'ไอลอว์' ปลุกเลือกสว.อุดมการณ์เดียวกัน ไม่หวั่นโพยก๊วนจัดตั้ง
"ไอลอว์" ปลุกเลือก สว.ตามอุดมการณ์ แก้เกมคนสมัครน้อย หวั่นไม่มีตัวแทนกลุ่มอาชีพผ่านไปถึงระดับประเทศ ไม่หวั่นโพยก๊วน-ฮั้ว แนะเทคนิคทำการบ้านก่อนเลือก
ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เครือข่ายวีวอช และ ไอลอว์ จัดเวทีเสวนา และ แถลงข้อเรียกร้องไปยัง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ถึงปัญหาการเลือกสว.67
โดย นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้อำนวยการบริหารโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) กล่าวว่า ปัญหาที่น่ากังวลในวันเลือกสว. ระดับอำเภอ คือ การถูกตัดสิทธิของผู้สมัคร สว. ที่สมัครเพียงคนเดียว กลุ่มเดียว และไม่ได้ผ่านไปรอบต่อไปเนื่องจากไม่มีกลุ่มอื่นให้เลือกไขว้ ซึ่งตนมองว่าไม่เป็นธรรม อย่างไรก็ดีมีประเด็นของการเลือกสว. ระดับอำเภอ ที่พบว่ามีคนสมัครน้อย มีเพียง 2 กลุ่ม ตนต้องการทราบว่า กกต. จะปฏิบัติอย่างไรต่อไป ซึ่งตนมองว่าอำเภอที่มี 2 กลุ่มนั้นไม่สอดคล้องกับเจตนารมย์ของการเลือกไขว้ ขณะที่ในอำเภอที่มีผู้สมัครน้อย และสมัครกลุ่มน้อย อาจจะเป็นปัญหาเช่นกัน เพราะอาจมีบางคนในบางกลุ่มที่ไม่ได้สิทธิถูกเลือกเพราะคนเลือกมีจำนวนไม่เพียงพอ
นายยิ่งชีพ กล่าวด้วยว่าสำหรับบัตรเลือกที่เปลี่ยนใหม่ ตนมองว่าเปลี่ยนก่อนวันเลือก 10 วัน แม้จะเป็นสิ่งที่ดีกว่า แต่ช่วงระยะเวลาที่เปลี่ยนนั้นไม่ทราบเจตนาของกกต. อย่างไรก็ดีทางกลุ่มได้ลงพื้นที่เพื่อจำลองเลือก สว. และทำคลิปเพื่อความเข้าใจบัตรเลือกไขว้ แต่สัปดาห์ที่แล้ว กกต. กลับเปลี่ยนแปลง แม้แบบใหม่จะดีกว่าก็ตาม
“การเลือกข้ามกลุ่ม เช่น นักกฎหมายเลือกกลุ่มชาวนา เลือกนักวิทยาศาสตร์ การอ่านข้อมูลผู้สมัครที่มี 5 บรรทัดอาจไม่เพียงพอ ดังนั้นผมขอแนะนำให้เลือกผ่านอุดมการณ์ทางความคิดว่าคิดเหมือนกันหรือไม่ การอ่าน สว.3กลุ่มอื่นไม่รู้ว่าเป็นใคร ควรเลือกหรือไม่ ดังนั้นการพิจารณาพื้นฐานอาจไม่เลือก แต่เมื่อคนสมัครน้อย และไม่ออกเสียง อาจทำให้เป็นปัญหาคือไม่มีคนให้เลือก ไม่มีคนผ่านไปรอบจังหวัด ระดับประเทศ จนอาจไม่เหลือใครให้เลือก ดังนั้นต้องเลือกคนที่คิดเหมือนเราให้เป็นสว.” นายยิ่งชีพ กล่าว
นายยิ่งชีพ กล่าวด้วยว่า ตนได้รับเรื่องร้องเรียนจากคนที่ลงสมัคร และกลัวเสียงหรือคนจัดตั้ง ดังนั้นขอให้สังเกตจากการแต่งตัวที่เหมือนกัน ติดเข็มกลัดบางอย่างที่เหมือนกัน หรือเขียนใบสว.3 ซึ่งถือเป็นเรื่องง่ายต่อการลงคะแนนเลือก ซึ่ง ตนไม่กลัวเรื่องการจัดตั้ง หรือที่มีประเด็น 149 รายชื่อนั้น ตนมองว่าไร้สาระ อย่าสนใจ ดังนั้นหากเจอใครที่จัดตั้งผิดกฎหมายให้ยื่นเรื่องร้องเรียนเพื่อตัดสิทธิ ก่อนวันที่ 9 มิ.ย.
นายยิ่งชีพ กล่าวด้วยว่าทั้งนี้ตนขอให้ร่วมเป็นนักสืบ ค้นข้อมูลจากเว็ปไซต์ กกต. และพิจารณาว่าผู้สมัครสว.ในกลุ่มต่างๆ ที่ไม่ควรจะเป็น หรือควรจะเป็น เพื่อช่วยทำการบ้านให้กับ ผู้สมัคร สว.กลุ่มอื่นๆ ที่อาจไม่รู้จักกับผู้สมัครอื่นๆ ส่วนวันเลือก 9 มิ.ย. ขอให้ร่วมสังเกตการณ์ระบบเลือกของ กกต.
“ไอลอว์ จะจัด 2 ทีมใหญ่ ไปที่บุรีรัมย์ และศรีสะเกษ เนื่องจากมีผู้สมัครจำนวนมาก รวมถึงไปอำเภอที่มีผู้สมัครเพียงรายเดียว เพื่อไปสังเกตการณ์ดังนั้นขอให้ประชาชนช่วยร่วมสังเกตการณ์ด้วย” นายยิ่งชีพ กล่าว
ขณะที่นายกฤต แสงสุรินทร์ ตัวแทนเครือข่ายเยาวชนสังเกตการณ์การเลือกตั้งเพื่อประชาธิปไตย (วีวอช) กล่าวว่า จากการรับปัญหาข้อร้องเรียนของผู้สมัคร สว. พบประเด็นที่เป็นปัญหาจากการทำงานของเจ้าหน้าที่และ กกต. เช่น การเรียกเอกสารเกินกว่ากฎหมาย การตัดสิทธิผู้สมัคร ด้วยเหตุยังเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ทั้งที่ในเอกสารสมัครได้แนบใบลาออกของพรรคการเมืองไว้ด้วย ทั้งนี้ประเด็นการทวงสิทธิคืนที่กกต. ระบุว่าต้องร้องศาลนั้นเป็นขั้นตอนที่ยุ่งยากมมากเกินไป ซึ่งกรณีดังกล่าวขอตั้งข้อสังเกตของคุณภาพของ กกต.ในการทำงาน ที่กกต.ต้องเน้นย้ำและแก้ไข เพื่อไม่ให้มีผลกระทบ โดยเฉพาะ การลงคะแนนเลือก สว. ในวันที่ 9 มิ.ย. นี้ ที่อาจจะมีคะแนนหายจากการทำงานผิดพลาดของ กกต.