ป.ป.ช.ชง ครม.ปรับปรุงเกณฑ์จ่ายสินบนรางวัล จนท.ใหม่ แก้ปัญหาเกียร์ว่าง
ป.ป.ช.มีมติเห็นชอบชง ครม.ปรับปรุงหลักเกณฑ์เงื่อนไข การจ่ายเงินสินบนรางวัลแก่ จนท.ตามระเบียบศุลกากรใหม่ สอดคล้องมาตรฐานสากล เกิดความเสมอภาคในวงราชการ ชี้ปัญหาที่ผ่านมามีแต่คนเกียร์ว่าง หวังแค่เคสรางวัลสูง
เมื่อวันที่ 9 ก.ค. 2567 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เผยแพร่มติคณะกรรมการ ป.ป.ช.เห็นชอบข้อเสนอแนะหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการจ่ายเงินสินบนและรางวัลให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ ตามระเบียบกรมศุลกากรว่าด้วยการจ่ายเงินสินบนและรางวัล เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ตามนัยมาตรา 32 แห่ง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561
โดยข้อเสนอแนะดังกล่าว ระบุว่า สืบเนื่องจากเมื่อปี พ.ศ. 2555 คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้เคยมีการเสนอข้อเสนอแนะการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับการจ่ายเงินสินบนและรางวัลของกรมศุลกากร กระทรวงการคลัง ต่อคณะรัฐมนตรี ตามนัยมาตรา 19 (11) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติรับทราบเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2556 และมอบหมายให้กระทรวงการคลังพิจารณาปรับปรุงแก้ไขระบบการจ่ายเงินสินบนและรางวัล และระบบงานของกรมศุลกากร
เนื่องจากพบว่าการจ่ายเงินสินบนและรางวัลเป็นเหตุให้เกิดปัญหาในหลายประการ เช่น การเกิดพฤติกรรมบิดเบือนจากสิ่งที่ควรกระทำ (Moral Hazard) โดยมุ่งเน้นปฏิบัติงานเฉพาะงานที่มีเงินรางวัล หรือผลตอบแทนสูง หรือละเลยการปฏิบัติงานที่มีรางวัลหรือผลตอบแทนต่ำ หรือไม่มีผลตอบแทน ตลอดจนเกิดความไม่เสมอภาคและความไม่เป็นธรรมในระบบการทำงานของข้าราชการที่กลุ่มหนึ่งได้รับผลตอบแทนจากการปฏิบัติหน้าที่สูงกว่าข้าราชการอื่น ทั้ง ๆ ที่เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ
รวมถึงความเสี่ยงของการมีผลประโยชน์ทับซ้อนของผู้มีอำนาจในการกำหนดผู้มีสิทธิ์รับเงินรางวัลและกำหนดสัดส่วนของเงินรางวัลโดยกำหนดให้ตนเองมีสิทธิ์รับเงินรางวัลด้วยในฐานะผู้สั่งการให้มีการจับกุม ซึ่งไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการกำหนดให้มีเงินรางวัลที่ต้องการส่งเสริมการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพ และตอบแทนการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ โดยเน้นที่การมีส่วนร่วมในการปฏิบัติงานเป็นสำคัญ
อย่างไรก็ตาม ด้วยความทันสมัยและการเชื่อมต่อของเทคโนโลยีสารสนเทศในปัจจุบัน ทำให้เกิดความคล่องตัวและเชื่อมโยงข้อมูลต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงขึ้น ตลอดจนเมื่อคำนึงถึงการสร้างความน่าเชื่อถือ ความเป็นมาตรฐานสากลในการปฏิบัติงานของภาครัฐไทยในเวทีนานาชาติ จึงเกิดข้อคำถามถึงความจำเป็นและความเหมาะสมของการให้มีเงินรางวัลเพื่อตอบแทนการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ ตลอดจนความเป็นไปได้ในการใช้ช่องทางตามระบบการกำหนดค่าตอบแทนบุคลากรภาครัฐ (ค่าตอบแทนพิเศษ) ที่มีอยู่ในปัจจุบันให้เหมาะสมกับลักษณะการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่แทนระบบการจ่ายเงินรางวัลจากเงินค่าปรับที่ได้รับ ส่งเสริมให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐบังคับใช้กฎหมายให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดความเสมอภาคในระบบราชการมากยิ่งขึ้น
คณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการประชุมครั้งที่ 55/2567 เมื่อวันที่ 28 พ.ค. 2567 จึงได้มีมติเห็นชอบข้อเสนอแนะหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการจ่ายเงินสินบนและรางวัลให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ ตามระเบียบกรมศุลกากรว่าด้วยการจ่ายเงินสินบนและรางวัล และได้มีหนังสือถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อข้อเสนอแนะแนวทางการป้องกันการทุจริตในเรื่องดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรี แล้วเมื่อวันที่ 2 ก.ค. 2567
ข้อเสนอแนะหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการจ่ายเงินสินบนและรางวัลให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ ตามระเบียบกรมศุลกากรว่าด้วยการจ่ายเงินสินบนและรางวัล มีประเด็นข้อเสนอแนะที่สำคัญ 2 ประการ ได้แก่
1) ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการป้องกันมิให้จ่ายเงินรางวัลให้แก่บุคคลที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจับกุมการกระทำความผิดให้ได้รับเงินรางวัล และความเหมาะสมของอัตราส่วนแบ่งเงินรางวัล
2) ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการปรับปรุงระบบงานของกรมศุลกากร เพื่อเป็นมาตรการเสริมในการแก้ไขปัญหาเรื่องการจ่ายเงินสินบนและรางวัลและแก้ไขปัญหาการทุจริต
โดยข้อเสนอแนะดังกล่าวได้ผ่านกระบวนการศึกษาและการพิจารณาของคณะกรรมการอำนวยการด้านมาตรการป้องกันการทุจริตเชิงรุกและนวัตกรรม ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิหลากหลายสาขาร่วมกันให้ความเห็น ข้อสังเกต และข้อเสนอแนะ รวมทั้ง ได้ผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นข้อมูลที่เกี่ยวข้องจากผู้แทนหน่วยงานต่าง ๆ ได้แก่ กระทรวงการคลัง กรมศุลกากร กรมบัญชีกลาง กรมสรรพสามิต สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สำนักงานงาน ป.ป.ช. เป็นต้น
สำนักงาน ป.ป.ช. มุ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ข้อเสนอแนะหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการจ่ายเงินสินบนและรางวัลให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ตามระเบียบกรมศุลกากรว่าด้วยการจ่ายเงินสินบนและรางวัลดังกล่าว จะเป็นประโยชน์ในการปรับปรุงแก้ไขวิธีการปฏิบัติราชการเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ ป้องกันความเสี่ยงการทุจริต และเป็นกลไกในการตรวจสอบ ป้องกัน ยับยั้งการเข้าแสวงหาประโยชน์ส่วนตนและเกิดการพัฒนาแนวทางการปฏิบัติราชการที่เหมาะสม ทันสมัย โปร่งใส และเป็นธรรมมากยิ่งขึ้นต่อไป