'มติสว.' ตั้งกมธ.ศึกษาการเลือกสว.67 ให้เวลา30วัน
มติสว. 101 เสียง ไฟเขียว ตั้งกมธ.ศึกษาการเลือกสว.67 'กิตติศักดิ์' กร้าวใส่ "ว่าที่ สว.ใหม่" สั่งหุบปาก ห้ามตำหนิ สว.ปัจจุบัน อ้างได้รับโปรดเกล้าฯมาทำหน้าที่
ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 13.20 น. มีการประชุมวุฒิสภา ซึ่งพิจารณาญัตติ เรื่อง ขอเสนอตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาตรวจสอบการเลือกสว. ของนายสมชาย แสวงการ สว.และคณะ
โดยนายสมชาย อภิปรายเสนอญัตติตอนหนึ่งว่าในการเลือกสว.ที่ผ่านมานั้นมีปัญหา ดังนั้นสว.ปัจจุบันที่มีหน้าที่และอำนาจตามรัฐธรรมนูญกำหนดทุกมาตรา ยกเว้นอำนาจโหวตนายกฯ ตามมาตรา 272 จึงขอตั้งกมธ. เพื่อพิจารณา ซึ่งเป็นความประสงค์ดี กับ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไม่ใช่เรื่องที่สว.ปัจจุบันต้องการอยู่ยาว โดยขณะนี้สว.ปัจจุบัน เก็บของคืนหมดแล้ว หากสมาชิกเห็นด้วยกับญัตติดังกล่าวจะขอเวลาทำงาน 30 วัน และพร้อมเริ่มงานทันที ในวันที่ 9 ก.ค. นี้ รวมถึงจะทำหน้าที่เป็นกลาง ตรงไปตรงมา
นายสมชาย อภิปรายด้วยว่าหากมีกรณีผู้ร้องของผู้สมัครสว. จะส่งเรื่องให้ กรรมาธิการที่ตั้งขึ้นพิจารณา และเมื่อทำงานแล้วจะเสนอรายงานเสนอต่อประธานวุฒิสภา กกต. หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สว.ใหม่ รวมถึงเป็นข้อมูลต่อการแก้รัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ยืนยันว่าเป็นการทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ ไม่มีเหตุจูงใจใดแอบแฝง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในการพิจารณาดังกล่าว มีสว. ร่วมอภิปรายอย่างกว้างขวาง โดยส่วนใหญ่มีความเห็นในทิศทางสนับสนุนญัตติดังกล่าว ทั้งนี้มีการอภิปรายที่น่าสนใจ คือการสนับสนุนให้ตรวจสอบข้อร้องเรียนของผู้สมัคร สว.
อาทิ นายออน กาจกระโทก สว. อภิปรายสนับสนุนว่า ตนมีเรื่องร้องเรียนของ ผู้สมัคร สว. ที่เอ่ยชื่อได้เพราะเขาพร้อมเป็นพยาน คือ นายสงบ จินะแปง บอกว่าในการเลือก วันที่ 26 มิ.ย.เวลา 05.00 น. มีรถบัสและรถตู้มาส่งบุคคลที่จะเลือกระดับประเทศ ที่เมืองทองธานี ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการฮั้ว เอาเปรียบบุคคลอื่น รวมถึงมีข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ กกต. และผู้สมัคร ที่สนทนากับผู้สมัครคนอื่นในวันเลือกระดับประเทศ พร้อมกับเสนอเงินให้ 50,000 บาทเพื่อให้เลือกตนเอง ซึ่งตนพร้อมนำรายละเอียดมอบให้กับกรรมาธิการที่ตั้งขึ้นให้ตรวจสอบ
ขณะที่นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สว. อภิปรายสนับสนุน พร้อมระบุด้วยว่า สว.ที่มาจากการการเลือกกันเอง จะได้รับการรับรองจาก กกต. ซึ่งต่างจากสว.ที่ทำหน้าที่ปัจจุบัน ที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ ดังนั้นกรณีที่สว.ใหม่ตำหนิติเตียนสว.ปัจจุบันขอให้หุบปาก และกลับไปนั่งพับเพียบให้เรียบร้อย
“ผมขอให้ ว่าที่สว.ใหม่ที่เข้ามาทำหน้าที่ ได้ทำหน้าที่ตรงไปตรงมา เพื่อให้ท่านเจริญรุ่งเรือง แต่หากทำหน้าที่ไม่ตรงไปตรงมา ผมบอกไว้อย่างเดียวว่า อาจจะมี สนช. ใหม่ครับ” นายกิตติศักดิ์ อภิปราย
ขณะที่ฝ่าย สว. ที่เห็นค้านซึ่งได้แสดงลุกอภิปราย อาทิ นายเสรี สุวรรณภานนท์ สว. อภิปรายว่าในการทำงานของ องค์กรอิสระ ต้องทำหน้าที่อิสระตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ที่บอกว่า กกต. ต้องติดคุกนั้น หาก กกต. ทำผิด ทำทุจริตหน้าที่ต้องติดคุก แต่ขณะนี้กกต. มีความอิสระ ดังนั้นต้องยอมรับในความอิสระขององค์กรอิสระที่ สว.เห็นชอบ
“เรากำลังทำอะไรกันอยู่ สว.ต้องปฏิบัติหน้าที่จนกว่ามีสว.ใหม่ การทำหน้าที่ระหว่างไม่มีสว.ใหม่ ต้องอยู่รอเพื่อทำหน้าที่ เท่าที่จำเป็น ไม่ก้าวก่ายแทรกแซงองค์กรอิสระ เพราะการเลือก สว. กฎหมายเขียนชัดเจนให้คนที่อยู่ในตำแหน่งต่างๆ ห้ามเข้าไปยุ่ง ทั้งนี้มีคนถามว่า กรรมาธิการการพัฒนาการเมือง และการมีส่วนร่วมของประชาชนไม่เข้าไปทำเรื่องดังกล่าว ผมอธิบายไปว่าต้องระมีระวังเพราะมีกฎหมายเป็นโทษทางอาญา ห้ามเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กรรมการบริหารพรรคการเมือง สส. สว. เข้าไปช่วยเหลือให้ผู้ใดได้รับเลือก หรือไม่ได้รบเลือก โดยใครฝ่าฝืนจะมีโทษปรับ จำคุกรวมถึงถึงเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งดังนั้นตนไม่อยากเมื่อพ้นจาก สว. แล้วมีคดีอาญาติดตัว” นายเสรี อภิปราย
นายเสรี กล่าวด้วยว่าปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องที่ตรวจสอบการเลือกสว.นั้น สว.ที่อยู่ในตำแหน่งปัจจุบันมีผลได้ผลเสีย ระหว่างการทำหน้าที่ของสว. กกต. ก็ทำหน้าที่ ส่วนคนร้องศาลเป็นสิทธิ เมื่อขอตั้งกมธ. ตรวจสอบเรื่องดังกล่าว เป็นหน้าที่จริงหรือไม่ และการตรวจสอบนั้น สว.มีส่วนได้เสีย ทั้งนี้การตั้งกมธ.ทั่วไปทำได้ แต่การตั้งญัตติเรื่องดังกล่าว รัฐธรรมนูญ มาตรา 129 วรรคสี่ ไม่สามารถเรียกองค์กรอิสระมาแถลงข้อเท็จจริงหรือกิจการที่ทำอยู่ได้
นายเสรี อภิปรายต่อว่า ประเด็นการตรวจสอบ ตามคำร้องเป็นหน้าที่ของ กกต.ไม่ใช่ สว. เพราะตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกสว. นั้นให้อำนาจไว้ในมาตรา 62 มาตรา 63 ให้อำนาจ กกต. ประกาศรับรองไปก่อนแล้วสอยทีหลังได้ ดังนั้นจะบังคับให้ กกต. เห็นด้วยกับท่านไม่ได้ มีร้อง 600 เรื่อง มีพยานเยอะ แต่เป็นพยานปั้น พยานกลั่นแกล้ง ไม่อาจมีใครรู้ได้ ต้องตรวจสอบ ซึ่ง สว.ที่ได้รับเรื่องร้องต้องส่งให้ กกต. ไม่ใช่ทำตัวเป็น กกต. แล้วไปวินิจฉัยแทน
“ไม่เอากลุ่มสีน้ำเงิน จะเอากลุ่มสีส้มหรือ หรือ สีแดง หากจะเอากลุ่มที่พอใจ ไม่มีทางจบได้ ทั้งนี้การเลือกไม่ว่าได้ผลเป็นอย่างไรต้องยอมรับ ทั้งนี้ผมไม่เห็นด้วยกับการตั้งกมธ. เพราะก้าวก่ายแทรกแซงองค์กรอิสระ” นายเสรี กล่าว
ทั้งนี้การอภิปรายของสว.ได้ใช้เวลารวมกว่า 3 ชั่วโมง ก่อนที่ นายศุภชัย สมเจริญ รองประธานวุฒิสภา คนที่สอง ฐานะประธานในที่ประชุม ขอให้ สว. ร่วมลงมติ โดยพบว่า เสียงข้างมาก 101 คน เห็นด้วยกับการตั้งกมธ. ขณะที่ 10 เสียงไม่เห็นด้วย และมีผู้งดออกเสียง 17 คน128 ก่อนจะตั้งกมธ.ศึกษา 21 คนและใช้เวลาทำงาน 30 วัน.