1 ปี 'เศรษฐา ทวีสิน' เศรษฐกิจติดหล่ม เรตติ้ง ‘นายกฯ - รัฐบาล - เพื่อไทย’ ลดฮวบ

1 ปี 'เศรษฐา ทวีสิน' เศรษฐกิจติดหล่ม เรตติ้ง ‘นายกฯ - รัฐบาล - เพื่อไทย’ ลดฮวบ

1 ปี 'เศรษฐา ทวีสิน' เศรษฐกิจติดหล่ม เรตติ้ง ‘นายกฯ - รัฐบาล - เพื่อไทย’ ลดฮวบ จับตาปรับยุทธศาสตร์ เน้นพีอาร์เชิงรุก

KEY POINTS :

  • ใกล้ครบขวบปีรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน ท่ามกลางความหวังจะกอบกู้ประเทศให้พ้นวิกฤติเศรษฐกิจ แต่ระยะเวลาผ่านไปสถานการณ์จากวิกฤติ เดินเข้าสู่ขั้นวิกฤติกว่า
  • ต้องยอมรับว่าหลายนโยบายของ "เพื่อไทย" ยังไม่ถูกขับเคลื่อนเต็มกำลัง โดยเฉพาะนโยบาย แจกหมื่นดิจิทัลวอลเล็ต ยังถูกกับดักกฎหมาย จนยืดเยื้อออกจากกำเนิดการเดิม
  • เมื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจไม่ได้ เรตติ้งของ เศรษฐา-รัฐบาล-เพื่อไทย จึงอยู่ในแดนลบทั้งหมด จึงต้องจับตาการแก้เกมว่า "บิ๊กรัฐบาล" จะกอบกู้แต้มการเมืองกลับมาได้บ้างหรือไม่

1 ปี \'เศรษฐา ทวีสิน\' เศรษฐกิจติดหล่ม เรตติ้ง ‘นายกฯ - รัฐบาล - เพื่อไทย’ ลดฮวบ

ใกล้ครบขวบปี "รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน" รัฐบาลที่มาจากการพลิกขั้ว-ผสมขั้ว โดยพรรคเพื่อไทย หันมาจับมือกับพรรคขั้วอนุรักษนิยม ผลักพรรคอันดับ 1 อย่าง "ก้าวไกล" ไปอยู่ขั้วฝ่ายค้าน

การกลับเข้าสู่อำนาจของ "เพื่อไทย" ภายใต้การนำของนายกฯ เศรษฐา ปฏิเสธไม่ได้ว่า เป็นรัฐบาลที่ประชาชนตั้งความหวังในเรื่องเศรษฐกิจไว้มาก เนื่องจากอยู่ในช่วงที่ประเทศกำลังเผชิญปัญหารอบด้าน ทั้งเรื่องกำลังซื้อของประชาชนที่ลดน้อยถอยลง ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูง การเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอตัวต่อเนื่อง

โดยตั้งแต่การหาเสียงเลือกตั้ง รัฐบาลเพื่อไทยได้ชูนโยบายเศรษฐกิจเป็นนโยบายหลัก เช่น การขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจของประเทศขยายตัวได้เฉลี่ย 5% ต่อปี การกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 5 แสนล้านบาทด้วยโครงการแจกเงิน 10,000 บาทในกระเป๋าเงินดิจิทัลวอลเล็ต การลดค่าครองชีพ และการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้ได้วันละ 600 บาท ภายในระยะเวลา 4 ปีของรัฐบาล เป็นต้น

รัฐบาลเศรษฐาเริ่มต้นทำงานในเดือนก.ย.2566 โดยนายกฯ เศรษฐา ควบตำแหน่ง รมว.คลัง ซึ่งถือได้ว่าเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลเอง แต่ปรากฏว่า ผลงานในเรื่องของการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ และการผลักดันนโยบายเศรษฐกิจกลับไม่ชัดเจน

ด้วยภารกิจที่เน้นการลงพื้นที่ต่างๆ ในประเทศ และเดินทางไปต่างประเทศ ซึ่งนายกฯ เศรษฐาวางแนวทางการทำงานของตัวเองเอาไว้แต่ต้น ทำให้ไม่มีเวลาโฟกัสในด้านเศรษฐกิจเต็มที่ ในที่สุดจึงได้หาตัวช่วย โดยปรับครม.ดึง “พิชัย ชุณหวชิร” เข้ามาดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง รับบทคุมนโยบายการคลัง และเริ่มมีการประชุมรัฐมนตรี และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านเศรษฐกิจ ในลักษณะ ครม.เศรษฐกิจ (ซึ่งจะไม่ได้ฟอร์มทีมไว้แต่ต้น) เพื่อขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล

ต้องยอมรับว่า ผลงานในช่วงเกือบขวบปีแรกของรัฐบาลเศรษฐาในเรื่องเศรษฐกิจ ถือว่ายัง "สอบไม่ผ่าน"

โดยสะท้อนได้จาก ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจที่ออกมา บ่งบอกได้ว่า รัฐบาลยังทำได้ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ เพราะตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ในไตรมาสที่ 1 ของปีนี้ ขยายตัวได้เพียง 1.5% ต่ำที่สุดในอาเซียน

โดยหน่วยงานเศรษฐกิจต่างๆ ปรับลดคาดการณ์จีดีพีไทยในปีนี้เหลือเฉลี่ย 2.4-2.5% โดยในส่วนสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทยโตต่ำในไตรมาสแรกของปี มาจากการใช้จ่ายภาครัฐ ทั้งการอุปโภค และการลงทุนภาครัฐที่ชะลอตัวลงอย่างมาก เนื่องจากความล่าช้าของการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ซึ่งกว่าจะบังคับใช้ได้ คือเดือนพ.ค.ของปีนี้

 

 

ขณะเดียวกัน ความล่าช้าของงบประมาณรายจ่ายปี 2567 ส่วนหนึ่งมาจากโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ที่รัฐบาลมีการขยับปรับเปลี่ยนวงเงินงบประมาณ เพื่อให้งบประมาณปี 2567 ส่วนหนึ่ง มารองรับโครงการนี้ 

แม้จะมีการพยายามปรับปรุงงบประมาณรายจ่ายปี 2567 หลายครั้ง แต่ในที่สุดรัฐบาลก็ต้องมีการออก พ.ร.บ.รายจ่ายงบประมาณเพิ่มเติมในปี 2567 เป็นงบกลางปี วงเงินประมาณ 1.22 แสนล้านบาท

ทำให้ส่งผลตามมาในเรื่องของงบประมาณ และหนี้สาธารณะภาพรวมของประเทศ ที่เห็นจากการปรับแผนบริหารหนี้สาธารณะปี 2567 ครั้งที่ 2 ที่รัฐบาลมีการก่อหนี้ใหม่อีก 2.7 แสนล้านบาท ดันให้ตัวเลขหนี้สาธารณะต่อจีดีพี ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 65.05% เมื่อสิ้นปีงบประมาณ

ขณะเดียวกัน รัฐบาลได้พยายามผลักดันงบประมาณลงไปในท้องถิ่น และกลุ่มจังหวัด เห็นได้จากการจัดการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่อย่างเป็นทางการ หรือ "ครม.สัญจร" มีมติเห็นชอบในหลักการ โครงการตามผลการประชุมบูรณาการรวม ไปแล้ว 80 โครงการ วงเงินทั้งสิ้น 11,648.93 ล้านบาท

ส่วนความคืบหน้าของโครงการดิจิทัลวอลเล็ต มีการเลื่อนไทม์ไลน์การแจกเงินออกมาเป็นระยะๆ จากปลายปี 2566 มาเป็นช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2567 และล่าสุด ขยับเวลามาเป็นไตรมาสที่ 4 ของปีนี้

โดยนโยบายนี้ มีการขับเคลื่อนอย่างยากลำบาก ทั้งในเรื่องของกฎหมายการเงินการคลัง วิธีการทางงบประมาณ รวมทั้งการวางระบบหลังบ้าน ทั้งระบบลงทะเบียน และระบบธุรกรรมทางการเงินขนาดใหญ่

ล่าสุด “จุลพันธุ์ อมรวิวัฒน์” รมช.คลัง ออกมายืนยันว่าภายในเดือนก.ค.นี้ จะเปิดให้ประชาชน-ร้านค้าลงทะเบียน และยืนยันตัวตน 

สำหรับวงเงินที่จะใช้ในโครงการนี้รวม 5 แสนล้านบาท ยังมีความไม่แน่นอน เนื่องจาก พ.ร.บ.งบประมาณเพิ่มเติมปี 2567 และงบประมาณปี 2568 ที่ได้บรรจุงบประมาณเรื่องนี้ไว้ ต้องเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ และกรรมาธิการงบประมาณ

ส่วนเงินอีกก้อนที่จะใช้ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) ยังต้องผ่านการตีความทางกฎหมายของคณะกรรมการกฤษฎีกาเสียก่อน

โรดโชว์ ตปท.ไร้ผลงานรูปธรรม

ในมิติของการดึงลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งในช่วงเกือบๆ 1 ปีที่ผ่านมา “เศรษฐา” มีการเดินทางไปโรดโชว์ และร่วมการประชุมสำคัญในต่างประเทศ ทั้งในสหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่น พบปะนักธุรกิจชั้นนำระดับโลกจำนวนมาก ผลที่เป็นรูปธรรมจากการไปดึงบริษัทชั้นนำเข้ามาลงทุนนั้นยังไม่ชัดเจน

แม้จะมีตัวเลขการขอส่งเสริมการลงทุนเพิ่มขึ้น แต่ตัวเลขการลงทุนจริง ที่มองผ่านตัวเลขการลงทุนทางตรง (FDI) ถือว่ายังมีน้อยมาก ที่ผ่านมาบริษัทขนาดใหญ่ที่ประกาศเข้ามาลงทุนในไทยนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า (EV)

ขณะที่บริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ อย่างไมโครซอฟต์ มีการประกาศแผนลงทุนในไทย แต่ยังไม่ประกาศตัวเลขในการลงทุน โดยการเจรจากับบริษัทรายใหญ่ ต้องใช้เวลาในการทำงานอย่างต่อเนื่อง

เรตติ้ง “เศรษฐา-เพื่อไทย” ตกฮวบ

เมื่อการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจติดหล่ม ย่อมส่งผลต่อคะแนนความนิยมของ “เศรษฐา-เพื่อไทย” ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ได้สำรวจเรตติ้งการเมืองของรัฐบาล พรรคการเมืองมาอย่างต่อเนื่อง

เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.2567 “นิด้าโพล” เปิดเผยผลการสำรวจเรื่อง “ขอถามบ้าง… 9 เดือนรัฐบาลนายกฯ เศรษฐา” สอบถามความพึงพอใจของประชาชนต่อการทำงานของ “รัฐบาลเศรษฐา” ในรอบ 9 เดือน 

โดยดำเนินการสำรวจระหว่างวันที่ 4-5 มิ.ย.2567 จากกลุ่มตัวอย่าง 1,310 หน่วยตัวอย่าง ผลปรากฏว่า ร้อยละ 34.35 ไม่ค่อยพอใจ ร้อยละ 31.69 ไม่พอใจเลย ร้อยละ 25.19 ค่อนข้างพอใจ ร้อยละ 7.40 ระบุว่า พอใจมาก ร้อยละ 1.37 ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ตัวเลขของประชาชนที่ไม่ค่อยพอใจ เมื่อบวกรวมกับไม่พอใจเลย มีมากถึงร้อยละ 66.04 สะท้อนให้เห็นว่าการทำงานของ “รัฐบาลเศรษฐา” กำลังประสบปัญหา

ล่าสุด วันที่ 30 มิ.ย.2567 “นิด้าโพล” เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง “การสำรวจคะแนนนิยมทางการเมือง รายไตรมาส ครั้งที่ 2-2567” ซึ่งดำเนินการสำรวจ ระหว่างวันที่ 14-18 มิ.ย.67 มีกลุ่มตัวอย่าง 2,000 หน่วยตัวอย่าง 

โดยถามถึงบุคคลที่ประชาชนจะสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรี พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 45.50 ระบุว่าเป็น “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” พรรคก้าวไกล (ไตรมาสแรกร้อยละ 42.75)

อันดับ 2 ร้อยละ 20.55 ระบุว่า ยังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้ (ไตรมาสแรกร้อยละ 18.60) อันดับ 3 ร้อยละ 12.85 ระบุว่าเป็น “เศรษฐา ทวีสิน” พรรคเพื่อไทย (ไตรมาสแรกร้อยละ 22.35) อันดับ 4 ร้อยละ 6.85 ระบุว่าเป็น “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” พรรครวมไทยสร้างชาติ (ไตรมาสแรกร้อยละ 3.55) อันดับ 5 ร้อยละ 4.85 ระบุว่าเป็น “แพทองธาร ชินวัตร” พรรคเพื่อไทย (ไตรมาสแรกร้อยละ 6.00)

สังเคราะห์ตัวเลขความนิยมของ “พิธา” ขยับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สวนทางกับ “เศรษฐา-แพทองธาร” ที่เรตติ้งตกฮวบ โดย “เศรษฐา” ความนิยมลดลงถึงร้อยละ 9.5 ส่วน “แพทองธาร” ร้อยละ 1.15 ซึ่งความนิยมบางส่วนไปเพิ่มให้กับ “พิธา” และบางส่วนไปอยู่ในกลุ่ม ยังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้

แก้เกมเน้นประชาสัมพันธ์ผลงาน

ปัญหาคะแนนการเมืองลดลง “บิ๊กเนมเพื่อไทย” รับรู้สัญญาณเชิงลบเป็นอย่างดี แต่อยู่ที่จะยอมรับความจริงได้มากน้อยแค่ไหน เพราะความสำเร็จของ “นายใหญ่” ในอดีตยังคงเป็นภาพลวง-ภาพหลอน มาจนถึงปัจจุบัน

ในส่วนของยุทธศาสตร์ “เศรษฐา-เพื่อไทย” เน้นการประชาสัมพันธ์ (พีอาร์) เชิงรุกให้มากขึ้น โดยหลายครั้งที่ “เศรษฐา” กำชับในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ให้ “รัฐมนตรี” เร่งประชาสัมพันธ์ผลงานของแต่ละกระทรวง เพื่อสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนว่า รัฐบาลดำเนินนโยบายในด้านใดบ้าง และมีความคืบหน้ามากน้อยเพียงใด

ขณะเดียวกันตัวของนายกฯ เศรษฐา ก็เพิ่งคิกออฟรายการ “คุยกับเศรษฐา” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ประเดิมเทปแรกไปเมื่อวันที่ 22 มิ.ย.67 โดยชี้แจงภารกิจในการเดินทางไปต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม ความยากลำบากของการ “พีอาร์เชิงรุก” อยู่ที่ผลงานของรัฐบาลยังไม่ปรากฏ โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจ ที่นับวันตัวเลขทางเศรษฐกิจยิ่งดิ่งลงในเชิงลบ

แม้การบริหารงานของรัฐบาลเศรษฐาจะยังไม่ถึง 1 ปี แต่กระแสรัฐบาลยังไม่สู้ดีนัก นับจากนี้ ต้องจับตาว่า “รัฐบาลเศรษฐา” จะปรับยุทธศาสตร์อย่างไร ในการเร่งเครื่องเศรษฐกิจ 

รวมทั้งพลิกเกมให้สามารถกลับมากอบกู้เรตติ้งทางการเมือง เพื่อช่วยเสริมให้ความนิยมของ “เพื่อไทย” ขยับไปอยู่ในระนาบเดียวกับพรรคอันดับ 1 อย่าง "ก้าวไกล" ได้ 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์