ชำแหละยุทธศึก อบจ.ปทุมฯ ใหญ่ปะทะใหญ่ ‘สีส้ม’เกียร์ว่าง

ชำแหละยุทธศึก อบจ.ปทุมฯ ใหญ่ปะทะใหญ่ ‘สีส้ม’เกียร์ว่าง

“บ้านใหญ่เขาปรับตัว เขาเอาท้องถิ่นได้ เขาสู้กับกระแสได้ กระแสสีส้มยังไม่กินลึกเข้ามาในระดับท้องถิ่น ฐานเสียงบ้านใหญ่เขาแน่น” 

ศึกชิงเมืองปทุมธานี “ชาญ พวงเพ็ชร์” ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย คว่ำแชมป์เก่า “บิ๊กแจ๊ส” พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผู้สมัครอิสระ ที่มีเงาของพรรคสีน้ำเงิน คอยหนุนหลัง

โดยการนับคะแนนอย่างเป็นทางการ “ชาญ” ได้ 203,032 คะแนน แบ่งเป็นคะแนนจากอำเภอต่างๆ ดังนี้ ลำลูกกา 36,369 คลองหลวง 50,068 ธัญบุรี 29,762 เมืองปทุมธานี 35,990 ลาดหลุมแก้ว 18,940 สามโคก 20,392 หนองเสือ 11,511 คะแนน

“พล.ต.ท.คำรณวิทย์” ได้ 201,212 คะแนน แบ่งเป็นอำเภอต่างๆ ได้แก่ ลำลูกกา 51,011  คลองหลวง 43,152 ธัญบุรี 35,281 เมืองปทุมธานี 35,281 ลาดหลุมแก้ว 13,098  สามโคก 5,918 หนองเสือ 13,100 คะแนน

ปัจจัยหลักถูกมองว่า “8 บ้านใหญ่” ที่สนับสนุน “ชาญ” คอนโทรลแต้มการเมืองได้ เพราะหากย้อนไปในปี 2563 บรรดา “บ้านใหญ่” เคยสนับสนุน “พล.ต.ท.คำรณวิทย์” มาก่อน แต่หลังจากมีปมขัดแย้งจนต้องแยกทางกันเดิน

ขณะเดียวกันการออกมาใช้สิทธิเพียงร้อยละ 48 เทียบกับการเลือกตั้งปี 2566 มีคนออกมาใช้สิทธิร้อยละ 70 ถูกมองว่าเป็นเพราะ “แฟนคลับสีส้ม” ไม่มีตัวเลือก จึงนอนหลับทับสิทธิ

รายการ “คมชัดลึก” เนชั่นทีวี 22 วิเคราะห์ศึกชิงนายก อบจ.ปทุมธานีครั้งนี้ โดยมี “สติธร ธนานิธิชาติ” ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า “พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์” อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมวิเคราะห์

“สติธร” มองว่า จากจำนวณผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งจำนวนลดไปเยอะ ทำให้ทั้งคู่คะแนนเลือกตั้งลดไป ครั้งที่แล้ว พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ลงในนามพรรคเพื่อไทย ขณะที่นายชาญลงในนามอิสระ แต่มีเงาของพรรคภูมิใจไทยอยู่ ทำให้คะแนนสลับกัน แต่ที่ไม่ลงคะแนน และบัตรเสียง มีกว่า 4 หมื่นคะแนน ซึ่งอาจเป็นคะแนนของสีส้ม ที่เขาไม่มีตัวเลือก แต่ยังต้องการรักษาสิทธิของตัวเอง

ชำแหละยุทธศึก อบจ.ปทุมฯ ใหญ่ปะทะใหญ่ ‘สีส้ม’เกียร์ว่าง

“คนอาจจะบอกว่า พล.ต.ท.คำรณวิทย์ มีสีน้ำเงินบวกสีส้มหรือไม่ แต่ปรากฏว่า มีคนมาบ้าง แต่ไม่มาตามนัดสักเท่าไร ปี 2563 อาจจะมีคนสีส้มที่ลงคะแนนให้ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ แต่มีจำนวนน้อย ทำให้ไม่สามารถพลิกเกมมาชนะนายชาญได้”

สำหรับฐานเสียงของคนเสื้อแดง ต้องแยกเป็นอำเภอ เช่น ลำลูกกา ธัญบุรี ยังอยู่กับ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ซึ่งอาจจะบาดเจ็บจากการรัฐประหารปี 2557 จึงจำเป็นต้องย้ายค่าย แต่คนกลุ่มนี้ ในสายคนเสื้อแดง ถือว่าเข้มข้น จึงยังหนุน พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ส่วนอำเภออื่นที่เชียร์คุณทักษิณ ก็ยังอยู่กับเพื่อไทย

"สติธร" มองเกมบ้านใหญ่ว่า ตอนนี้บ้านใหญ่ต้องคำนวณว่า จะรับดีลของพรรคการเมืองไหน อย่างปทุมธานี บ้านใหญ่เขาจะคำนวณว่าจะลงทรัพยากรอะไรบ้าง ถ้าพรรคเพื่อไทยมาบวกด้วย เขาจะคำนวณว่ามีโอกาสชนะไหม ถ้ามีโอกาสชนะเขาก็จะรวมด้วย แต่ถ้าคำนวณว่าพรรคมาบวกแล้ว เขาอาจจะไม่ชนะ เขาก็ไม่เอา

ขณะเดียวกัน เรามองสีส้ม เขาก็จะสบายใจ เพราะดูคนออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง สส. ปี 2566 มีถึงร้อยละ 78 แต่ครั้งนี้มีร้อยละ 48 หายไปร้อยละ 30 หากร้อยละ 30 เลือกสีส้มจะร้อยละ 90 ปทุมธานีมีผู้มีสิทธิ 1 ล้านคน คำนวณได้ว่ามีคนอีก 270,000 ที่จะเลือกสีส้ม ซึ่งจะชนะนายชาญ และพล.ต.ท.คำรณวิทย์

“คะแนนวันนี้ ทั้งสองคนคือบ้านใหญ่ปะทะกันเอง โดยสีส้มยังไม่ออกมา ถ้าสีส้มออกมา ก็จะทำให้เกมเปลี่ยน” สติธร ระบุ

ชำแหละยุทธศึก อบจ.ปทุมฯ ใหญ่ปะทะใหญ่ ‘สีส้ม’เกียร์ว่าง

 ขณะที่ “พิชญ์” มองว่า คนจำนวนมากสนใจเรื่องปทุมธานี เพราะมองเงื่อนไขระดับชาติ แต่กลับมีปรากฎการณ์ลาออกเสียก่อน เพราะเป็นเกมของสีน้ำเงิน ที่ต้องการเข้ามาคุมพื้นที่ อาจจะทำให้คนสั่งสอน ครั้งนี้ถูกอ้างว่าพล.ต.ท.คำรณวิทย์ เปลี่ยนไปอยู่สีน้ำเงิน นี่คือสิ่งที่คนนอกมองปทุมธานี

ส่วนอีกมุมหนึ่งคนปทุมธานี เขาจะมองว่า อบจ. เป็นคนเลือกตั้งท้องถิ่นเป็นใคร เราต้องคุยใหม่ว่า เครือข่ายทางการเมือง โครงสร้างอำนาจมันซ้อนทับกัน เราจะเห็นการเกาะเกี่ยวของผู้สมัคร ผู้เลือก และพรรคการเมือง เรายังตีกันไม่แตกว่า การชนะกัน 1,000-2,000 เป็นชัยชนะของพรรคเพื่อไทยจริงหรือไม่

“เราต้องมองว่าเขาเกาะเกี่ยวกับ อบจ. อย่างไร เกาะเกี่ยวกับเทศบาลอย่างไร เขาไม่ได้เชื่อมโยงกับโหวตเตอร์โดยตรง เขาเชื่อมโยงกับผู้สมัครโดยตรง มีการติดป้ายบ้านใหญ่ เราจึงต้องเจาะว่าแต่ละฝ่ายเขาวางหมากอย่างไร เรารู้ไหมว่าเขามีเครือข่ายอย่างไร นายชาญเป็นผู้ใหญ่บ้าน เป็นกำนัน อยู่กับบ้านใหญ่ ส่วนพล.ต.ท.คำรณวิทย์ ภาพมันอีกอย่างหนึ่ง”

พิชญ์ มองว่า ถ้าเราจะมองให้ขาดต้องมอง อำเภอสามโคก ซึ่งคะแนนทิ้งห่างกันมาก เนื่องจากคนมองนายชาญ แตกต่างจากมองพล.ต.ท.คำรณวิทย์ เรื่องเล่าของนายชาญคือ คนอำเภอสามโคก เคยมาช่วยตอนน้ำท่วม ถ้าถามพล.ต.ท.คำรณวิทย์ อาจจะมองไม่เห็น แต่ถ้าถามคนอำเภออื่น อาจจะมอง พล.ต.ท.คำรณวิทย์ดีกว่า

“กระบวนการที่เรามั่นใจว่านายก อบจ. ลาออกก่อน เพื่อช่วย สจ.ให้สู้ต่อ แล้ว สจ.เขาจะช่วยพล.ต.ท.คำรณวิทย์มากน้อยแค่ไหน แล้วที่คะแนนเปลี่ยนในช่วงสุดท้าย เราต้องดูว่าอำเภอไหนคะแนนมาในช่วงท้าย ซึ่งเป็นอำเภอเมืองเข้ามาท้ายสุด ซึ่งอำเภอเมือง นายชาญชนะ แสดงว่าพื้นที่เมืองคนจะเลือก พล.ต.ท.คำรณวิทย์ มันไม่ใช่”

“พิชญ์” มองว่า ครั้งนี้เป็นชัยชนะของนายทักษิณ แต่เราต้องดูตัว สจ. ด้วย รอบที่แล้วพล.ต.ท.คำรณวิทย์ ก็ชนะไม่ขาด ทำให้คะแนนมันบี้กันทุกพื้นที่ เราย้อนดูได้ว่าแต่ละทีมคุมเสียงได้ประมาณไหน แต่คำถามว่า 3 หมื่นกว่าที่ออกไปโหวตโน แสดงว่ามันต้องมีอะไรสักอย่างที่ทำให้เขาไปโหวตโน เขาโหวตโนเพราะไม่ยากได้พรรคเพื่อไทย ก็เป็นไปได้ โหวตโนเพราะไม่อยากได้พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ก็เป็นไปได้

“มันต้องตีความทั้งสองฝ่าย เราอาจจะตีความว่าสีส้มมีบทบาทในพื้นที่จริง แต่คำถามคือสีส้มมีบทบาทที่จะกุมชัยชนะทั้งหมด มันอาจจะยังไม่ใช่ แต่มีบทบาททำให้เกมเปลี่ยน อะไรที่ไม่ให้ก็ไม่ให้ได้ อย่าลืมว่าปทุมธานีก็ไม่ใช่สีส้มทั้งหมด”

พิชญ์ มองอีกว่า ขณะนี้มีทฤษฎีใหม่กับสีน้ำเงิน ถ้าคุณไม่อยากได้สีน้ำเงิน ให้เอาสื่อไปเจาะ ตรงไปที่สื่อมองไม่เห็นสีน้ำเงินมาแน่ ถ้ามีคนเปิดตัวว่าสีน้ำเงิน อาจจะทำให้สีน้ำเงินพลาด ที่ไหนที่คนไม่สนใจ ที่นั่นสีน้ำเงินจะมา

ชำแหละยุทธศึก อบจ.ปทุมฯ ใหญ่ปะทะใหญ่ ‘สีส้ม’เกียร์ว่าง

“อีกอย่างที่มองได้คือ ถ้าคุณทักษิณลงแรงขนาดนี้ ถ้าไปถึงระดับประเทศ เขาจะทำได้หรือไม่ เพราะมันไม่ใช่แค่กลไกภายในจังหวัด แต่ปทุมธานีเราเห็นรายละเอียดของบ้านใหญ่หลายหลัง มันเยอะ นายชาญ ชนะไม่เยอะ ทำให้จังหวัดอื่นเสี่ยงขึ้นมาทันที คำถามคือถ้าบ้านใหญ่ลงทุนมาเชื่อมกับพรรค แล้วชนะแค่นี้มันจะคุมไหม แล้วถ้าพล.ต.ท.คำรณวิทย์ มาเชื่อมกับพรรคอาจจะมีโอกาสชนะไหม”

เมื่อถามว่า หากมองการเมืองในพื้นที่ปริมณฑลเทียบกรณีของปทุมธานี มันจะส่งผลอย่างไร “พิชญ์” มองว่า มันไม่ง่าย เราต้องกลับไปเข้าใจท้องถิ่นด้วยว่าเขามองอย่างไร ต่อให้เขาไม่เลือกระดับชาติ แต่เขามองว่าคนนี้ทำงานดี เขาก็เลือก คนท้องถิ่นเขาก็แยก

“บ้านใหญ่เขาปรับตัว เขาเอาท้องถิ่นได้ เขาสู้กับกระแสได้ กระแสสีส้มยังไม่กินลึกเข้ามาในระดับท้องถิ่น ฐานเสียงบ้านใหญ่เขาแน่น” พิชญ์ ระบุ

“สติธร” และ “พิชญ์” มองตรงกันว่า ระดับท้องถิ่นคนออกมาเลือกตั้งน้อย สนามท้องถิ่นยังมั่นคงปลอดภัยสำหรับบ้านใหญ่ อีกทั้งกติกาไม่เอื้อให้คนออกไปเลือกเยอะ ไม่มีการเลือกตั้งล่วงหน้า ไม่มีอะไรที่จะปลุกคนได้