ตั้งแต่เช้าถกไม่จบ! ปธ.กกต.เผยประชุมต่อช่วงบ่าย ลุ้นรับรองผลเลือก สว.

ตั้งแต่เช้าถกไม่จบ! ปธ.กกต.เผยประชุมต่อช่วงบ่าย ลุ้นรับรองผลเลือก สว.

ตั้งแต่เช้ายังถกไม่จบ! ประธาน กกต.เผยต้องประชุมต่อช่วงบ่าย ปมรับรองผลเลือก สว. เหตุยังมีประเด็นข้อกฎหมาย คุณสมบัติ-ลักษณะต้องห้ามของผู้ได้รับเลือก

เมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2567  รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แจ้งว่า วันนี้ตั้งแต่เวลา 09.00 น. มีการประชุม กกต.เพื่อพิจารณาถึงการรับรองผลการเลือก สว.ชุดใหม่ ซึ่งเป็นการประชุมต่อเนื่องมาตั้งแต่สัปดาห์ก่อน จนถึงวันที่ 8-10 ก.ค.ที่ผ่านมา แต่ยังไม่ได้ข้อสรุป เนื่องจากมีผู้ร้องเรียนประเด็นคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัคร สว.เข้ามาจำนวนมาก ทำให้ที่ประชุม กกต.สั่งให้สำนักงาน กกต.ดำเนินการเกี่ยวกับประเด็นคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามของผู้ถูกร้องเรียนให้เรียบร้อย

ล่าสุด นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. เปิดเผยว่า ในการประชุม กกต.ตั้งแต่ช่วง 09.00 น.ที่ผ่านมา ยังไม่ได้เข้าสู่การพิจารณาประกาศผลการเลือก สว. เนื่องจากมีประเด็นข้อกฎหมาย เกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ได้รับเลือกที่ต้องหารือกัน จึงจะประชุมกันต่อในเวลา 13.00 น.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมของ กกต.เพื่อพิจารณารับรองผลเลือก สว.ชุดใหม่ ดำเนินการมาตั้งแต่สัปดาห์ก่อน กระทั่งเมื่อวันที่ 8 ก.ค.67 มีรายงานว่าในที่ประชุม กกต.ยังไม่สามารถรับรองผลได้เนื่องจากกรรมการหลายคนมีความเห็นแตกต่างกัน ทำให้มติที่จะออกมานั้น เป็นเสียงก้ำกึ่งกัน เช่น 4 ต่อ 3 ไม่ชี้ขาด หรือไม่เป็นเอกฉันท์ และเสียงที่ทำให้เป็นมติเสียงข้างมาก โดยมีรายงานว่า เป็นเสียงจากประธาน กกต.จึงทำให้เป็นเพียงการพูดคุยกันถึงงานที่ต้องดำเนินการให้ชัดเจน ก่อนที่จะมีการประกาศรับรองผลอย่างเป็นทางการ ทำให้ต้องมาประชุมอีกรอบในวันที่ 9 ก.ค.แต่ก็ยังไม่ได้ข้อสรุป จนต้องนัดประชุมอีกครั้งในวันที่ 10 ก.ค.67 นี้

รายงานข่าวแจ้งอีกว่า ในการประชุมของ กกต.ในการพิจารณารับรองผลเลือก สว. นั้น ที่ประชุมมีการหยิบยกบรรทัดฐานตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่เคยชี้ขาดเกี่ยวกับการเลือก สว.เมื่อปี 2543 กรณีประธานรัฐสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 266 ปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของวุฒิสภา โดยขณะนั้น กกต.จัดเลือกตั้ง สว.รวม 200 คน เมื่อวันที่ 4 มี.ค.2543 แต่รับรองผลเพียง 122 คน ทำให้เกิดปัญหาในการปฏิบัติหน้าที่ และมีความเห็นแย้งกัน 2 ฝ่าย ระหว่าง สว.ที่ครบวาระ แต่ต้องรักษาการจนกว่าจะได้ สว.ใหม่ครบ กับอีกฝ่ายคือ สว.ใหม่ ที่เห็นว่าจำนวน สว.เท่าที่มีก็สามารถทำงานได้ ประธานสภาจึงส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าฝ่ายไหนควรเป็นผู้ทำหน้าที่ แล้วหากเป็น สว.ใหม่ที่ยังไม่ครบจำนวนนั้นจะสามารถดำเนินการให้มีการประชุมเพื่อปฏิบัติหน้าที่ได้หรือไม่

โดยสุดท้ายศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า สว.ที่ได้รับเลือกยังไม่ครบ 200 คน ไม่อาจดำเนินการให้มีการประชุมเพื่อปฏิบัติหน้าที่ สว.ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญนี้ได้ และระหว่างที่ สว.ที่ได้รับเลือกยังไม่ครบ 200 คน นั้น สว.ที่สมาชิกภาพสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 21 มี.ค.2543 ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่วุฒิสภาตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญนี้ได้