‘200 คำร้อง’ รอ กกต.พิสูจน์ วัดฝีมือสอบปมฮั้ว ‘สอยทีหลัง’
ต้องดูว่า หลังจากนี้ กกต.จะเอาจริงเอาจัง ดำเนินการตรวจสอบข้อครหาที่ค้างคาใจประชาชน รวมถึงอดีตผู้สมัครสอบตกจำนวนมากได้ไหม หรือจะปล่อยผ่าน เหมือนกรณีการเลือกตั้งทั่วไปของ สส.เมื่อปี 2566 รอวัดฝีมือ
KEY
POINTS
- ปิดฉากศึกเลือก สว.2567 ได้ 200 อรหันต์ผู้แทนปวงชนเข้าไปนั่งในสภาฯสูง พร้อมบัญชีสำรองอีก 99 คน
- กกต.ยันสอบปมร้องกว่า 600 เรื่อง 18 คดีในศาลฎีกา ยุติหมดแล้ว ดังนั้นการเลือกจึง ‘สุจริต-เที่ยงธรรม’ ประกาศผลได้
- สอยร่วงไป 1 ‘คอดียะฮ์ ทรงงาม’ พบเป็นที่ปรึกษานายก อบจ.อ่างทอง ‘กรพด รุ่งหิรัญวัฒน์’ ส้มหล่นได้เป็นแทน
- แต่ยังมีอีก 200 เรื่องใหม่รอสอบอยู่ โดยเฉพาะ ‘ขบวนการฮั้ว’ ถูกมองว่าเป็นมลทินแปดเปื้อนการเมืองไทย
- วัดฝีมือ กกต.ประกาศไปก่อน สอยทีหลัง ทำได้จริงหรือไม่
ใช้เวลาราว 8 วัน กว่าที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะ “กล้า” ประกาศผลการเลือก สว. 2567 อย่างเป็นทางการ โดยมีเซอร์ไพรส์เล็กน้อยเมื่อ กกต.รับรองผลเลือก สว.จำนวน 199 คน และระงับสิทธิ์ “ตัวจริง” 1 คน ทำให้ต้องเลื่อนบัญชีสำรองขึ้นมาให้ตัวจริงครบ 200 คนเพื่อให้เปิดสภาฯสูง นำไปสู่การโหวตเลือกประธานวุฒิสภา และรองประธานวุฒิสภาคนใหม่ได้ คงเหลือบัญชีสำรอง 99 คน
โดยคนที่ถูกระงับสิทธิ์หวยออกมาอีกที่ น.ส.คอดียะฮ์ ทรงงาม ผู้ได้รับเลือกเป็น สว.อ่างทอง ลำดับที่ 4 กลุ่ม 18 กลุ่มสื่อสารมวลชน โดยระบุในประวัติการทำงานว่าประชาสัมพันธ์เสียงตามสายหมู่บ้าน เป็นประชาสัมพันธ์อำเภอไชโย แต่จากการตรวจสอบพบว่า น.ส.คอดียะฮ์ เป็นที่ปรึกษา นายก อบจ.อ่างทอง จึงถูกระงับสิทธิชั่วคราว
จึงต้องเลื่อนว่าที่ พ.ต.กรพด รุ่งหิรัญวัฒน์ ผู้ได้รับเลือกเป็น สว.ลำดับที่ 11 ซึ่งอยู่ในบัญชีสำรองเลื่อนขึ้นมาอยู่ในบัญชีตัวจริงลำดับ 10 โดยว่าที่ พ.ต.กรพด เป็นอดีตประธานรุ่น 5 หลักสูตร “พัฒนาสัมพันธ์เครือข่ายความมั่นคงระดับผู้บริหาร” (พคบ.) ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.)
การระงับสิทธิ์ “สว.ตัวจริง” ก่อนประกาศรับรองผลครั้งนี้ เสมือน “เขียนเสือให้วัวกลัว” ว่า กกต.เอาจริงในการปราบปรามขบวนการ “ฮั้ว-บล็อกโหวต” ตามที่ “แสวง บุญมี” เลขาธิการ กกต. แถลงเมื่อ 10 ก.ค.ที่ผ่านมาว่า ตอนนี้มี 47 เรื่อง เช่น ที่สังคมเรียกว่าฮั้ว บล็อกโหวต จัดตั้ง ในส่วนนี้สำนักงาน กกต.ได้รวบรวมพยานหลักฐานมาพอสมควรแล้ว ลักษณะที่รวบรวมมามีเป็นขบวนการ ต้องใช้หลักฐานทางวิทยาศาสตร์มาพิจารณา
โดยสำนักงาน กกต.ได้ขอความร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) 10 คน และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) 10 คน และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) 3 คน ทั้งหมดเป็นระดับผู้บังคับบัญชา ประสานงานกันมาตลอดสัปดาห์หนึ่งแล้ว เป็นความร่วมมือที่สำนักงาน กกต.ขอใช้เครื่องมือ เพื่อเป็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ เพื่อหาคนอยู่เบื้องหลังว่าจะไปได้ถึงไหน อย่างไร เพื่อนำมาเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาว่าเกิดการกระทำให้การเลือกเป็นไปโดยไม่สุจริต
สอดคล้องไปกับข้อร้องเรียนของบรรดา “อดีตผู้สมัครสอบตก” ที่ตบเท้าแห่เข้ายื่นพยานหลักฐานกับ กกต.ก่อนหน้านี้ เพื่อหวังให้การเลือก สว.เป็น “โมฆะ” หรืออย่างน้อยที่สุดมีการลงคะแนนใหม่ แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ ในเมื่อ กกต.งัดกฎหมายตามรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว.ประกาศผลดังกล่าว
เนื่องจากเห็นว่า คำร้องต่างๆ ที่เข้ามาก่อนประกาศผล จำนวนกว่า 600 เรื่อง และคดีที่มีอดีตผู้สมัครไปฟ้องศาลฎีกา 18 คดีนั้น “ยุติ” ไปทั้งหมดแล้ว ทั้งถูกตีตก และศาลยกคำร้อง ส่งผลให้ กกต.ต้องประกาศผลเลือก สว. เนื่องจาก“ครบเงื่อนไข” 3 ข้อ นั่นคือ ถูกต้อง สุจริต และเที่ยงธรรม ตามมาตรา 42 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว.
“เมื่อดำเนินการมาถึงขั้นนี้จะเห็นว่า ถามว่าการเลือกถูกต้องหรือไม่ เราจะพิจารณาจากกระบวนการเลือกในวันเลือกคือ 9, 16 และ 26 มิ.ย.ที่ผ่านมา ทุกคดีได้จบไปหมดแล้ว ผู้สมัครไปร้องศาลฎีกา 18 คดีก็จบไปแล้ว นั่นคือไม่มีคดีคั่งค้างที่ศาลฎีกาอีกแล้ว นั่นถือว่าการเลือกเป็นไปโดยชอบ” เลขาธิการ กกต.กล่าว
ประเด็นที่น่าสนใจซึ่งค้างคาใจสาธารณชนคือ มี “บางคน” ที่มองเผิน ๆ เหมือนจะ “ไม่มีคุณสมบัติ” เป็น สว.ในบางกลุ่มจากทั้งหมด 20 กลุ่มนั้น เลขาธิการ กกต.อธิบายให้เข้าใจง่ายว่า “กลุ่ม”มิใช่“อาชีพ” แต่ให้เปรียบเสมือน“กลุ่ม”เป็น“ด้าน”ซึ่งคนที่มีคุณสมบัติเบื้องต้นจะเข้าไปสมัครใน“ด้าน” นั้นๆ แบ่งออกเป็น 6 ประเภท
คือ 1.ความรู้ในด้านนั้น 2.ความเชี่ยวชาญในด้านนั้น 3.อาชีพในด้านนั้น 4.ประสบการณ์ในด้านนั้น 5.มีลักษณะหรือประโยชน์ร่วมกัน 6.ทำงานหรือเคยทำงานร่วมในด้านนั้น โดยคน 6 ประเภทนี้สามารถเข้าไปอยู่ในด้านต่าง ๆ ได้ เพราะฉะนั้นอาชีพเป็นเพียงประเภทหนึ่งในกลุ่มหรือด้านนั้นเท่านั้น
“อยากให้ข้อมูลเกี่ยวกับการสมัครในกลุ่มที่สังคมวิพากษ์วิจารณ์ว่า คนแบบนี้ไปอยู่กลุ่มนั้นกลุ่มนี้ได้อย่างไร นี่เป็นเรื่องของสำนักงาน กกต.ระดับอำเภอ ได้ให้ซักซ้อมข้อกฎหมายแต่ต้นว่า สังคมอาจเข้าใจไม่ตรงมาก เพราะว่าเวลาพูดถึงคือกลุ่มอาชีพ แต่ตามรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.ป.การได้มาซึ่ง สว.นั้น ไม่มีการเขียนถึงกลุ่มอาชีพเลย แต่เป็นกลุ่มของด้าน 20 ด้าน ในด้านมีอาชีพเป็นส่วนหนึ่งของคนประเภทหนึ่งที่จะอยู่ในด้านนั้น กฎหมายเปิดกว้างให้ประชาชนชาวไทยมีโอกาสที่จะสมัครรับเลือก สว.อยู่ในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้อย่างกว้างขวาง โดยมีผู้รับรอง 1 คน ซึ่ง กกต.ตรวจสอบไปแล้ว” เลขาธิการ กกต.ยืนยัน
สำหรับเรื่องร้องเรียนที่ถูกร้องมาภายหลังการเลือก สว. นั้น “แสวง” เผยว่ามีอยู่ราว 200 เรื่อง และอยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐาน และข้อเท็จจริง โดยเฉพาะกรณี “ฮั้ว” จะต้องใช้พยานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์จึงจะเอาผิดได้ นั่นจึงนำไปสู่การประสานงานกับ ตร. ดีเอสไอ และ ปปง.ข้างต้นนั่นเอง
ขั้นตอนต่อไปตามกฎหมาย คือ กกต.ต้องดำเนินการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนใหม่อีกกว่า 200 เรื่อง หากพบว่ามี สว.รายใดขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้าม ให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เป็นไปตามมาตรา 63 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. หรือกรณี สว.รายใดพัวพันหรือมีพฤติการณ์เข้าข่าย “ฮั้ว-บล็อกโหวต” ผิดตามมาตรา 62 แห่ง พ.ร.ป.ฉบับเดียวกัน จะต้องยื่นคำร้องไปยังศาลฎีกาต่อไป ซึ่งสเต็ปนี้เป็นไปตามที่หลายคนเรียกว่า “สอยทีหลัง”
เพราะต้องไม่ลืมว่า หน้าที่ของ “สว.” สำคัญและมีบทบาทอย่างมากในระบบนิติบัญญัติของไทย โดยเฉพาะหน้าที่แรกคือการสรรหาบุคคลมาดำรงตำแหน่งกรรมการป้องกันและปราปบรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แทนตำแหน่งที่ว่างลง ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ “ชี้ถูก-ชี้ผิด” นักการเมือง หากปล่อยให้คน “มีมลทินมัวหมอง” เข้าไปยุ่มย่ามในสภาฯอาจทำให้ กกต.ที่เป็นแม่งานจัดเลือกตั้งดูไม่ดีแน่ ๆ
คงต้องดูว่า หลังจากนี้ กกต.จะเอาจริงเอาจัง ดำเนินการตรวจสอบข้อครหาที่ค้างคาใจประชาชน รวมถึงอดีตผู้สมัครสอบตกจำนวนมากได้ไหม หรือจะปล่อยผ่าน เหมือนกรณีการเลือกตั้งทั่วไปของ สส.เมื่อปี 2566 ต้องรอวัดฝีมือ