'ขุนคลัง'นั่งไม่ติด โต้ 'ฝ่ายค้าน' ยันดิจิทัล ไม่ผิดกม.-อุดทุกช่องโกง
"3รมต.คลัง" ลุกแจงต่อสภาฯ โต้ "ฝ่ายค้าน" ยัน ทำโครงการดิจิทัลไม่ผิดกฎหมาย แจงเปลี่ยนแหล่งเงินเพราะศึกษามาดีแล้ว ย้ำอุดทุกช่องโกง
ที่รัฐสภา ในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 พ.ศ.... วงเงิน 1.22 แสนล้านบาท ซี่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) เสนอเพื่อใช้ในโครงการเติมเงินหมื่นบาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต หลังจากการอภิปรายของสส.ฝ่ายค้านจากพรรคก้าวไกลและพรรคประชาธิปัตย์แล้ว 3รัฐมนตรีคลังได้ขอใช้สิทธิชี้แจงทันทีและชี้แจงต่อเนื่องกันไป
โดย นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ชี้แจงต่อที่ประชุมในข้อท้วงติงของฝ่ายค้าน ว่า การเปลี่ยนแหล่งเงินให้เหมาะสมเพราะเป็นไปตามการพิจารณาหน่วยงานได้พิจารณาว่า สามารถบริหารจัดการได้ตามกรอบของวงเงินงบประมาณ ส่วนการปรับกลไกและแหล่งเงิน ทั้งนี้การใช้กลไกมาตรา 28 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง อาจมีข้อจำกัดในรายละเอียดของการใช้เงิน โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกร ฐานะฝ่ายบริหารไม่ต้องการ จึงเป็นสาเหตุที่เปลี่ยนเพื่อใช้ช่องทางอื่นที่ดำเนินการได้ ทั้งนี้รัฐบาลยืนยันในกรอบเวลาดำเนินการปลายปีนี้ เงินถึงมือประชาชนแน่นอน แม้จะปรับรายละเอียด เช่น แหล่งเงิน ซึ่งยืนยันว่าระบบเสร็จได้ทัน ทั้งเงินมีเพียงพอทำโครงการให้ประชาชน 50ล้านคน หรือวงเงิน 5 แสนล้านบาท
“ที่บอกว่าสุ่มเสี่ยงขัดกฎหมาย คำว่าสุ่มเสี่ยง รู้ว่าไม่ได้ผิด ที่ยกมานั้นชี้แจงแทนว่าตามกรอบวินัยการเงินการคลังและกรอบงบประมาณ สิ่งที่ทำนั้นไม่ใช่ครม. 3-5 คนคิด แต่ผ่านความเห็นและพิจารณาจำนวนมาก ยืนยันว่าเป็นไปตามกรอบกฎหมายจึงเดินหน้ามาในแนวทางนี้” นายจุลพันธ์ ชี้แจง
รมช.คลัง ชี้แจงว่า การเดินหน้าโครงการนี้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ใช่การสงเคราะห์ ดังนั้นไม่ต้องถามว่าเป็นกลุ่มเปราะบางหรือไม่ ส่วนสถานการณ์วิกฤตที่ถกเถียง แม้เราจะเติบโต แต่เติบโตต่ำ ซึ่งเป็นสัญญาณที่ไม่ดี จำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ จึงต้องใช้เงินเพื่อกระตุ้น ดังนั้นต้องสร้างความเชื่อมั่นว่าประชาชนใช้เพื่อเป็นประโยชน์กับชีวิตของประชาชน ส่วนข้อจำกัดที่มีในรายละเอียด ยืนยันว่าไม่เคยมีนโยบายของรัฐในอดีตที่ตัวคูณสูงเท่านโยบายดิจิทัลวอลเล็ต
“ที่เป็นห่วงว่าตั้งงบประมาณขาดดุลสูงเต็มเพดาน แต่ไม่มีความเสี่ยงของกลไกงบประมาณ เพราะมีกฎหมายที่รองรับสถานการณ์วิกฤตของประเทศทุกสถานการณ์ กรณีที่รัฐบาลหากจัดเก็บพลาดเป้า มีกลไกตามกฎหมายที่รองรับ สามารถเดินหน้าได้ ไม่มีเหตุขาดดุลเต็มเพดาน กู้ไม่ได้ หากหน่วงานขอเงินปลายปีแล้วจะไม่ได้ ไม่เคยมีเกิดขึ้น” รมช.คลัง ชี้แจง
นายจุลพันธ์ ชี้แจงต่อการอภิปรายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ สส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ ต่อการทุจริต โดยยืนยันว่าได้ทำโครงการอย่างละเอียดรอบคอบ อุดช่องที่จะทำให้เกิดการทุจริตเหมือนที่เคยเกิดกรณีที่ผู้รับเงินใช้เงินผิดประเภท ผิดวัตถุประสงค์ หรือผิดจากกลไกที่กำหนด ดังนั้นยืนยันว่าไม่มีทุจริต ขณะที่กล่าวหาว่าตั้งใจแจกเงินผู้อายุ 16 ปีขึ้นไป เพราะอีก 2 ปีสามารถเลือกตั้งได้ หากรัฐบาลคิดแบบนั้น ควรต้องจ่ายคนที่อายุ 14 ปีเพราะเมื่อรัฐบาลหมดวาระสามารถเลือกตั้งได้
ขณะที่นายพิชัย ชุณหวิชร รมว.คลัง ชี้แจงต่อทันทีว่าที่ท้วงติงว่ารัฐบาลสร้างหนี้จำนวนมาก และมองว่าไม่สร้างหนี้ได้หรือไม่ ตนมองว่าหากจำเป็นสร้างหนี้ ก็ต้องสร้าง เพื่อแก้หนี้ครัวเรือนและหนี้รัฐ เพื่อให้ประชาชนตั้งตัวได้ในภาวะที่กระตุ้นเศรษฐกิจร่วมกัน แต่ต้องคิดว่าหนี้มากหรือไม่ มีความสามารถชำระคืนหรือไม่
รมว.คลัง ชี้แจงต่อว่า โครงการดิจิทัลวอลเล็ตไม่ใช่คิดไปทำไป แต่คิดตั้งแต่วันแรกว่าต้องทำ เมื่อมีปัจจัยที่ต้องทำ ระหว่างทางการสร้างนโยบายที่ทำให้ลุล่วงต้องคิดตลอดไป ปรับปรุง คิดไปทำไป หาทางเลือกใหม่ๆ เช่น เรื่องแหล่งเงิน สินค้า ทั้งนี้ยืนยันว่าภาวะเศรษฐกิจของไทยมีความจำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อให้เกิดการเติบโตต่อเนื่องผ่านโครงการประเภททุนทั้งโครงสร้าง การบริโภค การลงทุน และการผลิต
รมว.คลัง ชี้แจงต่อประเด็นที่ส่อเอื้อประโยชน์ต่อนายทุนใหญ่ ว่า ห่วงโซ่อุปสงค์-อุปทาน ทั้งผู้บริโภค ผู้ผลิต ร้านค้าขนานใหญ่ ร้านค้ารายย่อย จะเป็นห่วงโซ่กลับมาสู่รายย่อย ผ่านการจ้างงาน การบริโภค ซึ่งทุกคนได้รับอานิสสงส์เหมือนกันหมด
ทางด้าน นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง ชี้แจงด้วยว่า โครงการดิจิทัลวอลเล็ตเหมือนเหรียญ 2ด้านที่มองไม่ตรงกัน 5ด้านคือ
1.เศรษฐกิจประเทศยังไม่ต้องการกระตุ้นอย่างหนัก แต่รัฐบาลมองว่า มีความจำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ
2.การกู้เงินมาใช้จ่าย ที่มองว่ามีการกู้เงินเต็มเพดานแล้ว แต่ความจริงหนี้สาธารณะประเทศไทยอยู่ที่ 64% นั้น มาจากการใช้คำนิยามที่เข้มข้นกว่ามาตรฐานสากล และไอเอ็มเอฟเพราะนับหนี้สาธารณะในส่วนที่สากลไม่นับคือ รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นภาระต่อรัฐบาล ถ้าเรานับหนี้สาธารณะตามคำนิยามสากลแล้ว หนี้สาธารณะประเทศไทยอยู่แค่ 58.4% ยังอยู่ในระดับต่ำ ไม่มีปัญหาใดๆ
3.การมองว่าผลตอบแทนได้ไม่คุ้มเสีย ยกตัวเลขว่า ลงทุน 5แสนล้านบาท แต่ได้ผลตอบแทนแค่ 3.5แสนล้านบาท เป็นการมองที่ผิดพลาดทางวิชาการ การคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ไม่ได้มีแค่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ยังมีเรื่องโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล ข้อมูลพื้นฐานประชาชนจะเข้ามาอยู่ในระบบ ทำให้มาตรการภาครัฐหลังจากนี้สามารถตรงไปช่วยเหลือประชาชนได้โดยตรง ต้องเอาไปรวมอยู่ในการประเมินความคุ้มค่าของโครงการด้วย
4.การมองว่า เอื้อประโยชน์รายใหญ่ แต่รัฐบาลมองว่า การกำหนดรัศมีการใช้เงิน 4กิโลเมตร เพราะต้องการให้เงินไหลเข้าชุมชน ไม่เข้าสู่เมืองใหญ่ ทุกเงื่อนไขทำให้เงินลงสู่ชุมชนมากสุด
และ5.การไม่มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอื่นๆร่วมด้วย ยืนยันว่า รัฐบาลมีทั้งมาตรการอัดเม็ดเงินจริง และการอัดเม็ดเงินลักษณะสินเชื่อ แต่มีผลทางเศรษฐกิจคล้ายกัน.