โฆษกศาลยุติธรรมแจงปมย้ายอธิบดี ทั้งที่ถูกร้องสอบ เป็นไปตามข้อกฎหมาย
โฆษกศาลยุติธรรม แจงคำสั่งให้อธิบดีผู้พิพากษาศาล ไปช่วยงานชั่วคราวตำแหน่งผู้พิพากษาศาลฎีกา ระหว่างโดนตรวจสอบข้อร้องเรียน เป็นไปตามกฎหมาย ห้ามสั่งช่วยต่ำกว่าชั้นตำแหน่งเดิม
เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2567 นายสรวิศ ลิมปรังษี โฆษกศาลยุติธรรม ชี้แจงกรณีสื่อมวลชนแห่งหนึ่งนำเสนอปัญหาการมีคำสั่งให้โยกย้ายอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้นแห่งหนึ่ง ไปช่วยทำงานชั่วคราวในตำแหน่งผู้พิพากษาศาลฎีกา ระหว่างที่มีการตรวจสอบข้อร้องเรียน ในทำนองว่าคำสั่งดังกล่าวไม่เป็นไปตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และบางกระแสมีข่าวด้วยว่าเป็นการสั่งให้ไปช่วยทำงานชั่วคราวในตำแหน่งผู้พิพากษาศาลฎีกา ประจำสำนักประธานศาลฎีกานั้น
โฆษกศาลยุติธรรม ขอยืนยันว่าการมีคำสั่งช่วยทำงานชั่วคราวดังกล่าว ระบุชัดเจนว่าให้ไปทำงานชั่วคราวในตำแหน่งผู้พิพากษาศาลฎีกา ไม่ได้เป็นการมีคำสั่งให้ไปช่วยทำงานในตำแหน่งผู้พิพากษาศาลฎีกาประจำสำนักประธานศาลฎีกาแต่อย่างใด เนื่องจากตำแหน่งดังกล่าวไม่ได้เป็นตำแหน่งที่มีอยู่ตามกฎหมายและระเบียบของศาลยุติธรรม การมีคำสั่งให้ไปช่วยทำงานชั่วคราวในตำแหน่งผู้พิพากษาศาลฎีกาในกรณีข้างต้นเป็นไปโดยถูกต้องตามระเบียบและกฎหมายแล้ว โดยปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ.2543 มาตรา 21 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า “ให้ประธานศาลฎีกามีอำนาจสั่งให้ข้าราชการตุลาการไปช่วยทำงานชั่วคราวในกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์แก่ราชการศาลยุติธรรม ในตำแหน่งข้าราชการตุลาการที่ไม่ต่ำกว่าตำแหน่งที่ผู้นั้นดำรงอยู่ได้ ...” และตามวรรคสองกำหนดให้ในกรณีที่มีการสั่งให้ช่วยราชการในกรณีที่มีเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ ให้นำเรื่องเข้าขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ในการประชุมนัดแรกนับแต่วันที่มีคำสั่ง
ในกรณีนี้ ผู้ที่ได้รับคำสั่งให้ไปช่วยทำงานชั่วคราวเป็นผู้ที่ได้รับเงินเดือนในชั้น 4 ชั้นสูงสุด ซึ่งเทียบเท่ากับตำแหน่งผู้พิพากษาศาลฎีกา ดังนั้นการมีคำสั่งให้ไปช่วยทำงานชั่วคราวจึงทำได้เฉพาะการให้ไปช่วยทำงานในตำแหน่งผู้พิพากษาศาลฎีกาซึ่งไม่ต่ำกว่าชั้นเงินเดือนดังกล่าวตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน โดยผู้ที่ได้รับคำสั่งให้ไปช่วยทำงานชั่วคราวนั้นเป็นผู้ที่ ก.ต. ได้เคยมีมติเห็นชอบความเหมาะสมให้อยู่ในเกณฑ์ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาศาลฎีกาและได้รับเงินเดือนในชั้น 4 ชั้นสูงสุดแล้วตั้งแต่การประชุมครั้งที่ 18/2566 เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2566
ทั้งนี้ ภายหลังจากที่มีคำสั่งให้บุคคลดังกล่าวไปช่วยทำงานชั่วคราวแล้ว ต่อมาเมื่อวันที่ 8 ก.ค. 2567 ได้มีการเสนอคำสั่งให้ ก.ต. พิจารณาในการประชุมครั้งที่ 17/2567 เพื่อให้ความเห็นชอบตามที่มาตรา 21 วรรคสองกำหนดแล้ว และ ก.ต. มีมติเอกฉันท์เห็นชอบกับคำสั่งให้ไปช่วยทำงานชั่วคราวในตำแหน่งผู้พิพากษาศาลฎีกา ด้วยเหตุนี้การมีคำสั่งให้ไปช่วยทำงานชั่วคราว
ในกรณีนี้จึงเป็นไปโดยถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด ทั้งการดำเนินการดังกล่าวยังสอดคล้องกับแนวปฏิบัติและระเบียบแบบแผนที่ผู้รับผิดชอบราชการศาลยุติธรรมใช้ในการบริหารราชการศาลยุติธรรมตลอดมา