ยุทธวิธี 'นายใหญ่' ค่ายแดง ‘แจกหมื่น’ กู้กระแสท้องถิ่น?
ยิ่งในสถานการณ์ที่เรตติ้งของ “นายใหญ่-รัฐบาล-พรรคสีแดง” อยู่ในขาลงอย่างต่อเนื่อง หากต้องเลือก นายก อบจ. พร้อมกันทั้งประเทศ “ค่ายสีแดง” อาจจะอยู่ในภาวะเสี่ยงได้ไม่คุ้มเสีย
KER POINTS :
- ต้องยอมรับว่าความนิยมทางการเมืองของ "เพื่อไทย" ดิ่งต่ำลง ตั้งแต่พลิกขึ้นจัดตั้งรัฐบาล
- ทำให้ "รัฐบาลเศรษฐา" ต้องพิสูจน์ตัวเอง ในการกอบกู้วิกฤตเศรษฐกิจ เพื่อกอบกู้เรตติ้งกลับคืนมา แต่วิกฤตเศรษฐกิจติดลบหนักหน่วง กระเทือนถึงเรตติ้ง "เพื่อไทย" ต้องติดลบตามไปด้วย
- ต้องติดตามการเลือกตั้ง นายก อบจ. เลือกตั้งท้องถิ่น "นายใหญ่" หวังตรึงบ้านใหญ่ให้อยู่หมัด เพื่อต่อยอดสนามใหญ่ ว่ากันว่า "แจกหมื่นดิจิทัลวอลเล็ต" เป็นความคาดหวังว่าจะกระตุ้นแต้มการเมืองของ "เพื่อไทย"
เกมการเมืองของนายใหญ่เพื่อไทย “ทักษิณ ชินวัตร” ส่งสัญญาณค่อนข้างชัดเจนว่าต้องการผนึก “บ้านใหญ่” ทุกบ้านให้ไหลมารวมกันที่ “พรรคเพื่อไทย” เพราะอ่านกระแสรู้ดูการเมืองออกว่า หากจะสู้กับ “พลังสีส้ม” ต้องใช้ยุทธวิธีใต้ดิน หากมุ่งรบชิงกระแส มีแต่แพ้กับแพ้
ในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา “ทักษิณ” จึงปรากฏกายตามงานวันเกิด “คนบ้านใหญ่” เพื่อเปิดดีลการเมือง ยิ่งในช่วงการเลือกตั้งนายก อบจ. ปทุมธานี “ทักษิณ” ลงทุน-ลงแรง รวม 8 บ้านใหญ่ ทำสงครามชิงเมืองกับ “บิ๊กแจ๊ส” พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง
ทว่า การทุ่มทุกสรรพกำลังช่วย “ชาญ พวงเพ็ชร” เอาชนะ “บิ๊กแจ๊ส” แต่ทำได้แค่เฉียดฉิว ทำให้คอการเมืองมีคำถามว่า “มนต์ทักษิณ” ยังคงขลังเหมือนวันเก่าหรือไม่
ยิ่งสนามเลือก สว. “ทักษิณ”อ่านกลเกมแตกต่างจาก “บิ๊กบุรีรัมย์” จึงไม่ลงรายละเอียดในการจัดวางคน หมายมั่นออกแรงในช่วงเลือกระดับประเทศ แต่ก็ต้องพ่ายเกม เพราะบรรดาโหวตเตอร์ “มีเจ้าของ” หมดแล้ว
ขนาด “น้องเขย” สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ฝ่าด่านระดับอำเภอ ระดับจังหวัด เข้าสู่ระดับประเทศ ถูกจับตาว่าจะเป็นตัวเต็งนั่งประธานวุฒิสภาคนใหม่ สุดท้ายพ่ายให้กับ “พลังน้ำเงิน” ชื่อหลุดโผ แม้กระทั่งรายชื่อสำรองยังไม่ติด
ท้ายสุดต้องโยนให้ “ส.กระเป๋าเงิน” “น้องขาย พ.” และ “อดีตปลัด ฉ.” เป็นแพะรับบาป
สะท้อนให้เห็นว่า ความละเอียดในการวางกลเกมของ “ทักษิณ” ลดน้อยถอยลง ความเฉียบแหลมในการเลือกคนลงทำศึก ไม่เฉียบคมเหมือนเดิม
สถานีต่อไปที่ “ทักษิณ” ต้องวางขุมกำลังให้เหนียวแน่นมากขึ้น วางเกมให้รอบคอบมากกว่าเดิม คือสนามชิงนายก อบจ. โดยมีหลายจังหวัดที่ นายกอบจ. ชิงลาออก ทำให้ต้องทยอยจัดการเลือกตั้งใหม่ และมีหลายจังหวัดที่มีแนวโน้มว่า นายก อบจ. จะอยู่จนครบวาระ ทำให้จะมีการจัดการเลือกตั้งอยู่ในช่วงเดือน ก.พ.2568
โดยในวันที่อาทิตย์ที่ 4 ส.ค. จะมีการเลือกตั้งนายก อบจ. 3 จังหวัด ประกอบด้วย นายก อบจ.พะเยา อบจ.ชัยนาท และ อบจ.พระนครศรีอยุธยา
สมรภูมินายก อบจ.พะเยา มีคู่ชิง 2 คนคือ ชัยประพันธ์ สิงห์ชัย กลุ่มพะเยาก้าวไกล และ ธวัช สุทธวงค์ อดีตรองนายก อบจ.พะเยา ซึ่งเป็นมือทำงานของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์
ชื่อของ “ธวัช” ในฐานะตัวแทนของ “อัครา พรหมเผ่า” น้องชาย “ธรรมนัส” จึงถูกจับตามองมากเป็นพิเศษ สนามนี้แม้ “เพื่อไทย” จะไม่ส่งคนมาลงชิง แต่ยี่ห้อ “ธรรมนัส” ถูกตีตราอยู่ใต้ร่มเงาของ “ทักษิณ” มานานแล้ว
สนามนายก อบจ.ชัยนาท “อนุชา นาคาศัย” สส.ชัยนาท อดีต รมช.เกษตรฯ แม้ตัวจะสังกัดพรรครวมไทยสร้างชาติ แต่ใจฝากเอาไว้กับ “2 ส.” ทั้ง “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” รมว.คมนาคม “สมศักดิ์ เทพสุทิน” รมว.สาธารณสุข ซึ่งสังกัดอยู่ค่ายเพื่อไทย โดย “อนุชา” ส่ง “เจ๊ต้อย” จิตร์ธนา ทวีลาภา ลงสนาม
ขณะเดียวกัน สนาม อบจ.อยุธยา “เพื่อไทย” ยอมหลบทางให้ “ซ้อสมทรง” สมทรง พันธ์เจริญวรกุล จากค่ายสีน้ำเงิน โดยจะสู้กับ “อุ๊ กรุงสยาม” วัชรพงศ์ ระดมสิทธิพัฒน์ กลุ่มก้าวใหม่อยุธยา
อย่าลืมว่า “เพื่อไทย” เคยยิ่งใหญ่ใน จ.อยุธยา กวาด สส.กรุงเก่า มาได้จำนวนมาก แต่ภายหลัง “วิทยา บูรณศิริ” ต้องจากไป ไม่มี “บิ๊กเนม” คนไหนมารับช่วงต่อ ทำให้กองกำลังเสื้อแดงที่เคยเข้มแข็งกลับต้องอ่อนแอลง
อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้จะมีศึกชิงเก้าอี้นายก อบจ. เกิดขึ้นอีกหลายจังหวัด ในส่วนนี้ “ทักษิณ” คงต้องแก้เกมกันช็อตต่อช็อต เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นกลเกมของ “ค่ายสีน้ำเงิน” ที่ต้องการหลบกระแส “สีส้ม”
ส่วนพื้นที่ของ “ค่ายสีแดง” ไม่ใช้กลศึกแบบ “ค่ายสีน้ำเงิน” ทำให้ไม่มีนายก อบจ. ค่ายสีแดง ในพื้นที่ภาคเหนือ-ภาคอีสาน ชิงลาออกเพื่อรีเซ็ตเกมใหม่ เนื่องจากมั่นใจว่าการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น มีปัจจัยอื่นที่ “กระแส” ยากที่จะสู้ “กระสุน”
ว่ากันว่า “ค่ายสีแดง” มีไพ่เอาไว้ดึงกระแส โดยเฉพาะโครงการแจกหมื่นดิจิทัลวอลเล็ต ที่โครงการอาจจะบังเอิญดำเนินการอยู่ในช่วงเวลาที่คาบเกี่ยวกับการเลือก นายก อบจ.
ทว่า ในทางตรงกันข้าม หากโครงการแจกหมื่นดิจิทัลวอลเล็ต ไม่ส่งแรงเสริมให้ “ค่ายสีแดง” ผนวกกับหลายพื้นที่อาจจะทับซ้อนกับ “ค่ายสีน้ำเงิน” แต้มอาจจะโดนแบ่งออกไป ตาอยู่อย่าง “ค่ายสีส้ม” อาจจะแทรกตัวเข้ามาได้
ยิ่งในสถานการณ์ที่เรตติ้งของ “นายใหญ่-รัฐบาล-พรรคสีแดง” อยู่ในขาลงอย่างต่อเนื่อง หากต้องเลือก นายก อบจ. พร้อมกันทั้งประเทศ “ค่ายสีแดง” อาจจะอยู่ในภาวะเสี่ยงได้ไม่คุ้มเสีย