ยุบพรรค 'ล้างขั้วอำนาจ' 20 ปีพ่ายกี่ครั้ง ก็ยังชนะ

ยุบพรรค 'ล้างขั้วอำนาจ'  20 ปีพ่ายกี่ครั้ง ก็ยังชนะ

เปิดแฟ้มคดียุบพรรคการเมือง ล้างพรรคการเมืองที่เป็นขั้วอำนาจใหญ่ที่ชนะเลือกตั้ง ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา มีพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน และพรรคก้าวไกลที่ชนะเลือกตั้งแล้วถูกศาลรัฐธรรมนูญมีมติยุบพรรค

KEY

POINTS

  • ในรอบ 20 ปี มีพรรคชนะเลือกตั้งถูกยุบพรรค  3 พรรค "ไทยรักไทย - พลังประชาชน - ก้าวไกล"
  • "ก้าวไกล" ถูกศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรค ตัดสิทธิ กก.บห. รวม 11 คน 10 ปี ข้อหาล้มล้างการปกครอง - ปฏิปักษ์การปกครอง
  • "ไทยรักไทย" ถูกยุบพรรค เปลี่ยนชื่อมาเป็น "พลังประชาชน - เพื่อไทย" แต่ยังชนะเลือกตั้ง
  • "ก้าวไกลไปต่อ" คีย์แมนก้าวไกล อ่านเกมยุบพรรค ยิ่งปลุกกระแสฐานเสียง "ยิ่งยุบยิ่งโต"

พลิกย้อนดูประวัติศาสตร์ทางการเมืองไทย ในห้วงเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา “คดียุบพรรค” นับแต่ปี 2550 เป็นต้นมา มีพรรคการเมืองที่ชนะเลือกตั้งถูกยุบพรรคคือ พรรคไทยรักไทย และพรรคพลังประชาชน

เมื่อโฟกัสพรรคการเมืองที่ประสบความสำเร็จ ชนะเลือกตั้งมากที่สุดคือ “พรรคไทยรักไทย” ภายใต้แบรนด์ “คิดใหม่ ทำใหม่” ของนายห้าง “ทักษิณ ชินวัตร”

เลือกตั้งทั่วไป 6 ก.พ.2458 ภายหลังรัฐบาลไทยรักไทยสร้างประวัติศาสตร์เป็นรัฐบาลแรกที่อยู่ครบวาระ 4 ปี ทำให้ “พรรคไทยรักไทย” ใช้แคมเปญ “4 ปีซ่อม 4 ปีสร้าง” กวาด สส.เกือบทั่วทุกภาคของประเทศ ได้มา 377 สส. จากที่นั่งในสภาฯ 500 คน

พรรคไทยรักไทย ได้คะแนน สส.บัญชีรายชื่อ 18,993,073 ได้ สส.377 คน ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ ได้คะแนน สส.บัญชีรายชื่อ 7,210,742 และได้ สส.ทั้งหมด 96 คน
 

30 พ.ค.2550 คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังการรัฐประหารเมื่อ 19 ก.ย.2549 ได้มีคำวินิจฉัย "ยุบพรรคไทยรักไทย" ตัดสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหาร 111 คน เป็นเวลา 5 ปี ในข้อกล่าวหากระทำให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และเป็นการกระทำอันอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐหรือขัดต่อกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตามมาตรา 66 (1) และ (3) แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2541

ถือเป็นการยุบพรรคการเมืองที่มีประชาชนลงคะแนนเลือกพรรคไทยรักไทยมากถึงเกือบ 19 ล้านเสียง

ยุบพรรค \'ล้างขั้วอำนาจ\'  20 ปีพ่ายกี่ครั้ง ก็ยังชนะ

คดียุบพรรคไทยรักไทยครั้งนั้น ถูกมองว่าเป็น “การรัฐประหารเสียของ” ทว่า ดีเอ็นเอไทยรักไทยที่มี “ทักษิณ ชินวัตร” อยู่ฉากหลังได้พากันย้ายไปสังกัด "พรรคพลังประชาชน"

การเลือกตั้งทั่วไป 23 ธ.ค.2550 ครั้งแรกหลังรัฐประหาร แม้ “ไทยรักไทย” จะถูกยุบพรรค แต่ดีเอ็นเอไทยรักไทยได้โอนพันธุกรรมทางการเมืองมาสืบทอดต่อในชื่อ “พลังประชาชน"

ยุบ ทรท. แต่ พปช.ชนะเลือกตั้ง

“พรรคพลังประชาชน” ฝ่ากระแสต่อต้านจากขั้วตรงข้าม โดยเฉพาะการสกัดทุกวิถีทางจากฝ่ายรัฐประหาร และแล้วประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่ลืมชื่อ “ทักษิณ” และ “ไทยรักไทย” พากันเข้าคูหาเลือก “พลังประชาชน” ชนะเลือกตั้งถล่มทลาย หนุนส่ง “สมัคร สุนทรเวช” ขุนพลพระนครเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 25 ภายใต้มอตโต้ที่ “สมัคร” คิดเอง “เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ด้วยพลังประชาชน”

เลือกตั้งครั้งนี้ มี สส. 480 คน แบ่งเป็นแบ่งเขต 400 คน และ สส.สัดส่วนกลุ่มจังหวัด 80 คน เป้าหมายของผู้ออกกติกาเลือกตั้ง ถูกมองว่าลดจำนวน สส.ลงเพื่อสกัดไม่ให้ “พลังประชาชน” เติบโตซ้ำรอย “ไทยรักไทย”

สิ้นเสียงการนับคะแนน “พลังประชาชน” ชนะเลือกตั้ง กวาด สส.มาได้เกือบครึ่งสภาฯ  233 คน มีประชาชนเทคะแนนให้ทั้งประเทศ 12,338,903 

ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งถูกมองว่าได้ประโยชน์จากกติกาการเลือกตั้งครั้งนี้ ได้ สส. 164 คน ได้คะแนน สส.สัดส่วน หรือคะแนนประเทศ 12,148,504  

2 ธ.ค.2551 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ "ยุบพรรคพลังประชาชน" ตัดสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรค 37 คน เป็นเวลา 5 ปี ด้วยเหตุกระทำการฝ่าฝืน พ.ร.ป.ด้วยการเลือกตั้ง สส.และการได้มาซึ่ง สว. พ.ศ. 2550 ที่มีผลทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยสุจริต และได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองที่ไม่เป็นไปตามวิถีทางของรัฐธรรมนูญ

ยุบพรรค \'ล้างขั้วอำนาจ\'  20 ปีพ่ายกี่ครั้ง ก็ยังชนะ

สส.พรรคพลังประชาชน และแกนนำ ถ่ายโอนสมาชิกไปเข้าสังกัด “พรรคเพื่อไทย” พรรคการเมืองแถวสามของ “ไทยรักไทย” ยกเว้น สส.ในกลุ่มเพื่อนเนวิน ชิดชอบ ที่ยกพวกไปอยู่กับพรรคการเมืองใหม่ “ภููมิใจไทย” และสามารถร่วมมือกับ“พรรคประชาธิปัตย์” พลิกขั้วตั้งรัฐบาลสำเร็จ จนถูกวิจารณ์ว่า เป็นการตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร

ยุบพรรค \'ล้างขั้วอำนาจ\'  20 ปีพ่ายกี่ครั้ง ก็ยังชนะ

การเลือกตั้งทั่วไป 3 ก.ค.2554 เป็นอีกครั้งที่พรรคการเมืองดีเอ็นเอ “ไทยรักไทย” ชนะเลือกตั้งในชื่อ“พรรคพลังประชาชน” 

แม้จะถูกยุบทำลายจากคำวินิจฉัยยุบพรรค แต่ “พรรคเพื่อไทย”ยังหาเสียงด้วยสโลแกน “ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ” พ่วงด้วยแคมเปญ “คิดใหม่ทำใหม่ เพื่อไทยทุกคน” ชู “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรก

และที่สุด “เพื่อไทย” สามารถชนะเลือกตั้ง กวาด สส.เกินครึ่งของสภาฯ 265 คน ได้คะแนน สส.บัญชีรายชื่อ 15,752,470 พรรคประชาธิปัตย์ ได้ สส. 159 คน คะแนนบัญชีรายชื่อ 11,435,640  

แม้จะเกิดการรัฐประหารซ้ำสองในรอบไม่ถึง 10 ปี เมื่อวันที่ 22 พ.ค.2557 กติกาเลือกตั้งถูกออกแบบให้ใช้บัตรเลือกตั้งเพียง 1 ใบ ด้วยระบบเลือกตั้งสูตรจัดสรรปันส่วนผสม คือ กาบัตร 1 ใบเลือกได้ทั้งเขต และบัญชีรายชื่อ มี สส.เขต 350 คน และบัญชีรายชื่อ 150 คน กติกานี้ถูกมองอีกครั้งว่า ต้องการสกัดไม่ให้พรรคชนะเลือกตั้งได้ สส.มากที่สุด

ยุบพรรค \'ล้างขั้วอำนาจ\'  20 ปีพ่ายกี่ครั้ง ก็ยังชนะ

เลือกตั้งทั่วไป 24 มี.ค.2562 พรรคเพื่อไทย แม้ชนะเลือกตั้ง ได้ สส. 136 คน แต่ไม่ได้ สส.บัญชีรายชื่อแม้แต่คนเดียว

“เพื่อไทย” ชูแคนดิเดตนายกฯ 3 คน คือ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ชัยเกษม นิติสิริ แต่ไปไม่ถึงฝัน ไม่ได้เป็นนายกฯ แม้ชนะเลือกตั้ง เพราะด้วยรัฐธรรมนูญออกแบบสูตรเลือกตั้งแบบคำนวณ โดยตัดคะแนน สส.พรรคอนาคตใหม่ ทำให้ "พรรคพลังประชารัฐ" ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล “พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา” เป็นนายกฯ สมัยที่ 2

"อนาคตใหม่" ถูกยุบ เกิด "ก้าวไกล"

เลือกตั้งครั้งนี้ พรรคเพื่อไทยได้ สส. 136 คน มีคะแนนประเทศ 7,881,006 พรรคพลังประชารัฐ สส.116 คน 8,441,274 คะแนน ส่วนพรรคอันดับ 3 เป็นพรรคน้องใหม่ “อนาคตใหม่” ลงเลือกตั้งครั้งแรกสร้างปรากฏการณ์กวาด สส. 81 คน ได้ คะแนนประเทศ 6,330,617 

“พรรคอนาคตใหม่” แม้ไม่ใช่พรรคที่ชนะเลือกตั้ง เป็นพรรคการเมืองปีกประชาธิปไตย มีจุดยืนต่อต้านการรัฐประหาร และการสืบทอดอำนาจของ คสช.

21 ก.พ.2563 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติยุบพรรคอนาคตใหม่ จากกรณี “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคให้พรรคอนาคตใหม่ให้กู้ยืมเงินจำนวน 191 ล้านบาท ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 โดยศาลได้ยุบพรรคพร้อมตัดสิทธิลงสมัครเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรค 10 ปี

พรรคอนาคตใหม่ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคไปในวันที่ 21 ก.พ.2563 และตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค 10 ปี ห้ามลงสมัครรับเลือกตั้ง ห้ามเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมือง และห้ามจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมือง

บรรดา สส.พรรคอนาคตใหม่ส่วนใหญ่ย้ายไปสังกัดพรรคก้าวไกล ขณะที่บางส่วนกลายเป็น “งูเห่า” ถูกพลังดูดย้ายไปสังกัดพรรคภูมิใจไทย พรรคพลังประชารัฐ

ยุบพรรค \'ล้างขั้วอำนาจ\'  20 ปีพ่ายกี่ครั้ง ก็ยังชนะ

ยุบ "ก้าวไกล" พรรคที่เพิ่งชนะเลือกตั้ง

การเลือกตั้งทั่วไป 14 พ.ค.2566 แก้กติกามาใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ มี สส. 500 คน แบ่งเขต 400 คน บัญชีรายชื่อ 100 คน “พรรคก้าวไกล” ชนะเลือกตั้งแบบพลิกความคาดหมาย กวาด สส.151 คน ได้คะแนน สส.บัญชีรายชื่อ 14,438,851  

อันดับ 2 พรรคเพื่อไทย ที่ถูกเก็งมาตั้งแต่โค้งแรกว่าจะชนะเลือกตั้ง แต่กลับพ่ายแพ้ครั้งแรกในรอบ 20 กว่าปี ได้ สส. 141 คน คะแนนบัญชีรายชื่อ 10,962,522  

“พรรคก้าวไกล” ชนะเลือกตั้ง “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” พลาดตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพราะด้วยกลไกของรัฐธรรมนูญที่ยังให้อำนาจพิเศษ สว.ร่วมโหวตเลือกนายกฯ มติของรัฐสภาเมื่อวันที่ 22 ส.ค.2566 เห็นชอบให้ “เศรษฐา ทวีสิน” เป็นนายกฯ คนที่ 30 ด้วยเสียงพันธมิตรจากพรรคการเมืองในขั้วรัฐบาลเดิม

ยุบพรรค \'ล้างขั้วอำนาจ\'  20 ปีพ่ายกี่ครั้ง ก็ยังชนะ

7 ส.ค. 2567 “ก้าวไกล” เผชิญวิบากกรรมซ้ำรอย “อนาคตใหม่” อีกครั้ง จากฐานความผิดที่มี สส.44 คนร่วมกันเสนอแก้ไข มาตรา 112 เมื่อปี 2564 ลามมาถึงปี 2567

ปิดฉาก “พรรคก้าวไกล” อวสานพรรคชนะเลือกตั้งแต่ไม่ได้จัดตั้งรัฐบาล ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยยุบพรรรคก้าวไกล จากข้อหาล้มล้างการปกครอง และกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครอง ตัดสิทธิสมัครเลือกตั้ง “พิธา” พร้อมกรรมการบริหารพรรค รวม 11 คน เป็นเวลา 10 ปี โดยนับเหตุแห่งการกระทำผิด ช่วงตั้งแต่วันที่ 25 มี.ค.2564 - 31 ม.ค.2567

“ก้าวไกลไปต่อ” คือ สโลแกนที่ “ชาวขุนพลสีส้ม” ไม่สยบยอมต่อคำวินิจฉัยยุบพรรค เพราะคีย์แมนขุนพลเฉดส้ม ได้วางยุทธศาสตร์ “เมล็ดพันธุ์ทางความคิด” ปลูกฝังต่อกับพรรคการเมืองแถวสาม ซึ่งขุนพลมันสมอง “พรรคก๊กส้ม” อ่านเกมยุบว่า “ยิ่งยุบยิ่งทำลาย” ก็ยิ่งโตวันโตคืนอยู่ดี

 

 


พิสูจน์อักษร....สุรีย์   ศิลาวงษ์