'กก.ประชามติ' เตือนอุปสรรค ขวางแก้รธน.ใหม่- 'กก.' สบช่องชงแก้รายมาตรา
ส.พระปกเกล้า จัดเวทีประชามติสู่รธน.ใหม่ "นิกร" แย้มมีหลายอุปสรรคขวาง ประเมิน "รัฐบาลเพื่อไทย" ไม่ทันได้ใช้ ด้าน "ก้าวไกล" เฉลยเตรียมยื่นแก้รธน.รายมาตรา หวังอัพเกรดของปี60
สำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไต สถาบันพระปกเกล้า ร่วมกับ มูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ จัดเวทีเสวนา ทางออกประชามติ ปูทางสู่รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย โดยมีนักวิชาการและนักการเมืองที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม
โดยนายจาตุรนต์ ฉายแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวตอนหนึ่งว่า การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ หรือแก้รัฐธรรมนูญมาตราต่างๆ ต้องทำประชามติ ตามหลักเกณฑ์ของการทำประชามติ ทั้งนี้ตนมองว่าพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ต้องแก้ไข โดยให้เป็นตามหลักการเดียวกันกับการออกเสียงเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 คือ ใช้เสียงข้างมาก เพราะการกำหนดหลักเกณฑ์ที่รวมเสียงไม่เห็นด้วยจะทำให้เกิดข้อสรุปว่าประชาชนทั้งประเทศไม่เห็นด้วยกับการแก้ไข จะทำให้การร่างรัฐธรมนูญทำได้ยาก หรือ ทำไม่ได้ ดังนั้นควรแก้ไขรายละเอียด รวมถึงประเด็นอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น การรณรงค์ได้อย่างเสรี นอกจากนั้นควรมีประเด็นที่ถกเถียงกันคือ คำถามประชามติควรเป็นอย่างไร
ขณะที่นายพงษ์เทพ เทพกาญจนา กรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติ กล่าวว่า การแก้ไขพ.ร.บ.ประชามติ ของสภาฯ วันที่ 18 มิ.ย. นี้ เชื่อว่าจะเสร็จได้ไม่เร็ว เนื่องจากว่ามีประเด็นที่ต้องแก้ไขหลายประเด็น และเมื่อพิจารณาช่วงของการเปิดสมัยประชุมสามัญ ช่วง ก.ค. - ต.ค. นั้น เชื่อว่าจะไม่เสร็จ และเมื่อต้องนำเข้าสว. ที่ยังไม่ทราบว่าจะเป็น สว.เก่า หรือ สว.ใหม่ ดั้งนั้นตนเชื่อว่า การแก้ไขพ.ร.บ.ประชามติต้องใช้เวลาและกว่าจะประกาศใช้ได้ จะเกิดขึ้นช่วงปลายปี 2567 ส่วนการทำประชามติเพื่อนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ต้องใช้เวลาอีก 3-4เดือนหลังจากนั้น และเมื่อทำแล้วนำไปสู่การกำหนดให้สภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) อาจถูกโต้แย้งว่าขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 166 หรือไม่อีก อย่างไรก็ดีตนนับสนุนให้ผู้ยกร่างรัฐธรรมนูนั้นยึดโยงกับประชาชนให้มาก และอยากเห็นให้ สสร. มาจากเลือกโดยตรงของประชาชน
ขณะที่ นายนิกร จำนง โฆษก กรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติ กล่าวด้วยว่าการแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติ ในสภา วันที่ 18 มิ.ย. ตนเชื่อว่าจะเสร็จได้ภายในวันเดียว เนื่องจากเป็นการรวมเนื้อหาฉบับของพรรคก้าวไกล ฉบับของรัฐบาลเข้าด้วยกัน ซึ่งในขั้นตอนดังกล่าวจำเป็นต้องเร่งทำ เพราะล่าช้ามา 4 เดือนแล้ว และเมื่อพ.ร.บ.ประชามติผ่านแล้ว กระบวนการต่อไป คือให้ สำนักงานปลัดสำนักนายกฯ (สปน.) ประชุมสำนักงบประมาณ เพื่อพิจารณาถึงงบประมาณ และ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อกำหนดวันออกเสียงประชามติ
“ผมมองว่าขณะนี้มีหลายประเด็นที่ต้องระวัง เพราะมีคนจ้องล้มการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดังนั้นต้องอย่าทำให้มีเป้าได้ เช่น การแก้ไขพ.ร.บ.ประชามตินั้นต้องใช้กระบวนการรัฐสภาหรือไม่ เพราะเดิมใช้การประชุมร่วม ทั้งนี้ได้สอบถามกฤษฎีกาแล้ว ตีความร่างกฎหมายฉบับใดเป็นปฏิรูปหรือไม่ ให้ครม. ตัดสิน ซึ่ง ครม.เห็นว่าควรใช้ระบบการพิจารณากฎหมายตามปกติ นอกจากนั้นในการกำหนดให้มี สสร. ทำรัฐธรรมนูญใหม่ จะขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 166 หรือไม่ ดังนั้นต้องระวังให้ดี” นายนิกร กล่าว
นายนิกร กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ตนเชื่อว่าการแก้รัฐธรรมนูญใหม่จะเสร็จในรัฐบาลปัจจุบัน แต่ตนไม่กล้าพูดว่าจะเสร็จแน่ๆ เพราะเมื่อได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ รัฐบาลปัจจุบัน หรือ คนที่ทำอาจไม่ได้ใช้ เนื่องจากต้องมีกระบวนการทำกฎหมายลูกที่ต้องใช้เวลา 6 เดือน อย่างไรก็ดีไม่ต้องกังวลว่าจะไม่มีรัฐสภาทำกฎหมาย เพราะสิ่งที่เตรียมจะเขียนคือ ต่อให้สภาฯยุบ หรือไม่มีรัฐบาล สสร. จะยังอยู่ต่อไป แต่หากเกิดกรณีที่รัฐบาลปัจจุบันทำเบ็ดเสร็จ จะเป็นเรื่องดี และฝ่ายค้านจะไม่เหลือเลย
ทางด้านนายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ และโฆษก พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ในกรณีที่คาดการณ์ว่าการทำรัฐธรรมนูญใหม่อาจใช้เวลานานและไม่ทันนั้น พรรคก้าวไกลเตรียมเสนอการแก้ไขเป็นรายมาตรา เป็นรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ฉบับแก้ไข เพื่อให้ดีกว่าฉบับเดิม ทั้งนี้ยอมรับในข้อกังวลจากหลายฝ่ายต่อกระบวนการจ้องตีความกฎหมาย แต่ตนมองว่ามีวิธีที่อาจผ่านไปได้ เช่น ข้อถกเถียงของที่มาของ สสร. ว่าจะมาจากการเลือกตั้ง หรือ รูปแบบอื่น การออกแบบคำถามประชามติสามารถออกแบบได้ว่ามีรูปแบบอื่นที่มากกว่าหนึ่งวิธีให้ประชาชนตัดสินใจ เป็นต้น
ทางด้านนายศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า ตนกังวลต่อร่างแก้ไขพ.ร.บ.ประชามติ ฉบับของพรรคภูมิใจไทย ที่เสนอแก้ไขเนื้อหาที่อาจนำไปสู่การออกเสียงประชามติไม่สำเร็จ ตามเนื้อหาที่ระบุว่า ต้องมีคนลงประชามติมากกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ ถือว่าต้องเป็นเสียงข้างมากของผู้มาออกเสียง ผลประชามติต้องมากกว่าคนที่ไม่แสดงความเห็น
“ผมมองว่าฉบับของพรรคภูมิใจไทยนั้นน่ากังวล เพราะหลักการดังกล่าวนั้นทำให้การแก้ไขกฎหมายประชามติล่าช้า เมื่อเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของสภา และทำให้รัฐธรรมนูญใหม่เกิดไม่ได้” นายศิโรตน์ กล่าว.