ส่อง 78 ปีวีรกรรม ‘สว.’ ค้ำ-โค่น ‘รัฐบาล’
สว. อยู่คู่การเมืองไทย มา78 ปี บทบาทและหน้าที่ ล้วนถูกกำหนดให้แตกต่างกันตามยุคสมัย แต่สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ คือ การมีอยุ่ของ สว. เพื่อถูกใช้ ให้เกิดประโยชน์ของบางฝ่าย-บางพวก
KEY
POINTS
Key Point :
- แม้จะไม่รู้ว่า สว.ชุดใหม่ จะถูก กกต. รับรองเมื่อไร แต่บทบาทของสว.ปัจจุบันต้องคงอยู่
- เมื่อย้อนดู ประวัติศาสตร์การเมืองไทย พบ 78ปีที่มี "สว." คู่กับระบบรัฐสภาไทย
- 12ชุดของสว.ที่ผ่านมา ปฏิเสธไม่ได้ว่า บทบาทและหน้าที่ รวมถึงอำนาจนั้น ถูกเซ็ตขึ้นมา เพื่อทำหน้าที่ ทั้ง สนับสนุน ทั้งถ่วงดุล ผู้มีอำนาจ
แม้การเลือก สว.แบบลงคะแนนเลือกกันเอง ตาม 20 อาชีพ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 107 จะเสร็จสิ้นไปแล้ว แต่การประกาศรับรองผลการเลือก 200 สว. โดย คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยังไม่เกิดขึ้น
เนื่องจาก กกต.ขอเวลาตรวจสอบเพื่อให้มั่นใจว่า การเลือกนั้นถูกต้อง สุจริต เที่ยงธรรม
อย่างไรก็ดี หากการเลือก สว.รอบนี้ ได้รับการประกาศรับรอง จะเท่ากับว่า ประวัติศาสตร์การเมืองต้องจารึกถึง “สว.” ที่ผ่านการเลือกกันเอง เป็น “สว.ชุดที่13” และมีหน้าที่ อำนาจตามที่รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดไว้
โดยหน้าที่และอำนาจหลักของ สว. คือ ควบคุมฝ่ายบริหาร ผ่านการตั้งกระทู้ และยื่นอภิปรายทั่วไป รวมถึงการตรวจสอบผ่านกรรมาธิการสามัญ การกลั่นกรองกฎหมาย ต่อจาก“สภาผู้แทนราษฎร” การลงมติเห็นชอบ เพื่อเป็นการตรวจสอบขั้นสุดของ “บุคคล” ที่ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ และบางหน่วยงานที่รัฐธรรมนูญ รวมถึงกฎหมายประกอบกำหนด เช่น ตุลาการศาล เป็นต้น
กับวาระของสมาชิกวุฒิสภา ที่เกิดขึ้นมาแล้ว 12 ชุด หากแบ่งตามประเภทที่มา จะเห็นว่าในครึ่งหนึ่งนั้น มีที่มาจากการเลือกผ่านองค์อำนาจ ส่วนอีกครึ่งมาจากการเลือกของ “สส.”บ้าง การสรรหาโดยองค์คณะสรรหาบ้าง มาจากการเลือกตั้งของประชาชนบ้าง
ไม่ว่า สว.จะมีที่มาอย่างไร ปฏิเสธไม่ได้ว่า จุดตั้งต้นนั้นถูกเซ็ตขึ้นมาให้มีบทบาทพิเศษ ในฐานะ “สภาพี่เลี้ยง” คอยหนุนเสริม “ขั้วอำนาจ” ขณะเดียวกันยังเป็น “คานงัด” ฝ่ายการเมือง
ขณะที่ สว.บางชุดยังถูกกำหนดหน้าที่ให้เป็นฝ่ายปกป้องความมั่นคงของ “สถาบันหลักของชาติ” เพราะถูกกระแสสังคมใหม่ “สั่นคลอน”
ในบทบาท ของสว.ที่เป็น “วีรกรรม”โดดเด่นในการเมืองไทย ที่ผ่านมา อาทิ การทำหน้าที่ “ฝ่ายค้าน” คานอำนาจกับ “รัฐบาล” ซึ่ง
เกิดขึ้นในยุค สว.ชุดที่ 8 ดำรงตำแหน่ง เมื่อ 22 มี.ค.2543 - 21 มี.ค. 2549 ซึ่ง สว.ชุดนั้น จำนวน 200 คน มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน
โดยมีวาระดำรงตำแหน่ง 6 ปี คาบเกี่ยว 3 รัฐบาล คือ รัฐบาล “ชวน หลีกภัย” สมัย 2 รัฐบาลของ “ทักษิณ ชินวัตร" ทั้งทักษิณ 1 และ ทักษิณ 2
วีรกรรม สว.ในยุคนั้น ทำหน้าที่ประหนึ่งเป็นฝ่ายตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ผ่านกรรมาธิการคณะต่างๆ ซึ่งได้รับข้อร้องเรียนมาจากประชาชน เช่น การจัดซื้อจัดจ้างที่ไม่โปร่งใส การทำงานของรัฐบาลที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับฝ่ายการเมือง แม้ สว.ชุดนั้นจะไม่ถึงขั้น “ล้มรัฐบาล” แต่การทำหน้าที่ตรวจสอบฝ่ายบริหาร ทำให้รัฐบาลอยู่ไม่เป็นสุข
ขณะเดียวกัน ด้วยอำนาจที่ สว.สามารถแต่งตั้งและถอดถอนองค์กรอิสระได้ ทำให้ สว.มีบทบาทอย่างมากในการคัดสรรคนคุณภาพเข้าไปทำหน้าที่ “กรรมการองค์กรอิสระ” ที่ต่อมาเป็นกลายเป็น “ฝ่ายตรวจสอบ” ที่นักการเมืองต้องการแทรกแซงมากที่สุด
จากความเข้มแข็งของ “สว.เลือกตั้ง” ทำให้ “ฝ่ายเมือง”มองว่าเป็นภัย จนต้องเข้ามาแทรกแซงผ่าน “บ้านใหญ่”ที่จ่ายค่าเลี้ยงดู ทำให้ “ความอิสระ” ไม่อิสระจริง และปรากฏภาพความฝักใฝ่ในพรรคการเมืองมากขึ้น จนถูกขนานนามให้เป็น “สภาผัวเมีย”
ต่อมาในยุคของ สว.ชุดที่ 10 ซึ่งมีที่มา 2 ประเภท คือเลือกตั้ง 76 คน และสรรหา 74 คน รวม 150 คน ทำหน้าที่ช่วง 18 มี.ค. 2551-1 มี.ค.2557 พาดเกี่ยว 4 รัฐบาล คือ สมัคร สุนทรเวช - สมชาย วงศ์สวัสดิ์ - อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
บทบาทที่สำคัญ คือ “เป็นฝ่ายตรวจสอบรัฐบาล” ภายใต้การขับเคลื่อนของ “กลุ่ม 40 สว.” ที่ส่วนใหญ่เป็น “ขั้วอนุรักษ์นิยม-พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” เช่น การยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคุณสมบัติความเป็นนายกฯ ของ “สมัคร สุนทรเวช” กรณีจัดรายการชิมไปบ่นไป และยกโขยง 6 โมงเช้า จนต้องพ้นจากตำแหน่ง
หรือการตรวจสอบนโยบายรัฐบาล สมัย “ยิ่งลักษณ์” เป็นนายกฯ โดยเฉพาะกรณีรับจำนำข้าว ที่ “ก๊วน 40 สว.” ขอเปิดอภิปรายทั่วไป จนกลายเป็นสารตั้งต้น ที่ฝ่ายค้านในสภาฯหยิบไปขยายผล ยื่นต่อองค์กรให้ตรวจสอบ ทำให้ “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” อยู่ไม่เป็นสุข รวมถึงกรณีคัดค้านกฎหมายกู้เงิน 2 ล้านล้าน เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม
นอกจากนั้น แล้วยังมีกรณีการคัดค้าน “กฎหมายนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่ง” ที่ต่อมามีชื่อเรียกว่า กฎหมายลักหลับ จน “ยิ่งลักษณ์” ต้องยุบสภาเพื่อหวังให้ช่วยลดอุณหภูมิร้อนและวิกฤตการเมือง แต่ความขัดแย้งทางการเมืองรอบนี้ต้องยุติลง เพราะการรัฐประหารของ “คสช.”
ขณะที่ “วีรกรรมของ สว.” ที่ทำหน้าที่หนุนเสริม “รัฐบาล-ขั้วอนุรักษ์” ล่าสุด คือ การออกแบบให้ “สว.ชุดที่ 12” ซึ่งมีที่มาจาก คสช. แต่งตั้ง 200 คน และ คสช.เลือกจากบัญชีผู้ผ่านการเลือกกันเองตามวิชาชีพ 50 คน ดำรงตำแหน่ง เมื่อ 11 พ.ค.2562 ถึง 10 พ.ค.2567 มีอำนาจร่วมโหวตนายกฯ
โดย สว.ชุดที่ 12 นั้น อยู่ในตำแหน่งคาบเกี่ยว 2 รัฐบาล คือ รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน การทำหน้าที่ในวาระนั้น มีความชัดเจนในเรื่องของการค้ำจุนเสถียรภาพของรัฐบาล
ทั้งกรณีของการโหวตให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จากพรรคพลังประชารัฐ เป็นนายกฯ ทำหน้าที่เป็น “ฝ่ายคาน”อำนาจ กับ “ฝ่ายค้าน”ในสภาฯ และปกป้องกลไกของฝ่ายอนุรักษ์ จนถูกขนานนามว่าเป็น “สว.สืบทอดอำนาจ คสช.”
วีรกรรมที่เห็นชัด ในยุครัฐบาล คสช. นอกจากโหวตนายกฯแล้ว ยังมีการปกป้องรัฐธรรมนูญ 2560 คือ การยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ตีความต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ผ่าน สภาร่างรัฐธรรมนูญ ที่มองว่าไม่ถูกต้อง เพราะต้องผ่านการทำประชามติจากประชาชนเสียก่อน หรือ กรณีของการไม่สนับสนุน คำถามประชามติให้ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่ง “สภาฯ” โหวตเห็นชอบมาแล้ว เป็นต้น
ส่วนในยุครัฐบาล “เศรษฐา” สิ่งที่เป็นวีรกรรมโดดเด่น คือ การขวาง “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” จากพรรคก้าวไกล นั่งนายกฯ เพราะมองว่าเป็นขั้วเสรี ที่มีความคิดสุดโต่ง อยู่ตรงข้ามขั้วอนุรักษ์
นอกจากนั้นแล้ว คือ การยื่นญัตติตรวจสอบรัฐบาลเพื่อไทย ในประเด็น โครงการเติมเงินหมื่นผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ที่แม้จะไม่ถึงขั้นทำให้ “รัฐบาล” เจอความอันตรายในการดำรงตำแหน่ง แต่ได้วางหัวเชื้อเพื่อให้ฝ่ายค้านไปขยายผลต่อ
รวมไปถึงการทำหน้าที่ “ตรวจสอบการเลือกสว.” ผ่านบทบาทกรรมาธิการ ที่ต้องจับตาว่า จะเป็นการตรวจสอบ เพื่อความโปร่งใส หรือเป็น “วีรกรรม” ทำให้อยู่ต่อ
อย่างไรก็ดี จาก 78 ปีของการมี “สว.” ทำให้สังคมส่วนหนึ่งตั้งคำถามถึงการมีอยู่ มีความจำเป็นต้องทบทวนกันจริงจังหรือไม่ เมื่อมีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ หาก “สว.”ยังวางบทบาทของตนเองเป็นแค่ “สาขาพรรคการเมือง” ทำงานเพื่อประโยชน์ของบางฝ่าย เหมือนที่ผ่านมา.