เลขา กกต.แจงอำนาจยื่นยุบพรรค ลั่นทำตามกฎหมาย ใช้ ม.92 หรือ 93 ก็ได้
เลขา กกต.โพสต์เฟซบุ๊กแจงละเอียด ปมอำนาจหน้าที่ยื่นคำร้องยุบพรรค ลั่นปฏิบัติตามกฎหมาย ยันใช้ช่องแค่ ม.92 ก็ได้ หรือจะเปิดไต่สวนตาม ม.93 แห่งกฎหมายพรรคการเมืองก็ได้
เมื่อวันที่ 17 ก.ค.2567 นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และนายทะเบียนพรรคการเมือง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ถึงอำนาจ และการปฏิบัติหน้าที่ของ กกต. เลขาธิการ กกต.และนายทะเบียนพรรคการเมืองต่อกรณีการยื่นยุบพรรคการเมือง ระบุว่า
1. สถานะ/หน้าที่และอำนาจ กกต. เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ มีหน้าที่จัดเลือกตั้ง เลือก การออกเสียงประชามติ และหน้าที่อื่น ตามรัฐธรรมนูญ กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ และกฎหมายอื่น
เลขา กกต. เป็นหัวหน้าหน่วยบริหารและธุรการของ กกต. เพื่อให้งานในหน้าที่และอำนาจของ กกต. สำเร็จตามที่กฎหมายกำหนด ปฏิบัติตาม กฎหมาย ระเบียบ ประกาศ และมติ กกต. ตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ขึ้นตรงกับ กกต. นายทะเบียนพรรคการเมือง เป็นคนคนเดียวกับเลขา กกต. ตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง กกต.ไม่ใช่หัวหน้านายทะเบียนพรรคการเมือง และนายทะเบียนพรรคไม่ได้ตรงขึ้นตรงกับ กกต.ต่างคนต่างเป็นอิสระ ต่างทำหน้าที่ตามที่ กฎหมายให้ทำเท่านั้น ไม่มีความสัมพันธ์กันในเชิงการบริหารหรือธุรการแต่อย่างใด
2. การทำงาน/ความสัมพันธ์กกต.และ เลขา กกต. "ทำงานร่วมกัน"ในทุกเรื่องเกี่ยวกับงานของ กกต. เพื่อเป้าหมายของงานในหน้าที่และความรับผิดชอบ ของ กกต. ให้บรรลุผลสำเร็จ ตามฐานานุรูปในตำแหน่งที่ดำรงอยู่ กกต. และ นายทะเบียนพรรคการเมือง "ต่างคนต่างทำงาน" ไม่ขึ้นต่อกัน งานจะสัมพันธ์กันก็ต่อเมื่อกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองให้ต้องสัมพันธ์กัน กกต.จะมีมติให้ทำนายทะเบียนทำอย่างนั้นอย่างนี้ไม่ได้
3. ตัวอย่างการทำงาน กกต.และเลขา กกต. อาทิ การเลือกตั้ง สส. เลือกตั้งท้องถิ่นทุกประเภท งานประชามติ ฯลฯ กกต. เป็นผู้ออกระเบียบ ประกาศ ให้ เลขาปฏิบัติ มีมติ ให้เลขาไปดำเนินการในงานข้างต้นได้ทุกเรื่องเพื่อผลสำเร็จของงาน กกต. และนายทะเบียนพรรคการเมือง อาทิ การเสนอให้ยุบพรรคการเมือง กกต. ก็มีอำนาจเสนอให้ยุบพรรคโดยลำพังตามมาตรา 92 แต่จะมามีมติ หรือสั่งให้นายทะเบียน พิจารณาดำเนินการเสนอยุบพรรคตามมาตรา 93 ไม่ได้ เพราะมาตรา 93 เป็นอำนาจเฉพาะของนายทะเบียนพรรคการเมือง
ดังนั้น การเสนอให้ยุบพรรคตามมาตรา 92 หรือ 93 จึงไม่ใช่ทางเลือกหรือดุลยพินิจที่ กกต. จะเลือกเพื่อเสนอให้ยุบพรรคการเมือง ว่าจะใช้มาตราใดสำหรับพรรคใด แต่เป็นบทกฎหมายที่ให้อำนาจเสนอยุบพรรค แก่ 2 องค์กร คือ กกต. หรือ นายทะเบียนพรรคการเมือง และแต่ละองค์กรก็เป็นอิสระต่อกัน
เรื่องนี้อาจเทียบเคียงได้กับ การพ้นจากการเป็นสมาชิกภาพของ สส. หรือ การพ้นจากตำแหน่งของรัฐมนตรี ที่ให้อำนาจแก่หลายองค์กรในการยื่นคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ กล่าว คือ สส. เข้าชื่อกันก็ยื่นได้ กกต.ก็ยื่นได้เช่นกันหากเห็นว่ามีเหตุให้ยื่น เป็นเรื่องที่กฎหมายกำหนดให้ต่างคนต่างทำหน้าที่ไม่ขึ้นต่อกัน แต่เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ยื่นแล้ว อีกฝ่ายก็อาจยุติเรื่องก็ได้ เพราะมีการยื่นไปแล้ว
ด้วยข้อกฎหมาย เหตุผลข้างต้น ทั้งหลายทั้งปวง จึงเป็นเรื่องการปฏิบัติตามกฎหมาย ทั้งสิ้น ไม่ใช่เรื่องมาตรฐานหรือไม่มีมาตรฐานแต่ประการใด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การโพสต์เฟซบุ๊กชี้แจงของนายแสวง เกิดขึ้นหลังจากวันที่ 16 ก.ค.ที่ผ่านมา นายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล แถลงข่าวโต้แย้งการใช้อำนาจและกระบวนการยื่นคำร้องยุบพรรคก้าวไกล อาจกระทำโดยมิชอบ เนื่องจากมีการสั่งให้ไต่สวน รวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน ตามมาตรา 93 แห่งกฎหมายพรรคการเมืองไปแล้ว ทว่าที่ประชุม กกต.กลับดำเนินการยื่นคำร้องยุบพรรคถึงศาลรัฐธรรมนูญ โดยใช้มาตรา 92 เพียงอย่างเดียวส