'สว.พันธุ์ใหม่' ชงแก้ข้อบังคับ ปรับ 'กมธ.' ให้ทำงาน ตอบโจทย์ประชาชน
"นันทนา" เผย สว.กลุ่มพันธุ์ใหม่ ชงแก้ข้อบังคับ ปรับบทบาท "กมธ." ทำงานตอบโจทย์ประชาชน ด้าน "อังคณา" ปูดมีคนชงลด กมธ. เหลือ23คณะ คาใจให้หนุนแต่ไม่มีเนื้อหาให้ดู
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าให้นายมงคล สุระสัจจะ เป็น ประธานวุฒิสภา พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ เป็น รองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่ง และ นายบุญส่ง น้อยโสภณ เป็นรองประธานวุฒิสภาคนที่สองแล้วเมื่อ 27 ก.ค. ล่าสุดนั้นประธานวุฒิสภาได้นัด ประชุมวุฒิสภา นัดที่2 ในวันที่ 2 ส.ค. นี้ โดยมีวาระพิจารณาสำคัญ คือ การแก้ไขข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา เพื่อปรับบางบทบัญญัติให้สอดคล้องกับจำนวน ของ สว. รวมถึงภารกิจที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะจำนวนของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สามัญ และ จำนวน กมธ.ในแต่ละคณะ
ทั้งนี้น.ส.นันทนา นันทวโรภาส สว.กลุ่มสื่อมวลชน แกนนำกลุ่ม สว.พันธุ์ใหม่ ให้สัมภาษณ์ว่า ทางกลุ่มได้หารือเพื่อเตรียมเสนอญัตติแก้ไขข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา ในส่วนของ กมธ.สามัญ และ กมธ.ที่จะมีในแต่ละคณะ โดยจากข้อบังคับการประชุมฉบับเดิม จะมีกมธ. จำนวน 26 คณะ และบวกอีก 2 คณะ ส่วนที่จะปรับแก้ไขนั้นจะปรับลดหรือเพิ่มนั้นต้องพิจารณาให้ครอบคลุมเรื่องต่างๆ ที่เป็นประเด็นปัญหา เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพและตอบโจทย์ประชาชนมากที่สุด ส่วนการกำหนดสเปคบุคคลที่จะเข้าไปเป็นกมธ.นั้น เป็นรายละเอียดที่ต้องพิจารณาหลังจากที่เรื่องโครงสร้างใหญ่ คือ คณะกมธ. ได้พิจารณาแล้วเสร็จ
“ทาง กลุ่มสว.พันธุ์ใหม่ ประชุมกันทุกวัน กว่าจะได้ข้อสรุปเป็นญัตติที่เตรียมไปเสนอและพูดคุยกับกลุ่มอื่นๆ เพื่อขอให้สนับสนุน ทั้งนี้การเสนอญัตติใดๆ นั้นต้องมี สว.รับรองไม่น้อยกว่า 20 คน ซึ่งญัตติของกลุ่มเชื่อว่าจะได้รับการสนับสนุนครบจำนวน” น.ส.นันทนา กล่าว
เมื่อถามว่ามีข้อเสนอต่อการปรับรูปแบบการโหวตประธาน และ รองประธานวุฒิสภา ให้โปร่งใสแทนการลงคะแนนลับหรือไม่ น.ส.นันทนา กล่าวว่า เป็นขั้นตอนที่ประชาชนรู้สึกว่า มืดๆ หากสามารถปรับเปลี่ยนได้ จะผลักดันเพื่อให้ประชาชนได้รับรู้และรู้สึกว่าการดำเนินงาน การทำหน้าที่ของสว. โปร่งใส ประชาชนตรวจสอบ ทั้งนี้ในญัตติของกลุ่มในเรื่องแก้ไขข้อบังคับจะพิจารณาอีกครั้งว่าสามารถไปถึงจุดนั้นได้หรือไม่
ขณะที่นางอังคณา นีลไพจิตร สว.กลุ่มประชาสังคม องค์กรสาธารณประโยชน์ ให้สัมภาษณ์ด้วยว่าขณะนี้มีการส่งรายละเอียดการแก้ไขข้อบังคับการประชุมวุฒิสภามายัง สว.บางคน เพื่อขอให้สนับสนุนการแก้ไขลดจำนวนคณะกมธ. จากเดิมที่สว.ชุดที่แล้วมี 26 คณะ จะขอลดลงเหลือ 23 คณะ โดยให้เหตุผลว่าเพื่อประหยัดงบประมาณ แต่ตนมองว่าหากต้องการประหยัดงบประมาณควรทำส่วนอื่น เช่น ลดงบประมาณการศึกษาดูงานเป็นต้น อย่างไรก็ดีในเนื้อหาของคณะกมธ.ที่ปรับลดนั้นตนยังไม่ได้เห็นรายละเอียด จึงอยากเรียกร้องให้การทำงานร่วมกันของสว. เป็นไปด้วยยความโปร่งใส ใครเสนอร่างแก้ไขอะไร ควรให้เนื้อหามาพิจารณาด้วย
นางอังคณา กล่าวว่าสำหรับจำนวนคณะกมธ.ตนไม่ติดใจว่าจะลดหรือเพิ่ม แต่ควรพิจารณาให้เหมาะสม กำหนดคณะกมธ. ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ เช่น เดิมมี คณะกมธ.การพัฒนาสังคม และกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส แต่รัฐธรรมนูญได้แยกที่มาของ สว. เป็นกลุ่มสตรีโดยเฉพาะ เมื่อพิจารณาถึงการตั้งคณะกมธ. ควร ให้กลุ่มสตรี รวมกับกลุ่มเด็ก เยาวชน ผู้มีความหลากหลาย ซึ่งเป็นกลุ่ม Gender ส่วนคนพิการ ผู้สูงอายุ กลุ่มชาติพันธุ์ ควรเป็นอีกคณะ ขณะที่การตั้งคณะอนุกมธ. หวังว่าคนที่เป็นประธานกมธ.ในชุดนั้นจะใจกว้างให้มีผู้แทนคนพิการ คนชาติพันธุ์ ร่วมเป็นอนุกมธ. เพื่อให้มีคนที่เป็นตัวแทนของกลุ่มต่างๆ เข้ามาทำงาน เพราะต้องยอมรับว่า ตัวแทนคนพิการ คนชาติพันธุ์ไม่ได้รับเลือกให้เป็นสว.
นางอังคณา กล่าวด้วยว่า การเริ่มทำงานในกมธ. ต้องรอแก้ไขข้อบังคับการประชุม ซึ่งต้องใช้เวลา 30- 60 วัน ทั้งนี้ตนมองว่ามีอีกทาง คือ เมื่อเสนอญัตติแล้วให้มีการอภิปรายเต็มสภา เพื่อเสนอความเห็นและหามติร่วมกัน แต่ทั้งนีต้องพิจารณาว่า จะเป็นไปในรูปแบบใด
เมื่อถามว่าขณะนี้มีกระแสถึงการจองโควตาประธานกมธ.ไว้แล้ว นางอังคณา กล่าวว่า ตนยังไม่ทราบว่าใครนั่ง กมธ.ใดบ้าง เหมาะสมหรือตรงประสบการณ์หรือไม่ อย่างไรก็ดีตนมองว่าคนที่เป็นประธานกมธ.ต้องมีไดเร็คชั่นชัดเจนว่าจะทำงานไปในทิศทางไหน ดังนั้นนอกจากการเลือกมธ.ตามความสนใจแล้ว ควรพิจารณาในประสบการณ์ ความรู้ ความสามารถในการทำงานด้วย.