'หมออ๋อง'สั่งสอบ ปั๊มโหวตก.ม.นิรโทษกรรม เว็บสภาเผย 64.66%ไม่เห็นด้วย

'หมออ๋อง'สั่งสอบ ปั๊มโหวตก.ม.นิรโทษกรรม  เว็บสภาเผย  64.66%ไม่เห็นด้วย

"หมออ๋อง" สั่งสอบ ปมปั๊มโหวตก.ม.นิรโทษกรรม ฉบับศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนกับผู้มีสิทธิเลือกตั้ง หลังเกิดเสีงวิพากษ์วิจารณ์ พบพิรุธหลายจุด ด้านเว็บไซต์สภาเผยผลรับฟังความเห็น 64.66%ไม่เห็นด้วย

 จากกรณีเว็บไซต์รัฐสภา www.parliament.go.th เปิดรับฟังความคิดเห็นประชาชนต่อร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมประชาชน พ.ศ. .... ที่เสนอโดย น.ส.พูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนกับผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 36,723 คน ตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งเปิดรับฟังตั้งแต่ 13 พ.ค.ถึงวันที่ 12 มิ.ย.ปรากฏว่ามีผู้ไม่เห็นด้วยถึง 64.66 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่เห็นด้วย35.34 เปอร์เซ็นต์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีดังกล่าวเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากการเปิดรับฟังความคิดเห็น ที่มีการตั้งข้อสังเกตถึงความผิดปกติของเว็บไซต์ หลายจุด รวมถึงมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า มีบางส่วนเป็น IO ที่เข้ามาโหวตเห็นด้วยในวันสุดท้ายของการเปิดโหวต ในลักษณะของการ "ปั๊มโหวต"

\'หมออ๋อง\'สั่งสอบ ปั๊มโหวตก.ม.นิรโทษกรรม  เว็บสภาเผย  64.66%ไม่เห็นด้วย

 

ล่าสุด  "หมออ๋อง" ปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาฯ คนที่ 1 ทวีตข้อความผ่าน X โดยระบุว่า ผมได้สั่งการให้มีการตรวจสอบ IP address และความผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับเว็บไซต์รับฟังความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายแล้วนะครับ จะแจ้งให้ทุกท่านทราบข้อเท็จจริงโดยเร็วครับ #พ.ร.บ.นิรโทษกรรม”

 

สำหรับร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวมีการเปิดรับฟังตั้งแต่ 13 พ.ค. ถึงวันที่ 12 มิ.ย.

โดยมีสาระสำคัญ คือ กำหนดให้นิรโทษกรรมแก่การกระทำความผิดที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 19 ก.ย. 2549 จนถึงวันที่พ.ร.บ.มีผลใช้บังคับ โดยมีคณะกรรมการนิรโทษกรรมประชาชนเป็นผู้วินิจฉัยการกระทำของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองหรือการแสดงออกทางการเมืองที่สมควรได้รับการนิรโทษกรรม เว้นแต่คดีตามร่างมาตรา 5 ซึ่งได้รับการนิรโทษกรรมโดยคณะกรรมการไม่ต้องพิจารณาวินิจฉัย 

1.คดีความผิดตามประกาศและคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หรือคำสั่งหัวหน้าคสช. 2.คดีพลเรือนที่ถูกดำเนินคดีในศาลทหารตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 37/2557 และฉบับที่ 38/2557 3.คดีตามฐานความผิดในมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา

4.คดีตามฐานความผิดในพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 5.คดีตามฐานความผิดในพ.ร.บ.ออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 6.คดีตามฐานความผิดที่เกี่ยวโยงกับคดีข้างต้น

ทั้งนี้ การกระทำของบรรดาเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ชุมนุมประท้วงหรือการสลายการชุมนุมที่เกินสมควรกว่าเหตุ หรือเป็นความผิดตามมาตรา 113 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ไม่ได้รับนิรโทษกรรม และหากการกระทำของบุคคลที่ได้รับนิรโทษกรรมตามพ.ร.บ.นี้ สร้างความเสียหายแก่บุคคล ซึ่งไม่ใช่องค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ ผู้เสียหายนั้นยังคงมีสิทธิในการเรียกร้องค่าเสียหายทางแพ่งจากผู้กระทำ