คณะทำงานนายกฯ ยัน แอปฯ ‘ทางรัฐ’ปลอดภัยไม่ถูกแฮก

คณะทำงานนายกฯ ยัน แอปฯ ‘ทางรัฐ’ปลอดภัยไม่ถูกแฮก

คณะทำงานนายกฯ ยันแอปฯ “ทางรัฐ” ปลอดภัย ไม่ถูกเจาะข้อมูล ย้ำรัฐบาลเดินหน้าแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่สั่งสม 10 ปี พร้อมดึงโอกาสการลงทุนเข้าประเทศ

วันที่ 31 ก.ค. 2567  นายศุภกร คงสมจิตต์ คณะทำงานของนายกรัฐมนตรี ด้านการลงทุนระหว่างประเทศ ระบุถึงความปลอดภัยของแอปพลิเคชัน "ทางรัฐ"  ซึ่งเป็นระบบเว็บไซต์ กับแอปพลิเคชัน ทั้ง Web App และ Mobile App ที่แยกออกจากกัน ต่อให้มีการแฮกหน้าเว็บไซต์ได้ ก็ไม่ได้แปลว่า จะเข้าถึงข้อมูลหลังบ้าน ซึ่งที่เป็นหัวใจของระบบบริการต่าง ๆ ได้ เหมือนการสั่งอาหารบนแอปพลิเคชัน หรือการใช้บริการพร้อมเพย์ ที่ไม่สามารถดำเนินการบนเว็บไซต์ได้ ดังนั้น แก่นของแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” จึงอยู่ที่ Mobile App ไม่มีเว็บแอปฯ ทำให้ไม่สามารถเจาะถึงข้อมูลสำคัญได้ 

ส่วนความเสี่ยงจากการใช้งานนั้น นายศุภกร ระบุว่า ต้องมีการจัดการระบบที่ดี เช่น พัฒนาระบบอย่างรัดกุม ไม่แนะนำให้ประชาชนและผู้ดูแลระบบตั้งรหัสผ่านง่าย ๆ ทั้งนี้ ความเสี่ยงหลายๆตัวบนการพัฒนาระบบเป็นความเสี่ยงที่บริหารจัดการได้ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าห้ามทำ แต่หากยิ่งเสี่ยง ยิ่งต้องมีมาตรการป้องกันที่เหมาะสม โดยมีจุดประสงค์ที่จะทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการของรัฐต่างๆที่สะดวกสบายมากขึ้นในอนาคตด้วย ดังนั้น แอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” หัวใจจึงอยู่ที่บริการด้านในที่มีออกแบบระบบความปลอดภัยเพื่อจัดการความเสี่ยงแล้ว ส่วนเว็บไซต์มีเพียงเพื่อให้สื่อสารกับประชาชนได้เพิ่มเติม

นายศุภกร กล่าวถึงบทสัมภาษณ์ของนายพิชัย ชุณหวชิร  รองนายกฯ และ รมว.คลัง ถึงสภาวะเศรษฐกิจที่ยังประสบปัญหาว่า โครงสร้างเศรษฐกิจประเทศไทยวันนี้ เป็นผลลัพธ์ของการขับเคลื่อนตลอด 10 ปีที่ผ่านมา วันนี้ประเทศไทยปรับตัวช้า และเคยชินมานานเหมือน “กบต้ม” แต่หากไม่เริ่มวันนี้ การเปลี่ยนแปลงก็จะถูกผลัดวันประกันพรุ่งไปเรื่อยๆ รัฐบาลได้ลงมือทำแล้วตั้งแต่เข้ารับหน้าที่ โดยได้ให้ความสำคัญจากการต่อยอดจุดแข็งของโครงสร้างเศรษฐกิจในปัจจุบัน และเกี่ยวกับคนไทยจำนวนมากในระยะสั้น ได้แก่ การท่องเที่ยว การแพทย์ การขนส่ง การเกษตร และอาหาร ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่รัฐบาลมุ่งผลักดันอย่างเต็มที่และต่อยอดให้เร็ว จะสามารถนำเงินเข้าประเทศได้มาก ซึ่งแม้เป็นส่วนประกอบที่เล็กของระบบเศรษฐกิจในเชิงมูลค่า แต่เกี่ยวข้องกับคนไทยเป็นจำนวนมาก การเติบโตต่อต้องหาตลาดที่ประเทศไทยจะเสริมต่อยอดได้ เช่นการพัฒนาสนามบินเพื่อรองกับการท่องเที่ยว และโครงการแลนด์บริจด์ ซึ่งจะกลายเป็นแม่เหล็กทางเศรษฐกิจ ดึงดูดการลงทุน การค้า การเคลื่อนที่ของสินค้า คน ความรู้ และเงินทุนเข้ามาในประเทศ สร้างโอกาสเป็นจุดผ่านการขนส่งทุกอย่างของภูมิภาค

นายศุภกร ระบุว่า ในระยะยาวที่ต้องเริ่มทำวันนี้ เพื่อให้เห็นผลในอีก 3-5 ปีข้างหน้า คือการดึงดูดการลงทุนจากบริษัทเทคโนโลยีดิจิทัล, AI , Data Center, พลังงานสะอาด, Financial Hub รวมถึงการสนับสนุนให้อุตสาหกรรมไทยเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ Ecosystem เหล่านี้ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูง และสามารถพัฒนาศักยภาพของประเทศ และเศรษฐกิจให้เป็นเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยความรู้ (Knowledge-based economy) ได้มากขึ้น ทั้งหมดนี้ต้องใช้เวลากว่าจะเห็นผล ซึ่งจะสอดสอดคล้องไปกับการเปลี่ยนแปลงของบริการทางรัฐที่ประชาชน ธุรกิจ ราชการ และกฎหมายเชื่อมต่อกันผ่านแอปพ “ทางรัฐ” ซึ่งจะวางรากฐานให้ E-government ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของเศรษฐกิจดิจิทัลที่แท้จริง

นายศุภกร ยังย้ำด้วยว่า ทั้งหมดนี้ จะเห็นว่ารัฐบาลกำลังปรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ ผ่านการทำงานร่วมกับภาคประชาชน ภาคธุรกิจ ที่จะเป็นผู้เล่นสำคัญ โดยมีรัฐเป็น ผู้สนับสนุน และอำนวยความสะดวก