'อนุกมธ.' เรียก ซีพีเอฟ แจงปมนำเข้า ปลาหมอคางดำ 11ก.ค.นี้
"ณัฐชา" ลั่่นหาต้นตอ ปลาหมอคางดำ หวังเอาผิดให้ได้ เรียก "ซีพีเอฟ" แจง อนุกมธ.ศึกษาปัญหาปลาหมอคางดำ 11ก.ค.นี้ ย้ำสอบลึกถึงดีเอ็นเอ
ที่รัฐสภา นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สส.กทม. พรรคก้าวไกล ฐานะรองประธานคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาศึกษาสาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหา รวมถึงผลกระทบจากการนำเข้าปลาหมอคางดำ เพื่อการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ในราชอาณาจักรไทย ให้สัมภาษณ์ว่า ในวันที่ 11 ก.ค.ทางอนุ กมธ. จะเชิญ บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร (ซีพีเอฟ) เข้าชี้แจง ต่อกรณีการขออนุญาต นำเข้าแบบมีเงื่อนไขตอนปี 2549 ซึ่งขณะนั้นระบุว่านำเข้าเพื่อการวิจัยเพื่อมาผสมพันธุ์กับปลานิล โดยบริษัทเอกชน และมีการนำเข้าจริงเกิดขึ้นปี 2553 หลังจากนั้นได้มีการแจ้งว่างานวิจัยผิดพลาด เนื่องจากปลาอ่อนแอและตายในที่สุด แต่ยังไม่ทราบรายงานเป็นอย่างไร
“กรมประมงมีงานวิจัยที่ไปจับปลาหมอคางดำทั่วประเทศ 6 จังหวัด เพื่อมาศึกษาดีเอ็นเอว่ามาจากต้นตอเดียวกันหรือไม่ รายงานฉบับนั้นพิสูจน์แล้วว่าปลาทุกพื้นที่ของประเทศไทยที่เป็นปลาหมอคางดำที่มาจากพ่อพันธุ์แม่พันธุ์เดียวกัน ดังนั้นเหลือเพียงดีเอ็นเอของปลาที่นำเข้ามา หากตรงกันแสดงว่าปลาที่แพร่ระบาดอยู่ทุกวันนี้มาจากปลาชุดที่นำเข้ามาวิจัย แต่ตอนนี้ไม่สามารถยืนยันได้ ทางอนุ กมธ.ก็ยังศึกษาต่อ”นายณัฐชา กล่าว
นายณัฐชา กล่าวด้วยว่าในพื้นที่กทม. เขตบางขุนเทียน พบว่ามีปลาสายพันธุ์ดังกล่าวหลุดเข้าบ่อกุ้งและกินกุ้งจนหมดบ่อ ทั้งนี้มีการลงทุนเลี้ยงกุ้ง รวม 3 แสนบาท ทั้งนี้คนเลี้ยงกุ้งได้เลี้ยงรอบ 2 ต้องกู้เงินมาลงทุน พอถึงรอบ 3 ไม่มีเงินไปจ่ายเงินกู้ ทำให้ต้องขายโฉนดที่ดิน
"เป็นภาพที่สะท้อนและเห็นได้ชัดถึงภัยร้ายแรงของปลาหมอคางดำ ดังนั้น อนุกรรมาธิการฯ จึงเรียกประชุมและถามหางานวิจัยที่ผิดพลาด ว่ามีหลักฐานทำลายล้างปลาต้นแบบมากน้อยแค่ไหน เพื่อหาต้นต่อคนรับผิดชอบให้ได้" นายณัฐชา กล่าว.