เช็กเลย! ครม.อนุมัติหลักการ 'ตำรวจ' รับเงินประจำตำแหน่งเพิ่มหลายสายงาน

เช็กเลย! ครม.อนุมัติหลักการ 'ตำรวจ' รับเงินประจำตำแหน่งเพิ่มหลายสายงาน

ครม.อนุมัติหลักการ เงินประจำตำแหน่งตำรวจ ฝ่ายบริหาร - ยศ พ.ต.ท. 5 สายงาน และความเชี่ยวชาญเฉพาะอีก 2 ด้าน ยึดมาตรฐานเดียวกับข้าราชการพลเรือน - ทหาร

วันที่ 28 พ.ค.2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกา การได้รับเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการตำรวจ พ.ศ. .... ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) เสนอ และให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาต่อไป

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สืบเนื่องจาก พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 ได้ยกเลิก พ.ร.บ. ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติมแล้ว จึงต้องมีการตราพระราชกฤษฎีกาได้รับเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการตำรวจใหม่ เพื่อทดแทนพระราชกฤษฎีกาการได้รับเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการตำรวจ พ.ศ.2558 ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้อง และเป็นไปตามที่ พ.ร.บ. ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 กำหนดให้ข้าราชการตำรวจจะได้รับเงินประจำตำแหน่งท้าย พ.ร.บ. ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 ในอัตราใดให้เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกากำหนด รวมทั้งเพื่อเป็นการปรับปรุงการได้รับเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการตำรวจให้เป็นไปตามมาตรฐานเดียวกันกับข้าราชการพลเรือน และข้าราชการทหาร และสอดคล้องกับการกำหนดลักษณะงานบริหารของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ร่างพระราชกฤษฎีกาที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสนอ เป็นการกำหนดประเภทตำแหน่ง และการได้รับเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการตำรวจ เพิ่มเติมจากพระราชกฤษฎีกาการได้รับเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการตำรวจ พ.ศ.2558 ที่จะถูกยกเลิก เพื่อให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ. ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 และกำหนดสิทธิ และหลักเกณฑ์ของข้าราชการตำรวจให้ได้รับเงินประจำตำแหน่ง ตามบัญชีอัตราเงินประจำตำแหน่งข้าราชการตำรวจท้าย พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 สรุปดังนี้

1. กำหนดให้ข้าราชการตำรวจที่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารของสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา ระดับปริญญาของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และได้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการอีกประเภทหนึ่งอยู่ด้วยแล้ว นั้น ให้ได้รับเงินประจำตำแหน่งประเภทบริหารโดยไม่ตัดสิทธิการได้รับเงินประจำตำแหน่งประเภทวิชาการที่ตนครองอยู่ เพื่อให้สอดคล้องกับการได้รับเงินประจำตำแหน่งของผู้บริหารที่ครองตำแหน่งประเภทวิชาการด้วยของข้าราชการพลเรือนและข้าราชการทหารตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2547 พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการการจ่ายเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการ และผู้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารซึ่งไม่เป็นข้าราชการ พ.ศ.2539 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์ และวิธีการ การจ่ายเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการ และผู้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารซึ่งไม่เป็นข้าราชการ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2550 และพระราชกฤษฎีกาการได้รับเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการทหาร พ.ศ. 2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

2. กำหนดให้ข้าราชการตำรวจซึ่งมียศตั้งแต่ พ.ต.ท. ขึ้นไป และดำรงตำแหน่งที่ปฏิบัติหน้าที่ในวิชาชีพเฉพาะได้รับเงินประจำตำแหน่งประเภทวิชาชีพเฉพาะ (วช.) โดยเพิ่มสายงานที่ปฏิบัติหน้าที่ในวิชาชีพเฉพาะที่ไม่อาจมอบหมายให้ผู้มีคุณวุฒิอย่างอื่นปฏิบัติงานแทนได้ และเป็นงานที่มีผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนอย่างเห็นได้ชัด ให้ได้รับเงินประจำตำแหน่งประเภทวิชาชีพเฉพาะ จำนวน 5 สายงาน (ได้แก่ วิชาชีพเฉพาะกายอุปกรณ์ วิชาชีพเฉพาะกิจกรรมบำบัด วิชาชีพเฉพาะเทคโนโลยีหัวใจและทรวงอก วิชาชีพเฉพาะแพทย์แผนไทย และวิชาชีพเฉพาะเวชศาสตร์การสื่อความหมาย) จากเดิมที่มีอยู่แล้ว 28 สายงาน เพื่อเป็นการรองรับการปรับปรุงภารกิจที่จำเป็นต้องใช้บุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในวิชาชีพเฉพาะดังกล่าวในอนาคต
   
3. กำหนดให้ข้าราชการตำรวจซึ่งดำรงตำแหน่งรองผู้บังคับการหรือเทียบเท่าขึ้นไปที่ต้องปฏิบัติงานที่เป็นงานหลักของหน่วยงาน และต้องใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านได้รับเงินประจำตำแหน่งประเภทเชี่ยวชาญเฉพาะ (ชช.) โดยเพิ่มลักษณะงานความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน จำนวน 2 ด้าน ให้ได้รับเงินประจำตำแหน่งประเภทเชี่ยวชาญเฉพาะ จากเดิมที่เคยมีอยู่ 46 ด้าน ได้แก่ ด้านการสืบสวนสอบสวน เพื่อให้สอดคล้องกับสายงานสืบสวนสอบสวนตาม พ.ร.บ. ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 และด้านความมั่นคงและกิจการพิเศษเพื่อให้เหมาะสมสอดคล้องกับการกำหนดลักษณะงานบริหารของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
  
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ดำเนินการตามมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 แล้ว โดยรายงานว่าการตราพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ ไม่ก่อให้เกิดการสูญเสียรายได้ของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐ ไม่ส่งผลกระทบต่องบประมาณหมวดเงินเดือนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และจะลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำของระบบค่าตอบแทนการปฏิบัติงานระหว่างข้าราชการตำรวจกับข้าราชการพลเรือน ข้าราชการทหาร รวมทั้งเป็นการจัดทำระบบค่าตอบแทนของหน่วยงานภาครัฐให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน และเหมาะสมสอดคล้องกับการกำหนดลักษณะงานบริหารของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นชอบด้วยในหลักการ โดยสำนักงาน ก.พ. เห็นควรให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติวางแผนบริหารจัดการ และกำหนดกรอบอัตรากำลังให้เหมาะสมกับความจำเป็นตามภารกิจ รวมทั้งกำหนดลักษณะงาน และคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งที่จะมีสิทธิได้รับเงินประจำตำแหน่งให้สอดคล้องกับตำแหน่งข้าราชการตำรวจที่มีสิทธิได้รับเงินประจำตำแหน่งอยู่เดิม และเป็นมาตรฐานเดียวกันกับข้าราชการประเภทอื่นด้วย และสำนักงบประมาณเห็นว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติควรใช้จ่ายงบประมาณตามหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขการใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ไปพลางก่อน หรือเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามความจำเป็น และเหมาะสมตามขั้นตอนต่อไป

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์