‘ทักษิณ’ ท้ารบ ‘คนบ้านป่า’ ศูนย์รวมอำนาจ ‘ประวิตร’
เมื่อ “ทักษิณ” ท้ารบ ต้องจับตาว่า “คนบ้านป่า” จะออกแอ๊คชั่นอย่างไรบ้าง แม้จะไม่ตอบโต้ด้วยตัวเอง แต่มี “ขุนพลบ้านป่า” คอยปกป้อง “นาย” และต้องติดตามว่าหลัง “ศาลรัฐธรรมนูญ” มีคำวินิจฉัยออกมา หาก “เศรษฐา” ได้ไปต่อ สถานะพรรคร่วมรัฐบาลของ “พลังประชารัฐ” จะเป็นอย่างไร
KEY POINTS :
- "ทักษิณ ชินวัตร" ส่งสัญญาณท้ารบ "คนบ้านป่า" พุ่งเป้าทำให้วุ่นวาย เชื่อมโยงคดีคุณสมบัติรัฐมนตรีของ "เศรษฐา ทวีสิน"
- โดยเป็นที่รู้กันว่า "บ้านป่า" เป็นฐานบัญชาการของ "พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ" หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งมี "ขุนพลบ้านป่า" คอยแนะนำแผนเดินหน้าสู่ความฝัน
- หลังจากนี้ต้องจับตาความสัมพันธ์ระหว่าง "คนบ้านป่า" และ "คนบ้านจันทร์" จะเดินสู่ขั้นแตกหักกันหรือไม่
สัญญาณท้ารบจาก “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯ ส่งถึงคน “บ้านป่า” แม้จะไม่พูดชื่อชัดๆแต่หมายถึง “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ
ที่มาของ “บ้านป่า” มาจากมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด เป็นมูลนิธิที่กองทัพบกจัดตั้งขึ้นเพื่อสนองพระราชเสาวนีย์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับการอนุรักษ์ป่าในพื้นที่ 5 จังหวัด ประกอบด้วย จ.ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และสระแก้ว ครอบคลุมพื้นที่ 1.2 ล้านไร่ โดยมี “พล.อ.ประวิตร” เป็นประธานกรรมการ
ภารกิจหลักของมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด คือการฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรม และปลูกป่าเพื่ออนุรักษ์ต้นน้ำลำธาร พิทักษ์ทรัพยากรป่าและสัตว์ป่า พัฒนาชีวิความเป็นอยู่ของประชาชน
ทว่าตั้งแต่ “พล.อ.ประวิตร” มีอำนาจบารมีทางการเมือง มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด กลับกลายเป็นแหล่งพบปะของ นักการเมือง - ตำรวจ - ทหาร - ข้าราชการ - นักธุรกิจ หมุนเวียนกันเข้ามาสานผลประโยชน์ทางการเมือง
ยิ่งในช่วงหลังรัฐประหารปี 2557 “พล.อ.ประวิตร” มีอำนาจบารมีพุ่งสูงปรี๊ด ดำรงตำแหน่งรองนายกฯ ควบรมว.กลาโหม และกำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยิ่งทำให้มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด มี “บิ๊กเนม-โนเนม” พาเหรดเข้าไปพบ “พล.อ.ประวิตร”
ว่ากันว่าบรรยากาศคึกคักจนคิวยาวเหยียด จนมีคนมาคอยคัดกรองคน คอยกำหนดคิว กำหนดเวลา ทำให้การเข้าพบ “พล.อ.ประวิตร” ไม่ใช่เรื่องง่าย
ต่อมาในช่วงการเลือกตั้งและหลังเลือกตั้งปี 2562 “พล.อ.ประวิตร” ใช้มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด เป็นฐานบัญชาการทางการเมือง แม้พรรคพลังประชารัฐ จะมีที่ทำการอย่างเป็นทางการ แต่ภายหลังการประชุมพรรคพลังประชารัฐ บรรดา สส. ยกพลกันไปที่มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด โดยเรียกกันคุ้นปากว่า “บ้านป่า”
ต่อมาการเลือกตั้งปี 2566 “พล.อ.ประวิตร” ยังขับเคลื่อนการเมืองต่อ แม้จะต้องแยกทางกับ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” อดีตนายกฯ ที่แยกตัวออกไปตั้งพรรครวมไทยสร้างชาติ โดยยังใช้ “บ้านป่า” เป็นฐานบัญชาการ
หากจำกันได้หลังการเลือกตั้ง ซึ่งผลการเลือกตั้งออกมาไม่เอื้อให้ “ประวิตร-ประยุทธ์” ได้ไปต่อ ทำให้ “พล.อ.ประวิตร” ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า “บ้านป่าปิดแล้ว”
อย่างไรก็ตามเมื่อตั้งหลักได้ พรรคพลังประชารัฐอยู่ในสถานะพรรคร่วมรัฐบาล แม้ตัวของ “พล.อ.ประวิตร” จะอยู่ในสถานะ สส. เลือกเก็บตัวเงียบใน “บ้านป่า” แต่ยังมี ขุนพลพลังประชารัฐ นายทหารคนสนิท คอยพบปะพูดคุย
ที่สำคัญมี “นักยุทธศาสตร์” ทางการเมือง คอยคำนวณทิศทางการเมือง เพื่อสานฝันให้ “ลุง” ได้นั่งเก้าอี้นายกฯ แผนการต่างๆถูกเสนอเป็นขั้นตอน แต่บันไดสู่ความฝันไม่ง่ายอย่างที่คิด
ว่ากันว่าปฏิบัติการของ “กลุ่ม 40 สว.” ยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยคุณสมบัติของ “นายกฯ นิด” เศรษฐา ทวีสิน กรณีแต่งตั้ง “พิชิต ชื่นบาน” ให้ดำรงตำแหน่ง รมต. ประจำสำนักนายกฯ มาจาก “ขุนพลบ้านป่า”
รายชื่อ “กลุ่ม 40 สว.” ที่ถูกปล่อยออกมา ถูกจับความสัมพันธ์เชื่อมโยง “ลุง-น้องลุง” จน “บ้านป่า” กลับมาอยู่ในโฟกัสทางการเมือง
ดังนั้นการที่ “ทักษิณ” ออกมาเปิดหน้าชน ส่งสัญญาณท้ารบ โดยระบุว่า “หากจะมีคนวุ่นวายก็แถวบ้านในป่านั้นแหละ แต่ไม่เกี่ยวกับผม เกี่ยวกับรัฐบาล” บ่งบอกนัยคดีคุณสมบัติรัฐมนตรีของ “เศรษฐา” ไม่เกี่ยวกับคดีม.112 ของตัว “ทักษิณ” เอง
การที่ “ศาลรัฐธรรมนูญ” รับคำร้องเอาไว้วินิจฉัย แม้จะไม่สั่งให้ “เศรษฐา” หยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่ไม่มีอะไรการันตีว่า “เศรษฐา” จะอยู่รอดปลอดภัยบนเก้าอี้นายกฯ หลายคนหวั่นเกรงอิทธิฤทธิ์ของ “คนบ้านป่า” เมื่อโอกาสมาถึง ฝันที่ยิ่งใหญ่ใกล้เป็นความจริง ย่อมไม่ปล่อยให้โอกาสหลุดลอยไป
เมื่อ “ทักษิณ” ท้ารบ ต้องจับตาว่า “คนบ้านป่า” จะออกแอ๊คชั่นอย่างไรบ้าง แม้จะไม่ตอบโต้ด้วยตัวเอง แต่มี “ขุนพลบ้านป่า” คอยปกป้อง “นาย” และต้องติดตามว่าหลัง “ศาลรัฐธรรมนูญ” มีคำวินิจฉัยออกมา หาก “เศรษฐา” ได้ไปต่อ สถานะพรรคร่วมรัฐบาลของ “พลังประชารัฐ” จะเป็นอย่างไร