เปิด‘บ่อน้ำมันฝาง’ ขุมทรัพย์ทหาร พลังงานสุดท้ายวันสงครามปะทุ

เปิด‘บ่อน้ำมันฝาง’ ขุมทรัพย์ทหาร  พลังงานสุดท้ายวันสงครามปะทุ

"คณะกรรมการถ่ายโอนสวัสดิการกองทัพเข้าใจ แต่ไม่แน่ใจมีอะไรติดค้าง เขาบอกว่า กองทัพไม่ได้มีหน้าที่ขุดเจาะน้ำมันขาย หากจะเปลี่ยนแปลงก็ทำได้ โอนย้ายข้ามกระทรวง ถ้าทำแล้วเกิดความผิดพลาด ขอให้รับผิดชอบกันด้วยแล้วกัน"

KEY

POINTS

  • ไทยมีบ่อน้ำมันเป็นของตัวเอง แต่ประชาชนต้องซื้อราคาแพง บ่อน้ำมันฝาง มีชื่ออยู่ในลิสต์ของคณะกรรมการถ่ายโอนสวัสดิการกองทัพ
  • บ่อน้ำมันฝาง เป็นแหล่งน้ำมันเล็กๆ ระดับ 3 ตำบล มีศักยภาพจำกัด ผลิตน้ำมันได้วันละ 30,000 ลิตร
  • น้ำมันผลิตได้ส่งขาย 2 หน่วยทหาร แจกจ่ายน้ำมัน 2กองกำลังป้องกันชายแดน

 

 

 

 ไทยกำลังประสบภัยคุกคามจากสงครามที่รอวันปะทุอยู่รอบด้าน นอกจากพรมแดนติดประเทศเพื่อนบ้านแล้ว ยังมีจุดขัดแย้งที่เรียกว่า “ยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิก” ค่อนข้างระอุจากการสะสมกำลังชาติต่างๆ และมีแนวโน้มกระทบกระทั่งนำไปสู่วิกฤติสายการผลิตอุตสาหกรรม เพราะเป็นจุดผลิตเซมิคอนดักเตอร์ใหญ่ของโลก รวมถึงความมั่นคงทางด้านพลังงาน

เป็นบางช่วงบางตอน การประเมินสถานการณ์ภัยคุกคามของไทย ในห้วง 3-5 ปีของ “พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี” ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ในการชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 สะท้อนความสำคัญแหล่งพลังงานความมั่นคงเพียงแห่งเดียวของไทย “บ่อน้ำมันฝาง” หรือ ศูนย์พัฒนาปิโตรเลียมภาคเหนือ ตำบลแม่คะ อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ของ “กรมการพลังงานทหาร” สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม

ปัจจุบัน“บ่อน้ำมันฝาง” หรือศูนย์พัฒนาปิโตรเลียมภาคเหนือ มีชื่ออยู่ในลิสต์ของคณะกรรมการถ่ายโอนสวัสดิการกองทัพ เพราะถูกมองว่าเป็นขุมทรัพย์ทหาร และไม่ใช่พันธกิจทหารในการทำหน้าที่สำรวจขุดเจาะน้ำมันขาย ควบคู่ไปกับการถูกโจมตีจากภาคประชาชน อ.ฝาง มีบ่อน้ำมัน แต่คนไทยไม่ได้ใช้ และต้องซื้อในราคาแพง

“บ่อน้ำมันฝาง”เป็นแหล่งน้ำมันเล็กๆ ระดับ 3 ตำบล มีศักยภาพจำกัด หินทรายที่มีน้ำมันเป็นชั้นบางๆ ในพื้นที่ขนาด 900 ตารางกิโลเมตร แหล่งน้ำมันเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย กระจัดกระจายไปตามแหล่งฝาง แต่ละแหล่งมีขนาด 1 สนามฟุตบอล ไปจนถึงขนาด 1 โรงเรียน ในขณะที่บางแหล่งเหมือนกว๊านพะเยา

นอกจากนี้ บ่อน้ำมันฝางมีระดับหินทราย เก็บปิโตรเลียมขนาดเพียง 3 เมตร สูงสุดไม่เกิน 15 เมตร อัตราการผลิตวันละ 600 บาร์เรล (1 บาร์เรล =195/ลิตร = 95,000 ลิตร) กลั่นออกมาเป็นดีเซล 30% ประมาณ 30,000 ลิตร ส่วน 7-8 ลิตร เป็นน้ำท่า น้ำมันเบา ใช้ผสมสี และเกือบ 60,000 ลิตร เป็นน้ำมันเตา ขายให้เอกชนนำไปกลั่นต่อ เพราะใช้เทคโนโลยีขั้นสูง

พล.ต.มนตรี จีนนคร ผู้อำนวยการ ศูนย์พัฒนาปิโตรเลียมภาคเหนือ กรมการพลังงานทหาร เปิดเผยว่า มีคนไปพูดกันว่า อ.ฝางเหมือนตะวันออกกลาง ผลิตน้ำมันได้เอง แต่คนไทยไม่ได้ใช้ ซื้อในราคาแพง โดนโจมตีตลอด ทั้งที่ข้อเท็จจริงแล้ว ผลผลิตที่ได้เทียบกันไม่ได้เลย

"เราผลิตน้ำมันมา 70 ปี ได้น้ำมัน 16 ล้านบาร์เรล ให้คนไทยใช้ฟรีๆได้ 16 วันก็หมด ในขณะที่ความต้องการใช้น้ำมันของคนไทยล้านกว่าบาร์เรล เราไม่สามารถช่วยอะไรประเทศชาติได้ เหมือนเอาแมลงหวี่ไปช่วยปลาวาฬ นี่คือความจริง แต่บางคนไปมองว่าเราเหมือนโอเปกมีน้ำมันเยอะ แต่ในความเป็นจริงเราผลิตได้วันละ 30,000 ลิตรเท่านั้น"

พล.ต.มนตรี ชี้ให้เห็นว่า แม้บ่อน้ำมันฝางจะผลิตน้ำมันได้เพียง 30,000 ลิตร แต่มีคุณค่ากับกองทัพอย่างมาก กรณีเกิดภาวะสงคราม เรือบรรทุกน้ำมันเข้าอ่าวไทยไม่ได้ โรงกลั่นน้ำมัน ไม่มีน้ำมัน แต่เรามีน้ำมันให้กองทัพ ให้กระทรวงกลาโหม 30,000 ลิตร/วันแน่นอน ซึ่งยังดีกว่าไม่มีอะไรเลย 

 ปัจจุบันไม่ทราบว่าบริษัทเอกชนสำรองน้ำมัน ตาม พ.ร.บ.น้ำมัน มากน้อยเพียงใด เพื่อรองรับสถานการณ์ในอนาคต และแน่นอนว่า น้ำมันเป็นทรัพยากรที่มีวันหมด แต่เราอยากดำรงสภาพให้อยู่ได้นานที่สุด เพื่อมีน้ำมันสำรองไว้ให้กับประเทศและกองทัพ ประเมินไว้อย่างต่ำ 50 ปี น้ำมันจะเริ่มไหลน้อยจากเดิมผลิตได้แค่วันละ 600 บาร์เรล อาจเหลือ 300 บาร์เรล หรือ 250 บาร์เรล สุดท้ายต้องปิดตัวหากต้นทุนสูงกว่าการผลิต

 ในระหว่างนี้ มีแผนจะปรับปรุงโรงกลั่น เพื่อให้สามารถผลิตน้ำมันอากาศยาน น้ำมันเบนซินได้ ถือเป็นเรื่องอนาคต เพราะปัจจุบันน้ำมันที่ได้ มีกำมะถัน ไม่ผ่านมาตรฐานกรมธุรกิจพลังงาน และอยู่ระหว่างการหารือ รมว.พลังงาน พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ผ่านผู้บังคับบัญชา คาดว่าจะใช้งบประมาณปรับปรุง 300 ล้านบาท

สำหรับผลกำไรที่ได้รับ พล.ต.มนตรี ยอมรับว่าสามารถประคองตัว เลี้ยงดูพนักงาน 600 ชีวิตได้ บางช่วงมีเงินสะสมมากสุด 3,000 ล้านบาท ในบางช่วงที่น้อยสุด 400 ล้านบาท แต่ปัจจุบันได้วางยุทธศาสตร์ไว้ว่า ต้องสะสมเงินให้ได้ไม่ต่ำกว่า 550 ล้านบาท เป็นเงินชดเชย ครอบครัวลูกจ้าง กรณีเลิกจ้าง หรือเงินอุดหนุนตกต่ำมาก อาจจะเริ่มด้วยการให้ยุบบางแผนกที่ไม่จำเป็นออกไป สุดท้ายหากไม่ไหวก็คงต้องปิดตัวลง

 ลูกค้าของศูนย์พัฒนาปิโตรเลียมภาคเหนือ คือมณฑลทหารบกที่ 33 และมณฑลทหารบกที่ 310 ซึ่งเป็นหน่วยป้องกันชายแดน โดย 2 หน่วยนี้จะจ่ายน้ำมันให้กับกองกำลังผาเมือง และกองกำลังนเรศวรและยุทโธปกรณ์ที่ใช้ป้องกันชายแดนไทย-เมียนมาตลอดแนว

"หลังรับทราบข้อมูล คณะกรรมการถ่ายโอนสวัสดิการกองทัพส่วนใหญ่มีความเข้าใจ และรับทราบความจริงมากขึ้น แต่ผมไม่แน่ใจว่ายังมีอะไรติดค้างอยู่ในใจหรือไม่ เขาก็ตั้งข้อสังเกตว่า กองทัพไม่ได้มีหน้าที่โดยตรงที่จะมาขุดเจาะน้ำมันขาย ซึ่งผมก็ชี้แจงไปว่า ก็เป็นแบบนี้มาตลอด ก็ต้องไปโทษคนสมัยปี 2499 หากจะเปลี่ยนแปลงก็สามารถทำได้ ก็โอนย้ายข้ามกระทรวง

 ผมให้ข้อคิดไปว่า การสร้างคนให้มีเหมือนอย่างที่เรามีในวันนี้ เป็นเรื่องยาก และเขาจะอยู่กับเรายาก สมองไหลไปบริษัทน้ำมันหมด ผมส่งลูกน้องไปอบรมปีละประมาณ 10 คน ลาออกไป 5 คน เพื่อไปอยู่บริษัทเอกชนที่ได้รับเงินเดือนที่สูงกว่า ในขณะที่นี่ให้เงินเดือนแบบข้าราชการ

ส่วนที่มองว่าเป็นเงินนอกงบประมาณ ซึ่งจะต้องนำเข้ากระทรวงการคลัง ก็แล้วแต่นโยบาย เพราะข้าราชการทหาร พนักงาน ที่อยู่ ณ จุดนี้ ก็เป็นลูกน้องของรัฐบาลเช่นเดียวกัน แต่หากทำอะไรแล้วเกิดความผิดพลาด ก็ขอให้รับผิดชอบกันด้วยแล้วกัน ต้องตอบคำถามประชาชนให้ได้ด้วย หากทำไปแล้วมีผลกระทบมากกว่าผลดี" พล.ต.มนตรี ระบุ

สำหรับ“บ่อน้ำมันฝาง” หรือ ศูนย์พัฒนาปิโตรเลียมภาคเหนือ ก่อตั้งขึ้นด้วยงบประมาณ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (20-30 ล้านบาท ค่าเงินในอดีต) เงินชดเชยจากบริษัทน้ำมันที่ไม่ทำตามสัญญาสัมปทานให้กับรัฐบาลในสมัยนั้น ก่อนจะถูกส่งต่อมาอยู่ในความดูแลของกองทัพ พัฒนาต่อยอด โดยไม่ได้มุ่งหวังกำไรสูงสุด แต่ต้องดำรงสภาพเพื่อเป็นน้ำมันสำรองไว้ให้กับประเทศ และกองทัพในยามวิกฤติ