‘เศรษฐา’ ติดตามความพร้อม ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ซ่อมตกแต่งเรือพระที่นั่ง

‘เศรษฐา’ ติดตามความพร้อม ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ซ่อมตกแต่งเรือพระที่นั่ง

เศรษฐา ติดตามความก้าวหน้า การจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค และการซ่อมแซมการประดับตกแต่งเรือพระที่นั่ง เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567

ที่กองบังคับการ กองเรือเล็ก กรมการขนส่งทหารเรือ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ตรวจติดตามความก้าวหน้าการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค และความก้าวหน้าในการประดับตกแต่งเรือพระที่นั่ง โดยมีนายจักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พลเรือเอก อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร และคณะ ร่วมตรวจติดตามความก้าวหน้าในครั้งนี้ นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

นายกรัฐมนตรีได้รับฟังบรรยายสรุปความก้าวหน้าในการเตรียมความพร้อม การจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค จากคณะกรรมการจัดเตรียมความพร้อมขบวนเรือพระราชพิธี (กองทัพเรือ) และรับฟังบรรยายสรุปความก้าวหน้าในการประดับตกแต่งเรือพระที่นั่ง จากผู้บริหารกรมศิลปากร เมื่อรับฟังการบรรยายสรุปแล้วเสร็จ นายกฯ กล่าวเน้นย้ำเรื่องความปลอดภัย ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐาน ในฐานะที่ตนเองมาจากภาคเอกชนได้มีความภาคภูมิใจ เห็นถึงความสวยงาม และความอลังการ ถือเป็นเรื่องที่ดีงามอย่างยิ่ง พร้อมกล่าวขอบคุณหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยงานที่พยายามตอบรับเรื่องนี้ให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ในเรื่องของการท่องเที่ยวอีกด้วย โดยนายกฯ ขอให้ทีมงานประสานกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ช่วยทำให้งานพระราชพิธีฯ บรรจุในตารางการโปรโมท 

‘เศรษฐา’ ติดตามความพร้อม ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ซ่อมตกแต่งเรือพระที่นั่ง

นายกฯ กล่าวต่อไปว่า เห็นถึงความทุ่มเทและรายละเอียดการทำงาน หากมีการเก็บภาพการพัฒนาเบื้องหลัง การซ่อมแซมการจัดงานใหญ่ครั้งนี้ เชื่อว่าจะสามารถนำไปใช้โปรโมท ให้นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เห็นว่าประเทศไทยมีประเพณีและวัฒนธรรมที่งดงาม พร้อมกับมอบให้สำนักนายกรัฐมนตรีดูแลความเรียบร้อย และจัดงานครั้งนี้อย่างสมเกียรติ  

‘เศรษฐา’ ติดตามความพร้อม ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ซ่อมตกแต่งเรือพระที่นั่ง

ทั้งนี้ ภายหลังจากที่นายกฯ รับฟังการบรรยายฯ ได้รับมอบกระเช้าและหมวกประดับตราพระราชพิธีฯ สีน้ำเงินเข้ม จากกองทัพเรือ และรับมอบรูปพระพิฆเนศ จากกรมศิลปากร เป็นของที่ระลึก

จากนั้น นายกฯ ไปตรวจติดตามการซ่อมแซมการประดับตกแต่งเรือพระที่นั่ง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี และได้ประดับทองคำเปลวบนบุษบกที่ตั้งอยู่บนเรือพระที่นั่งอนันตนาคราช พร้อมพูดคุยให้กำลังใจ และชื่นชมเจ้าหน้าที่ที่ได้ร่วมแรงร่วมใจกันทำงาน รวมทั้งสอบถามเรื่องงบประมาณว่ามีเพียงพอหรือไม่ พร้อมฝากคำแนะนำถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เพิ่มความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยว

 

‘เศรษฐา’ ติดตามความพร้อม ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ซ่อมตกแต่งเรือพระที่นั่ง

ต่อจากนั้น นายกฯ ได้ไปบ่อพักเรือ แผนกเรือราชพิธี เพื่อตรวจเยี่ยมการฝึกซ้อมกำลังพลฝีพาย และชมการสาธิตการพายประกอบการเห่เรือพระราชพิธี จากกำลังพลฝีพาย 867 นาย โดยนายกฯ กล่าวให้โอวาทว่า ยินดีที่ได้มาพบกับกำลังพลทุกคนในวันนี้ พระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ด้วยขบวนพยุหยาตราทางชลมารคมีความสำคัญ และหน้าที่ที่ทุกท่านได้รับผิดชอบเป็นการร่วมแสดงความจงรักภักดีแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขอให้กำลังพลทุกคนภาคภูมิใจ และตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย เพื่อให้การจัดพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ด้วยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เป็นไปอย่างสมพระเกียรติสูงสุด

สำหรับการดำเนินการในส่วนของกรมศิลปากร จะเป็นการตกแต่งรายละเอียด เช่น วาดลวดลาย ติดกระจกเกรียบกระจกสีทำจากแร่ดีบุก ซึ่งอยู่ในความดูแลของสำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จในวันที่ 30 มิถุนายน 2567 ก่อนจะมีการอัญเชิญเรือพระที่นั่งลงน้ำ เพื่อเตรียมการในส่วนของการฝึกซ้อมฝีพาย นอกจากนี้ ระหว่างวันที่ 27 – 29 กรกฎาคม 2567 กองทัพเรือ ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาต อัญเชิญเรือพระที่นั่ง จำนวน 3 ลำ ประกอบด้วย เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 และ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช จัดแสดงแบบผูกทุ่น ประกอบกาพย์เห่เรือเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 พร้อมทั้งจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ ณ บริเวณท่าราชวรดิฐ ถนนมหาราช แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

ในส่วนการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ใช้เรือพระราชพิธี จำนวนทั้งสิ้น 52 ลำ จัดขบวนเป็น 5 ริ้ว ความยาว 1,200 เมตร กว้าง 90 เมตร โดยใช้กำลังพลประจำเรือในขบวนเรือพระราชพิธี รวมทั้งสิ้น 2,200 นาย และงานพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร กำหนดจัดให้มีขึ้นในวันที่ 27 ตุลาคม 2567