'รมว.ยธ.' แจงสภาฯ เตรียมแก้กฎกระทรวง ให้นักโทษการเมือง รับโทษนอกคุก

'รมว.ยธ.' แจงสภาฯ เตรียมแก้กฎกระทรวง ให้นักโทษการเมือง รับโทษนอกคุก

"ทวี" ตอบกระทู้ ปมเหตุ "บุ้ง ทะลุวัง" เสียชีวิต เพราะ เสียสมดุลเกลือแร่ในเลือด-หัวใจโต พร้อมเผยเตรียมแก้กฎกระทรวง ให้นักโทษการเมือง รับโทษนอกคุก หากศาลเห็นด้วย

ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ช่วงกระทู้ถามสด พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ตอบกระทู้ถามสดของ น.ส.ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สส.กทม. พรรคก้าวไกล ต่อการตรวจสอบการเสียชีวิตของ น.ส.เนติพร เสน่ห์สังคม หรือบุ้ง ทะลุวัง ในระหว่างการคุมขังที่เรือนจำ  ตอนหนึ่งว่า เรื่องดังกล่าวกรมราชทัณฑ์ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนข้อเท็จจริง ซึ่งการเสียชีวิตของน.ส.เนติพรไม่พบร่องรอยการทำร้ายร่างกาย หากอ้างอิงจากใบมรณบัตรและการตรวจพิสูจน์ของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติระบุว่า “ การเสียชีวิตเกิดจากการเสียสมดุลเกลือแร่ในเลือด ร่วมกับโรคหัวใจโต” ขณะที่ภาพกล้องวงจรปิดในคืนเกิดเหตุพบว่าน.ส.เนติพรได้นอนหลับพักผ่อนเป็นปกติ ก่อนที่เวลา 06.12 น. น.ส.เนติพรจะได้ลุกขึ้นมานั่งที่เตียง ก่อนจะมีการคว่ำหน้าลงและชักกระตุก

"ในรายงานมีการระบุว่าการเสียชีวิตที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ แต่ระหว่างที่ช่วยยื้อชีวิตนั้นอาจจะเป็นปรากฏการณ์ที่เหมือนการเสียชีวิตแล้ว แต่ตนยืนยันว่าการดำเนินการของกรมราชทัณฑ์ เป็นไปตามวิชาชีพมาตรฐานสากล และหลักทางการแพทย์ ส่วนรายละเอียดอื่นขอให้รอศาลที่จะมีความเที่ยงธรรมมากกว่า" รมว.ยุติธรรม ชี้แจง

พ.ต.อ.ทวี กล่าวด้วยว่า ส่วนการดูแลเรื่องสุขภาพของผู้ต้องขัง ในปี 2566 มีผู้ต้องขังที่เสียชีวิต  750 คน คิดเป็น 2% ขณะที่การเสียชีวิตด้านนอกกรมราชทัณฑ์นั้นอยู่ที่ 7.9% สรุปว่าอยู่ในเรือนจำ อยู่ในราชทัณฑ์เสียชีวิตน้อยกว่า ทั้งนี้ เมื่อตนเข้ามาเป็นรัฐมนตรีก็พยายามดูว่าจะปฏิรูปกระทรวงยุติธรรม และปฏิรูปให้ราชทัณฑ์เป็นสถานที่ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ซึ่งจะต้องเอางบ สปสช.มาช่วย รวมถึงจะขอให้ราชทัณฑ์เป็นสถานฟื้นฟูสภาพทางสังคม และต้องให้เขามีเวลาในการที่เตรียมสู้คดี เมื่อไปเรือนจำก็ไม่ควรที่จะต้องใส่ชุดนักโทษ หรือหากอะไรที่เป็นวัฒนธรรมเดิมแล้วเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ก็ขอให้มาพูดคุยกัน ผมจึงพูดเสมอว่าดินแดนแห่งนี้เป็นดินแดนแห่งสร้างโอกาส เป็นการสร้างคนเพื่อไปสร้างชุมชนสร้างครอบครัว

พ.ต.อ.ทวี กล่าวอีกว่า สำหรับเรื่องคดีทางการเมืองนั้นเป็นเรื่องที่ตนให้ความสำคัญ โดยสถิติปัจจุบันรวมถึงคดีเกี่ยวกับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มีอยู่ประมาณ 25 คน และช่วงหลังศาลให้ประกันตัวแล้ว ขณะนี้มีความพยายามที่จะทำตามหลักที่ว่าตราบใดที่ศาลยังไม่ตัดสินถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ และพยายามที่จะผลักดันการแก้ไขกฎกระทรวง ในมาตรา 89/1 ซึ่งหากศาลเห็นด้วยอาจจะขอว่าไม่ต้องเข้ามาอยู่ในราชทัณฑ์ ให้อยู่บ้านได้ แล้วติดกำไรอีเอ็ม  นอกจากนั้นจะผลักดันการปฏิรูปในเรื่องของการฝึกอาชีพ โดยให้ผู้ที่ออกจากราชทัณฑ์อย่างน้อยควรมีเงินเก็บสัก 10,000-100,000 บาท.