'ทักษิณ'พ้นโทษ 31 ส.ค. - ต้องรับใบบริสุทธิ์ด้วยตัวเอง

'ทักษิณ'พ้นโทษ 31 ส.ค. - ต้องรับใบบริสุทธิ์ด้วยตัวเอง

“อธิบดีกรมราชทัณฑ์” เผย “ทักษิณ” พ้นโทษ เสาร์ 31 ส.ค. ต้องเดินทางไปรับใบบริสุทธิ์ด้วยตัวเอง เว้นแต่ป่วยหนักติดเตียง อาการวิกฤติ ถึงมอบอำนาจได้

จากกรณีที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งอยู่ระหว่างการพักโทษ ณ บ้านจันทร์ส่องหล้า นับตั้งแต่วันที่ 18 ก.พ. 67 และจะพ้นโทษได้รับใบบริสุทธิ์ภายใน 365 วัน โดยก่อนหน้านี้ ทางนางพงษ์สวาท นีละโยธิน ปลัดกระทรวงยุติธรรม ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ว่าอดีตนายกฯ จะได้รับการพ้นโทษในวันที่ 22 ส.ค. 

นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ว่า สำหรับการครบกำหนดพ้นโทษของนายทักษิณ ได้รับการพระราชทานอภัยลดโทษเหลือเพียง 1 ปี และเมื่อนับไป 365 วัน จึงตรงกับวันเสาร์ที่ 31 ส.ค. 67 ส่วนกระบวนการปล่อยตัวอดีตนายกฯ ขณะนี้เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ได้มีการโอนเรื่องไปยังเรือนจำพิเศษธนบุรี เนื่องจากสถานที่พักโทษ “บ้านจันทร์ส่องหล้า” อยู่ในพื้นที่ฝั่งธนบุรี

"ดังนั้นเรื่องใบบริสุทธิ์จะถูกออกให้โดย ผบ.เรือนจำพิเศษธนบุรี และจะต้องได้รับการประสานงานจากกรมคุมประพฤติเรียบร้อยก่อน และโดยปกติแล้วทางผู้ต้องราชทัณฑ์จะเป็นผู้เดินทางไปรับใบบริสุทธิ์ที่เรือนจำฯ เพราะจะต้องมีการลงนามรับรองชื่อนามสกุลของตัวเอง"
 

อย่างไรก็ตาม สามารถมีเหตุในการละเว้นได้ หากผู้ต้องขังมีอาการเจ็บป่วยไม่สามารถเดินทางไปยังเรือนจำฯ เช่น ป่วยติดเตียง ป่วยวิกฤติ ก็สามารถยืดหยุ่นได้ โดยที่ผู้ต้องขังเซ็นมอบอำนาจให้บุคคลใกล้ชิด เดินทางไปรับเอกสารใบบริสุทธิ์กับเรือนจำแทน ซึ่งการยืดหยุ่นนี้ก็ถือเป็นการให้บริการประชาชน เราคงจะไม่ถึงขนาดให้ผู้ป่วยต้องถูกเข็นเตียง หรือมีลักษณะทางกายไม่พร้อม แต่ต้องออกมารับเอกสาร เราจะไม่ทำเด็ดขาด
\'ทักษิณ\'พ้นโทษ 31 ส.ค. - ต้องรับใบบริสุทธิ์ด้วยตัวเอง

เมื่อถามว่าวันที่ 31 ส.ค. นี้ ตรงกับวันเสาร์ ทางหน่วยงานราชการ หรือเรือนจำพิเศษธนบุรี จะสามารถเปิดให้บริการออกใบบริสุทธิ์แก่ผู้ต้องขังได้ด้วยหรือ ทางอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ระบุว่า ปกติแล้วไม่ว่าจะเป็นวันใด ทางราชทัณฑ์ก็จะต้องพร้อมในการดำเนินการออกใบบริสุทธิ์ให้แก่ผู้ต้องขังที่จะพ้นโทษ ส่วนลักษณะหรือสาระสำคัญของใบบริสุทธิ์ คือ เป็นเอกสารที่ใช้ระบุได้ว่าบุคคลนั้นพ้นโทษแล้ว และสามารถใช้ยืนยันกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ 

โดยเฉพาะในขั้นตอนที่บุคคลนั้นต้องไปทำกิจกรรมต่าง ๆ มิเช่นนั้น อาจเกิดข้อแคลงใจได้ว่าบุคคลนี้ยังมีชื่ออยู่ในระบบทะเบียนประวัติอาชญากร เช่น กรณีที่ผู้ต้องขังรายใดถูกศาลพิพากษาลงโทษจำคุก 20 ปี แต่พอ 15 ปี ยังไม่ครบกำหนดกลับได้ออกมา เช่นนี้เป็นต้น ซึ่งเรียกว่าเป็นหลักการบริหารโทษ หากผู้ต้องขังได้รับการเลื่อนชั้น ลด ปรับวันต้องโทษหรือพักโทษ ก็เป็นไปได้ที่เขาจะได้พ้นโทษก่อนกำหนด เป็นสิทธิประโยชน์ของผู้ต้องขัง

อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ระบุอีกว่า สำหรับเอกสารใบบริสุทธิ์ที่ผู้พ้นโทษได้รับนั้น ไม่มีความจำเป็นจะต้องพกติดตัวตลอดชีพ ซึ่งจะใช้เพียงแค่ในช่วงต้นเท่านั้น เพราะผู้พ้นโทษรายนั้น อาจจะต้องนำเอกสารไปใช้ประกอบกับการยืนยันตัวตนว่าได้รับการพ้นโทษเรียบร้อยแล้ว แต่เมื่อเวลาผ่านไปสักระยะหนึ่ง ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ในการยืนยันตัวตนอีกแล้ว 

ส่วนในคดีอาญามาตรา 112 ที่ขณะนี้อดีตนายกรัฐมนตรีได้รับการประกันตัวชั่วคราว หากจะต้องเข้าสู่กระบวนการของศาล จะต้องพกเอกสารใบบริสุทธิ์ไปด้วยหรือไม่นั้น ยืนยันว่า อดีตนายกฯ ไม่จำเป็นต้องพกใบบริสุทธิ์ไปด้วย เพราะระบบการจัดเก็บข้อมูลของศาล จะขึ้นข้อมูลอยู่แล้วว่าบุคคลดังกล่าว ได้รับการพ้นโทษจากคดีใด ซึ่งเป็นคนละคดีกับคดีปัจจุบัน