัคร อย่างช้าไม่เกินวันที่ 30 พ.ค.นี้

เบื้องต้นจำนวนผู้สมัครรวม 4 วัน (20-23 พ.ค.) จากทั้งหมด 5 วัน มีจำนวน รวม 34,169 คน อย่างไรก็ดี “แสวง บุญมี” เลขาธิการ กกต.ยืนยันว่า ในวันสุดท้าย (24 พ.ค.) จะมีผู้สมัครเข้ามาจำนวนมาก ดังนั้นต้องรอลุ้นว่ายอดตัวเลขจะตรงกับที่ กกต.เคยคาดคะเนไว้ว่าถึง 1 แสนคนหรือไม่

ประเด็นการเลือก สว.ชุดใหม่ ถูกหลายฝ่ายรวมถึงภาคประชาชนวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักถึงความ “สลับซับซ้อน” แม้แต่ “นักการเมือง” บางคนยังเคยนิยามการเลือก สว.ครั้งนี้ว่า “มีกติกาซับซ้อนที่สุดในโลก” มาแล้ว แม้สำนักงาน กกต. โดย “แสวง บุญมี” เลขาธิการ กกต.จะเป็น “หนังหน้าไฟ” พยายามชี้แจงโดยตลอดว่า กกต.มีหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมาย นั่นคือตามรัฐธรรมนูญ 2560 และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. 2561 ที่ถูกเขียนโดย “สภานิติบัญญัติแห่งชาติ” หรือ “สนช.” ยุค คสช.ก็ตาม

นั่นจึงนำไปสู่การที่สำนักงาน กกต.จัดงานประชุมชี้แจง เรื่องการดำเนินการให้ได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (สว.) แก่ผู้แทนสถานเอกอัครราชทูต สถานกงสุล สถานกงสุลกิตติมศักดิ์ และองค์กรระหว่างประเทศประจำประเทศไทย โดยเลขาธิการ กกต.เปิดเผยว่า เป็นการชี้แจงให้ทราบกระบวนการเลือก สว. ว่า กกต.ได้ดำเนินการไปด้วยความโปร่งใส จริง ๆ เวลาเราเลือกตั้ง สส. หรือเลือก สว. จะชี้แจงเพื่อให้พวกเขาเข้าใจถูกต้อง 

“ถ้าสถานทูตอยู่ในไทย ได้ติดตามคงทราบถึงศิวิไลย์ของเราเหมือนกัน แต่เพื่อสร้างความเข้าใจอันดี โดยเฉพาะเรื่อง สว.อาจดูเป็นของใหม่สำหรับคนไทย หรือทูตด้วย เพราะมีความสลับซับซ้อน จึงถือโอกาสชี้แจงว่า เรามีกระบวนการได้มา และโปร่งใสอย่างไร” เลขาธิการ กกต.ยืนยัน

แต่กติกาที่ถูกกำกับโดย กกต. เช่น ระเบียบ กกต.ว่าด้วยการแนะนำตัวเลือก สว. 2567 ทั้ง 2 ฉบับ ยังถูกผู้สมัคร สว.ฟ้องต่อศาลปกครองให้เพิกถอนระเบียบฉบับดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่า มิชอบด้วยกฎหมาย มีการจำกัดสิทธิเสรีภาพผู้สมัคร และปิดกั้นการสร้างความรับรู้ความเข้าใจของประชาชน

ล่าสุด 24 พ.ค.ที่ผ่านมา ศาลปกครองกลางมีคำสั่งเพิกถอนระเบียบ กกต.ว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือก สว. 2567 ข้อ 3 ข้อ 7 ทั้งฉบับแรก และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 8 เฉพาะฉบับแรกที่บังคับใช้ในช่วง 27 เม.ย.67-15 พ.ค. 2567 และข้อ 11 (2) และ (3) โดยให้ผลย้อนหลังนับตั้งแต่ระเบียบดังกล่าวมีผลบังคับใช้ทั้งสองฉบับ

สรุปสาระสำคัญในคำสั่งของศาลปกครองคือ รัฐธรรมนูญมีเจตนารมณ์ให้ สว. เป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย มีหน้าที่สำคัญหลายประการ และมีหน้าที่ให้ความเห็นชอบกฎหมายตามรัฐธรรมนูญ และมีผลบังคับใช้กับทุกคนในราชอาณาจักรไทย ดังนั้นการทำหน้าที่ของ สว.ย่อมมีผลกระทบต่อประชาชนชาวไทย จึงควรให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ แม้ว่า พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. 2561 กำหนดให้ผู้สมัครคัดเลือกกันเอง ไม่ได้ให้ประชาชนมีสิทธิเลือก สว. แต่รัฐธรรมนูญได้มีการรับรองเสรีภาพของบุคคลในการแสดงความคิดเห็นการพูด การเห็น การคิด การเขียน การโฆษณา การสื่อความหมายอื่นๆ

การที่ กกต. ออกระเบียบดังกล่าวด้วยการจำกัดข้อมูลประวัติและประสบการณ์ของผู้สมัคร รวมถึงกำหนดหลักเกณฑ์ให้ผู้สมัคร สว.สามารถแนะนำตัวเฉพาะกับผู้สมัคร สว.ด้วยกันเท่านั้น และห้ามผู้สมัครในสายอาชีพสื่อมวลชน และศิลปินนักแสดง ใช้ความสามารถในวิชาชีพของตัวเองเพื่อประโยชน์ในการแนะนำนั้น จึงเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของผู้สมัคร สว.เกินกว่าเหตุ และถือว่าไม่เป็นการรักษาความมั่นคงของรัฐ หรือความคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคล หรือเพื่อรักษาศีลธรรมอันดีของประชาชน ระเบียบพิพาทนี้จึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

ส่วนระเบียบข้อ 11 (5) ที่กำหนดห้ามผู้สมัครแนะนำตัวทางวิทยุโทรทัศน์ วิทยุกระจายเสียง เคเบิลทีวี หรือสื่อสิ่งพิมพ์ รวมถึง การให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชน นั้น ศาลเห็นว่า ระเบียบข้อนี้เป็นการห้ามเฉพาะผู้สมัคร สว. ไม่ได้เป็นการห้ามสื่อมวลชน จึงไม่อาจมองว่าเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของสื่อในการนำเสนอข่าวสารแต่อย่างใด 

จึงพิพากษาให้ เพิกถอนระเบียบ กกต. ว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือก สว. 2567 ในส่วนข้อ 3 ข้อ 7 ทั้งฉบับแรก และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 8 เฉพาะฉบับแรกที่บังคับใช้ในช่วง 27เม.ย.67-15 พ.ค.67 และข้อ 11 (2) และ (3) โดยให้ผลย้อนหลังนับตั้งแต่ระเบียบดังกล่าวมีผลบังคับใช้ทั้งสองฉบับ

นั่นหมายความว่าหลังจากนี้ผู้สมัคร สว.สามารถ “แนะนำตัว” เกินกว่า 2 หน้ากระดาษ A4 ได้ รวมถึงสามารถบอกประวัติ ประสบการณ์ เพื่อแนะนำตัวให้กับประชาชนได้ อย่างไรก็ดียังคงห้ามมิให้ผู้สมัคร สว.แนะนำตัวหรือให้สัมภาษณ์ผ่าน “สื่อต่าง ๆ” ยกเว้นแพลตฟอร์มทางออนไลน์ นอกจากนี้ยังไม่ได้เปิดกว้างให้แสดง “จุดยืน-วิสัยทัศน์” ทำได้แค่แนะนำตัวด้วย “ประวัติ-ประสบการณ์” ที่ผ่านมาเท่านั้น

โดยหลังศาลปกครองมีคำสั่งดังกล่าวออกมา ผู้สมัคร สว.สามารถทำตามได้ทันที โดย “แสวง” ให้สัมภาษณ์ยอมรับว่า อะไรที่ศาลตัดสินแล้วเป็นประโยชน์กับประชาชน เราก็จะดำเนินไปตามนั้น เพื่อให้เป็นการให้สิทธิกับประชาชนมากขึ้น สำนักงาน กกต.คงยึดถือตรงนี้เป็นหลัก โดยหลังจากนี้จะนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการ กกต.พิจารณา ส่วน กกต.จะคิดอย่างไรเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่คาดว่าคงไม่ต่างกันมาก

นับเป็นการ “ปลดล็อค” ข้อครหา “กติกาซับซ้อน” ไปอีกเปราะหนึ่ง แต่ยังเหลือข้อครหาสำคัญคือ เริ่มมีกลิ่น “นักเลือกตั้ง-บ้านใหญ่” จับจองพื้นที่-คณะบุคคล เพื่อทำการ “ฮั้ว” แล้ว เบื้องต้นเลขาธิการ กกต.สั่งให้สำนักงาน กกต.จับตาดูบุคคลที่เข้าข่ายไปแล้ว หากพบพฤติการณ์กระทำผิด จะดำเนินการสอบสวนทันที

หลังจากนี้คงต้องรอวัดฝีมือการทำหน้าที่ของ กกต.ว่าจะ “สุจริต โปร่งใส และเที่ยงธรรม” ตามคำขวัญนี้ได้หรือไม่