'อังคณา' แนะ กมธ.นิรโทษกรรม แยกนิรโทษม.112 เป็นรายกรณี

'อังคณา' แนะ กมธ.นิรโทษกรรม แยกนิรโทษม.112 เป็นรายกรณี

'อังคณา' บอก ‘นิรโทษกรรม’ จะรวมคดี 112 หรือไม่ ควรแยกเป็นรายกรณี จี้ 'กมธ.นิรโทษฯ' แสดงความกล้าหาญ ชี้แจงเหตุผลสังคม

ที่รัฐสภา นางอังคณา นีละไพจิตร สว. ให้สัมภาษณ์ภายหลังเข้ารายงานตัวต่อสำนักงานเลขาวุฒิสภา ถึงกรณี ความขัดแย้งภายในคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร เกี่ยวกับการรวมความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ไว้ในพ.ร.บ.นิรโทษกรรมหรือไม่ ว่า ความเห็นถูกแบ่งออกเป็นสองฝ่ายตั้งแต่ที่วันแรกของการประชุม กมธ.แล้ว ซึ่งก็มีทั้งคนที่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ก็จะไม่รับคดีความผิดเกี่ยวกับมาตรา 112 เข้ามาเลย และกลุ่มที่มองในลักษณะที่ควรเปิดโอกาสให้คนไม่ได้มีเจตนาตั้งใจจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ก็ควรจะนำมาพิจารณา 

นางอังคณา กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าคนที่โดนคดีความผิดเกี่ยวกับมาตรา 112 มีจำนวนหนึ่งที่มีลักษณะพยาบาทอาฆาตมาดร้ายจริง แต่ยังมีอีกหลายคนที่อาจจะถูกกลั่นแกล้งหรือไม่ได้ตั้งใจจะก่อให้เกิดความเสียหาย ซึ่งส่วนตัวมองว่าควรพิจารณาเป็นแต่ละรายกรณี เช่น กรณีคนที่แต่งชุดไทยแต่ถูกโทษจำคุก 3 ปี ซึ่งตนมองว่าเขาอาจจะพลั้งเผลอไป ถ้าให้โอกาสเขาได้กลับมาในสังคม เชื่อว่าเขาจะเป็นคนหนึ่งที่สามารถทำประโยชน์ให้กับสังคมได้ดีกว่าไปติดคุก

นางอังคณา กล่าวด้วยว่า ส่วนข้อเสนอที่จะให้มีการตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองความผิดในคดีความผิดเกี่ยวกับมาตรา 112 นั้น ในส่วนนี้ยังมีอยู่ในรายงานของกมธ.ฯ ซึ่งเป็นข้อเสนอแนะว่าควรจะมี แต่บางคนก็จะคิดว่าเรื่องคดีความผิดเกี่ยวกับมาตรา 112 ควรแยกออกมาเป็นอีกหนึ่งตะกร้า ทั้งนี้ ส่วนตัวคิดว่าคณะกรรมการดังกล่าวควรจะพิจารณาคดีที่ง่ายๆ เช่น พ.ร.บ.รักษาความสะอาด, พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือพ.ร.ก.ฉุกเฉิน, พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง 

"ในการประชุมทุกครั้ง กมธ.จะถูกถามว่าตกลงแล้วจะเอาหรือไม่เอา 112 สื่อก็รอคำตอบอยู่หน้าห้อง แต่ กมธ.ก็ยังไม่สามารถแถลงได้ชัดเจน ส่วนตัวลาออกแล้ว แต่ก็คิดว่า กมธ.ควรมีความกล้าหาญในการตัดสินใจ และเชื่อว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่ายมากกว่า ถ้าไม่เอาก็บอกไปตรงๆ เลยว่าไม่เอา" นางอังคณา กล่าว

เมื่อถามว่า กมธ.ได้มีกรอบเวลาไว้หรือไม่ว่า จะต้องการข้อยุติเมื่อใด นางอังคณา กล่าวว่า การพิจารณาก็ยืดเวลาออกไปครั้งละ 90 วัน เพราะยังไม่ได้ข้อยุติเรื่องคดีความผิดเกี่ยวกับมาตรา 112 ขณะที่กรณีของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) หลายคนที่โดนยึดทรัพย์อยู่ ตอนนี้ก็น่าจะชัดเจนแล้วว่าน่าจะได้รับการนิรโทษกรรมเช่นเดียวกับคดีเล็กน้อยต่างๆ เหลือเพียงคดีความผิดเกี่ยวกับมาตรา 112

“ย้ำว่ากมธ.ควรจะมีความกล้าหาญในการชี้แจงกับสังคมว่าจะรวมหรือไม่รวมคดี 112 เพราะอะไร มีข้อยกเว้นอย่างไร” นางอังคณา กล่าว.