สูตร‘ล้มเลือก สว.’ จุดเปลี่ยน‘กระดานการเมือง’
สว.วันชัย ผู้อยู่ในวงอินไซด์การเมือง เปิดข้อมูล มีกลุ่มจ้อง3ล้ม หนึ่งในนั้นคือ "ล้มเลือกสว." ทีแรกเหมือนจะเป็นไปไม่ได้ แต่ "ศาลรธน." ขยับรับคำร้อง กม.เลือกสว. ต้องจับตา สูตรเปลี่ยนกระดานการเมือง
Key Point :
- สว.วันชัย สอนศิริ เปิดประเด็น 3กลุ่มรวมตัวเฉพาะกิจ ทำภารกิจ 3 ล้ม หวังเปลี่ยนกระดานการเมือง
- ล้มที่ถูกจับตา คือ ล้มเลือก สว. หลังมีกระบวนการ ยืมมือศาลปกครอง ยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ชี้ พ.ร.ป.สว. ขัดกับรัฐธรรมนูญ ม.107
- แรกเริ่ม คนทำรัฐธรรมนูญ และ กฎหมายลูก ไม่คิดว่าจะเป็นไปได้ เพราะขั้นตอนยกร่าง ทำอย่างรอบคอบ ให้ 2 องค์กรตรวจทาน
- ผ่านไป 6 ปี กฎหมายลูกที่ใช้บังคับเป็นรอบที่2 กลับมีปัญหา พ่วงการปฏิบัติของ กกต. และระเบียบที่มองว่าขัดกับเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ
- กลายเป็นปม ผสมสูตร ล้มเลือกสว. ที่ส่อลามสร้างเกมเปลี่ยนกระดานอำนาจการเมือง
การเลือก “สว.” ตามโมเดลของรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 107 กำลังถูกใช้เป็นเครื่องมือต่อท่ออำนาจของ “บางฝ่าย” หลังกระบวนการที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกแบบวางกติกาตั้งแต่การรับสมัคร การตรวจคุณสมบัติ และวิธีการเลือก ถูกตีความว่า เป็นปัญหาในทางปฏิบัติ และจำกัดสิทธิ
โดยถูกจับโยงเข้ากับ “ขบวนการ 3 ล้ม” คือ “ล้มรัฐบาล-ล้มพรรคก้าวไกล-ล้มเลือกสว.” ที่ “วันชัย สอนศิริ” เปิดประเด็นต่อสังคมให้เฝ้าระวัง และจับตา
ล่าสุดมี ความเคลื่อนไหวที่ทำให้ มองดูได้ว่า เป็นเส้นทางที่ "น่าจะเป็น" โยงไปสู่ “การล้มกระดานเลือก สว.”
จากประเด็นที่ “ศาลรัฐธรรมนูญ” รับคำร้องของ “คณะผู้สมัคร สว. จังหวัดต่างๆ" ที่ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง และคำฟ้องนั้น ส่งต่อมายัง “ศาลรัฐธรรมนูญ” เพื่อให้ชี้ขาดว่า ความของ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2561 ใน 4 มาตรา ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 107 หรือไม่
คือ มาตรา 36 ว่าด้วยการแนะนำตัวตามวิธีและเงื่อนไขที่ กกต. กำหนด พ่วงกับกรณีให้บุคคลอื่นที่ไม่ใช่ผู้สมัครสามารถช่วยเหลือผู้สมัครในการแนะนำตัว ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ กกต.กำหนดด้วย
มาตรา 40 มาตรา 41 และมาตรา 42 ว่าด้วยการเลือก สว.ระดับต่างๆ ที่เปิดช่อง “ฮั้ว” หรือ “บล็อกโหวต” ตามความที่ระบุถึงการลงคะแนนเลือกผู้สมัคร สว. ที่ให้สิทธิ “ลงคะแนนแก่ตนเองหรือไม่ก็ได้”
ความของเรื่องนี้ “ธีรยุทธ สุวรรณเกษร” ฐานะทนายความผู้รับมอบให้ดำเนินการ บอกว่า เขาเดินเรื่องยื่นต่อศาลปกครองกลาง เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมีสาระหลัก 3 ประเด็น คือ
ประเด็นแรก คือ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. 3 มาตรา นั้นขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 107 ซึ่งกำหนดไว้ในหนังสือความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ 2560 หน้า 187 บรรทัดท้ายว่า “กระบวนการเลือกสรรสว. มุ่งให้ประชาชนที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์แตกต่างหลากหลายทุกภาคส่วน ทุกสาขาอาชีพ ประสงค์เข้ามาทำหน้าที่สมัครเข้ารับเลือก และให้แต่ละสาขาอาชีพ เลือกกันเอง เพื่อหลีกเลี่ยงกลไกหรือกับดักทางการเมืองให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้”
แต่ มาตรา 40 มาตรา 41 มาตรา 42 (3) เปิดช่องให้ผู้สมัครลงคะแนนให้ตัวเองหรือไม่ก็ได้ เท่ากับว่าไม่มีมาตรการที่นำไปสู่การ “สกัดกั้น” กลไกหรือวงจรการเมืองที่แทรกแซงการเลือก
ประเด็นสอง และประเด็นสาม คือ มาตรา 36 กำหนดเกณฑ์แนะนำตัวของ สว. ตามระเบียบของ กกต. ซึ่งปล่อยฟรี “ผู้ช่วยแนะนำตัว” เท่ากับให้สิทธิ "ใครก็ได้" ทำหน้าที่ช่วยแนะนำตัว
แทนที่จะจำกัดเฉพาะผู้ที่มีสิทธิเลือก คือ ผู้ลงสมัครสว. ที่ชำระค่าธรรมเนียม
พ่วงกับการหาเสียงผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ที่เอื้อให้ผู้สมัครที่มีเครือข่ายอินเทอร์เน็ตสามารถว่าจ้างทำการตลาด เพื่อล็อกเป้า และเอื้อให้ถูกเลือก เท่ากับว่าไม่เป็นธรรมกับผู้สมัครรายอื่นที่ถูกกีดกัน ซึ่งส่อขัดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
แม้ว่าเจตนาของการยื่นเรื่อง “ธีรยุทธ” ระบุว่า ไม่มุ่งหวังจะชะลอ หรือขวางกระบวนการเลือก สว. แต่เมื่อพิจารณาในรายละเอียดแล้วจะเห็นได้ว่า อาจเปิดช่องล้มกระดานเลือก สว.ได้ ไม่ว่ากระบวนการนั้นอยู่ในขั้นตอนใด ขึ้นอยู่กับว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นความขัดกันระหว่างกฎหมายลูกกับกฎหมายแม่เมื่อใด
อย่างไรก็ดี ในกระบวนการเขียนกติกาของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว.นั้น เคยมีการตั้งข้อสังเกตว่า ไม่ควรมีข้อผิดพลาด เพราะคนที่เขียนกฎหมายประกอบ และ เขียนรัฐธรรมนูญ นั้น เป็นคณะเดียวกัน
อีกทั้งได้ผ่านการพิจารณาเนื้อหาในชั้นของ กกต.ชุดที่มี “ศุภชัย สมเจริญ” เป็นประธาน กกต. และมี “จรุงวิทย์ ภุมมา-แสวง บุญมี” ร่วมปฏิบัติหน้าที่ในสำนักงานกกต.ด้วย
พ่วงกับการตรวจทานของ “สภานิติบัญญัติแห่งชาติ” ที่มี “พรเพชร วิชิตชลชัย” ทำหน้าที่ประธาน สนช. ขณะนั้น
เมื่อมีกระบวนการกลั่นกรองจาก “มือกฎหมายชั้นเซียน” และ “ฝ่ายปฏิบัติงานของ กกต.” ไม่ควรมีประเด็นที่ถูกนำมาโต้แย้งไล่หลัง
โดยเฉพาะ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสว. ใช้บังคับมาแล้วนานถึง 6 ปี และขณะนี้อยู่ในกระบวนการเลือก สว. รอบสอง ตามโมเดล “มีชัย ฤชุพันธุ์”
ทว่า ในประเด็นที่หลายคนไม่คาดคิดว่าจะ เกิดความผิดพลาด ชาติชาย ณ เชียงใหม่ อดีตผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญ60 ฐานะกรรมการยกร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. ยอมรับมีสิ่งที่คาดไม่ถึง
และจุดนี้ ทำให้เกิดภาวะ ที่ผันเป็น “ปัจจัยหนุนเสริม” ให้ “กระบวนการล้มเลือกสว.” มีช่องทางที่จะทำสำเร็จ
พ่วงกับปัญหาต่อกระบวนการเลือก ที่มีภาพของการจัดตั้ง “มวลชน” ที่ส่อว่าจะนำไปสู่การ “บล็อกโหวต” ทำให้การเลือกสว.ไม่โปร่งใส ไม่เที่ยงธรรม รวมถึงการขับเคลื่อนของบางพรรค และบางกลุ่มการเมือง ที่หวังผลเปลี่ยนขั้วใน “สภาสูง”
โดยทั้งหมดนี้ อาจเป็นปฐมบทของ “สงครามชิงอำนาจ” ของ “ระบอบอำนาจนิยม” เพื่อเปลี่ยนเกมบนกระดานการเมือง ตามที่ “สว.วันชัย” บอกหรือไม่ ต้องคอยติดตาม.