ปิดฉากนายกฯ 358 วัน! ฉบับเต็มศาล รธน. ‘เศรษฐา’ ผิดจริยธรรมร้ายแรง - เอื้อคนนอก
ปิดฉากตำแหน่งนายกฯ 358 วัน! เปิดฉบับเต็มมติศาลรัฐธรรมนูญ เสียงข้างมาก 5:4 วินิจฉัย ‘เศรษฐา’ ผิดมาตรฐานทางจริยธรรมร้ายแรง เอื้อประโยชน์คนนอกผลักดันตั้ง ‘พิชิต’ เป็นรัฐมนตรี
เมื่อวันที่ 14 ส.ค.2567 ศาลรัฐธรรมนูญ ประชุมปรึกษาคดีที่สำคัญ และเป็นที่สนใจ เรื่องพิจารณาที่ 17/2563 กรณีประธานวุฒิสภาส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และนายพิชิต ชื่นบาน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบ มาตรา 160 (4) และ (5) หรือไม่
ต่อมาในเวลา 15.00 น. ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาความเป็นรัฐมนตรีของนายกฯ สิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบ มาตรา 160 (4) และ (5) หรือไม่ เห็นว่า สำหรับคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160 (5) รัฐธรรมนูญ มาตรา 19 บัญญัติให้นำมาตรฐานทางจริยธรรมฯ มาใช้บังคับแค่ ครม.ด้วย โดยมาตรฐานทางจริยธรรมฯ ข้อ 3 วรรคสอง กำหนดว่า มาตรฐานทางจริยธรรมฯ นี้ ให้บังคับใช้แก่ ครม. ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 219 วรรคสอง ด้วย ข้อ 7 ต้องถือประโยชน์ของประเทศชาติเหนือกว่าประโยชน์ส่วนตน ข้อ 8 ข้อ 11 ข้อ 17 วรรคหนึ่ง วรรคสอง และข้อ 19
นอกจากนั้นยังปรากฏเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ตามคำปรารภว่า รัฐธรรมนูญวางกลไกป้องกันตรวจสอบ ป้องกันการทุจริต และประพฤติมิชอบเข้มงวดเด็ดขาด เพื่อไม่ให้ผู้บริหารปราศจากคุณธรรมจริยธรรม ธรรมาภิบาล เข้ามาปกครองบ้านเมือง หรือใช้อำนาจตามอำเภอใจ จึงบัญญัติคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 เป็นคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามเพิ่มเติมจากลักษณะต้องห้ามของบุคคลที่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น สส. ตามมาตรา 98 สอดคล้องเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ บุคคลมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ต้องมีคุณสมบัติสูงกว่า สส. เพราะรัฐมนตรีเป็นผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานทางบริหาร และการปกครองประเทศ ความแตกต่างของคุณสมบัติตามมาตรา 160 (4) (5) นั้น เป็นกรณีความซื่อสัตย์สุจริตในภาพรวมทั่วไปที่ปรากฏในสังคม ส่วน (5) กรณีเฉพาะเจาะจงกำหนดในมาตรฐานทางจริยธรรมฯ
การพิจารณาว่าบุคคลใดมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ตาม 160 (4) และไม่ฝ่าฝืนหรือปฏิบัติตามจริยธรรม 160 (5) นั้น เป็นดุลยพินิจของนายกฯ จะต้องเป็นผู้พิจารณาในฐานะผู้รับผิดชอบในการนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งรัฐมนตรี และรับสนองพระบรมราชโองการดังกล่าว โดยผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ต้องรับผิดชอบ เพราะพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยตามที่มีผู้ถวายคำแนะนำ
โดยนายกฯ มีความรับผิดชอบ 3 ประการ ได้แก่ 1.ความรับผิดชอบตามแบบพิธี 2.ความรับผิดชอบในข้อความของเอกสารที่นำกราบบังคมทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย 3.ความรับผิดชอบในสารัตถะที่ถูกต้อง และความชอบของรัฐธรรมนูญ และกฎหมายในการบริหารราชการแผ่นดิน
ข้อเท็จจริงปรากฏว่า นายพิชิต เคยต้องโทษตามคำสั่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จาก “คดีถุงขนม 2 ล้านบาท” ซึ่งอาจเชื่อมโยงเป็นประโยชน์กับจำเลย (ทักษิณ ชินวัตร” คดีที่ดินรัชดาภิเษกที่อยู่การพิจารณาของศาลฎีกาฯ การกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดอำนาจศาล และน่าจะมีมูลความผิดฐานให้สินบนเจ้าพนักงาน หรือความผิดอื่นต่อเจ้าพนักงาน นอกจากนี้นายพิชิต ประกอบอาชีพทนายความ และที่ปรึกษากฎหมายย่อมตระหนักดีว่า การกระทำดังกล่าวส่งผลเสียต่อสถาบันศาลยุติธรรม ส่งผลให้ จึงลงโทษสถานหนักลงโทษนายพิชิต และผู้ถูกกล่าวหาอื่นรวม 3 คน จำคุกคนละ 6 เดือน
ต่อมาในปี 2552 สภาทนายความฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า การที่นายพิชิตถูกลงโทษละเมิดอำนาจศาล เป็นการกระทำไม่เคารพอำนาจศาล ทำให้เสื่อมเสียอำนาจศาล และกระทบความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมไทย ผิดข้อบังคับสภาทนายความฯ ข้อ 6, 18 จึงสั่งลบชื่อนายพิชิต และผู้ถูกกล่าวหาที่เกี่ยวข้องออกจากทะเบียนความ
ต่อมามีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ นายเศรษฐา เป็นนายกฯ เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2566 และโปรดเกล้าฯ ครม.ในวันที่ 1 ก.ย.2566 โดยไม่ปรากฏนายพิชิตเป็นรัฐมนตรี ต่อมาเมื่อวันที่ 27 เม.ย.2567 นายเศรษฐา ได้กราบบังคมทูลเพื่อปรับปรุงรัฐมนตรีบางตำแหน่ง และปรากฏชื่อนายพิชิต เป็น รมต.ประจำสำนักนายกฯ จึงมีมูลต้องพิจารณาว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา นายกฯ สิ้นสุดลงเฉพาะตัว เพราะไม่ซื่อสัตย์เป็นที่ประจักษ์ และไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมฯ อย่างร้ายแรงจากการเสนอชื่อนายพิชิตเป็นรัฐมนตรีหรือไม่
โดยตามคำชี้แจงของนายเศรษฐา กล่าวอ้างนั้น เห็นว่า นายเศรษฐา ควรรู้ว่านายพิชิต ขาดคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ตามมาตรา 160 (4) (5) เนื่องจากนายพิชิตเคยถูกจำคุก 6 เดือนฐานละเมิดอำนาจศาล และถูกสภาทนายความลบชื่อออกจากทะเบียนทนายความ แม้คณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นว่า พ้นโทษเกิน 10 ปี ได้รับข้อยกเว้น ไม่เป็นลักษณะต้องห้ามเป็นรัฐมนตรี แต่ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาดังกล่าว ให้ความเห็นคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160 (6) (7) เท่านั้น ไม่รวมถึงลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160 (4) (5)
เมื่อพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกฯ เมื่อ 22 ส.ค.2566 และโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ครม. เมื่อ 1 ก.ย. 2566 ไม่ปรากฏนายพิชิต เป็นรัฐมนตรี แต่ภายหลังเมื่อ 27 เม.ย. 2567 ปรากฏนายพิชิต ได้รับแต่งตั้งเป็น รมต.สำนักนายกฯ จึงมีปัญหาข้อเท็จจริงพิจารณาว่า นายเศรษฐารู้ข้อเท็จจริงว่านายพิชิต มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญหรือไม่
จากการไต่สวนนายเศรษฐา และเลขาธิการ ครม. ชี้แจงว่า กระบวนการเสนอชื่อบุคคลกราบบังคมทูล เพื่อโปรดเกล้าฯ ครม. ต้องตรวจสอบคุณสมบัติบุคคลที่ถูกเสนอชื่อเป็นรัฐมนตรี โดยสำนักงานเลขาธิการ ครม.เป็นผู้จัดทำคุณสมบัติผู้เสนอชื่อแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี และให้ผู้ได้รับการเสนอชื่อตรวจสอบคุณสมบัติตัวเอง หากพบปัญหาข้อกฎหมายคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้าม จะหารือไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา และทำหนังสือสรุปนายกฯ เพื่อนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
นายเศรษฐา ย่อมต้องทราบประวัติ และลักษณะต้องห้ามของนายพิชิต จากเอกสารการตรวจประวัติที่เลขาธิการ ครม. เสนอมา และการชี้แจงของนายเศรษฐา ชี้แจงว่า นายพิชิตเคยได้รับโทษตามคำสั่งศาลฎีกาฯ ฐานละเมิดอำนาจศาลในปี 2551 และถูกลบชื่ออกจากสภาทนายความตั้งแต่ปี 2552 มาพิจารณาด้วย ประกอบกับไม่มีพฤติการณ์หรือกระทำอื่นใดที่นายพิชิตมาโต้แย้ง รวมถึงไม่พบว่านายพิชิตกระทำอะไรเป็นพิเศษ ไม่ถูกฟ้องคดีอาญา ทำให้นายเศรษฐาใช้วิจารณญาณวินิจฉัยว่า นายพิชิต ไม่ได้ขาดคุณสมบัติเป็นรัฐมนตรี สอดคล้องกับเลขาธิการ ครม.ที่ว่า เมื่อตรวจสอบในประเด็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้าม จึงรายงานต่อนายเศรษฐา และนายเศรษฐาให้สำนักเลขาธิการ ครม.หารือคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อให้ได้ข้อยุติโดยเร็ว
ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้ว รับฟังได้ว่า นายเศรษฐา รู้หรือควรรู้พฤติการณ์ของนายพิชิต ที่ถูกกล่าวหาว่า มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160 ไม่ว่าอนุมาตราใดมาตราหนึ่ง ก่อนเสนอตัดสินใจแต่งตั้งนายพิชิตเป็นรัฐมนตรี เมื่อนายเศรษฐารู้หรือควรรู้พฤติการณ์นายพิชิตแล้ว แต่ยังเสนอชื่อแต่งตั้งเป็น รมต.ประจำสำนักนายกฯ เป็นกรณีที่นายเศรษฐา ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริต และฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ขาดคุณสมบัติตามมาตรา 160 (4) หรือไม่
เห็นว่า พฤติการณ์ที่นายพิชิตถูกลงโทษ และถูกลบชื่อทนายความ เป็นการเสื่อมเสียต่อศักดิ์ศรีเกียรติคุณของทนายความอย่างมาก เป็นการไม่ซื่อสัตย์สุจริตหรือไม่ เพราะซื่อสัตย์สุจริตไม่ใช่แค่ทุจริต หรือประพฤติมิชอบเท่านั้น แต่ต้องเชื่อมั่นศรัทธา เชื่อถือได้ ให้วิญญูชนทราบว่า ยอมรับว่าเป็นคนซื่อสัตย์ หากเห็นว่าไม่เป็นเช่นนั้นย่อมถือว่า ไม่ใช่มีความซื่อสัตย์เป็นที่ประจักษ์ ข้อเท็จจริงต้องยุติแล้ว ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นได้อีก เมื่อนายพิชิตมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 140 วรรคหนึ่ง (4) การที่นายเศรษฐา เสนอชื่อนายพิชิตเป็นรัฐมนตรี ย่อมปฏิบัติไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เพราะเสนอบุคคลที่ไม่สมควรได้รับการแต่งตั้ง ให้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง
แม้นายเศรษฐา อ้างว่ามาจากการทำธุรกิจ ไม่มีความรู้ด้านนิติศาสตร์ และรัฐศาสตร์ ไม่รู้ว่านายพิชิตมีลักษณะต้องห้าม เป็นข้ออ้างรับฟังไม่ได้ เพราะนายกฯ เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดในฝ่ายบริหาร ทุกการตัดสินใจกระทบบ้านเมือง ประกอบการพิจารณาความซื่อสัตย์ และความน่าเชื่อถือต่อสาธารณชน เป็นปัญหาข้อเท็จจริงประจักษ์ชัด เป็นเรื่องภววิสัย ไม่ต้องใช้ความชำนาญโดยเฉพาะ เพียงตระหนักรู้ตามวิจารณญาณของวิญญูชน
เมื่อข้อเท็จจริงพฤติการณ์ของนายพิชิต สาธารณชนรู้โดยทั่วไป เป็นเหตุให้ศาลฎีกาฯ จำคุก ชัดแจ้งว่าไม่สมควรเป็นอย่างยิ่ง ผิดไปจากปกติวิสัยที่วิญญูชนปฏิบัติ เมื่อนายเศรษฐา เป็นนายกฯ นำความกราบบังคมทูลฯ เพื่อพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ทั้งที่ข้อเท็จจริงประจักษ์ชัดว่า เป็นกรณีต้องห้ามตามมาตรา 106 (4) โดยมิได้ใช้วิจารณญาณเยี่ยงวิญญูชน และไม่ได้คำนึงถึงรัฐธรรมนูญ การที่นายกฯเสนอแต่งตั้งใครเป็นรัฐมนตรี ไม่ได้อาศัยความไม่ไว้วางใจส่วนตน เพราะ ครม.ต้องได้รับความไว้วางใจจากสภาฯ ซึ่ง ครม.หมายถึงนายกฯ และรัฐมนตรีต้องได้รับความไว้วางใจจากประชาชนด้วย อันเป็นการเชื่อถือทางความเป็นจริง โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เจตนาป้องกันไม่ให้คนขาดคุณธรรมมาปกครองบ้านเมือง ตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) (5) บัญญัติ จึงเป็นคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามสำคัญของรัฐธรรมนูญ ที่ไม่เคยมีมาก่อนในรัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้
แม้นายกฯ จะวินิจฉัยการเสนอบุคคล ที่ไว้วางใจ ให้ดำรงตำแหน่งรัฐธรรมนูญ แต่บุคคลนั้นต้องมีคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160 แล้ว บุคคลนั้นต้องน่าเชื่อถือ และไว้วางใจจากประชาชนตามมาตรฐานวิญญูชนด้วย ดังนั้นนายเศรษฐา จึงขาดคุณสมบัติซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ตาม 160 (4)
ส่วนที่กล่าวอ้างว่า การเสนอ ครม. ครั้งที่ 2 คณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็นเฉพาะกรณีคุณสมบัติลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160 (6) (7) แต่การแต่งตั้ง ครม.ครั้งที่ 2 ไม่ได้มีการสอบถามคณะกรรมการกฤษฎีกาเพิ่มเติม นายเศรษฐา และเลขาธิการ ครม.ชี้แจงประเด็นดังกล่าว ประกอบเอกสารจากคณะกรรมการกฤษฎีกา รับฟังได้ว่า การเสนอชื่อ ครม. เมื่อวันที่ 1 ก.ย.2566 และวันที่ 27 เม.ย.2567 มีกระบวนการตรวจสอบโดยหน่วยงานที่มีอำนาจดำเนินการ คือ สำนักเลขาธิการ ครม. ตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามตามกรอบอำนาจหน้าที่ เมื่อมีข้อสงสัยกฎหมายได้รายงานนายกฯทราบ เพื่อหารือยังคณะกรรมการกฤษฎีกา เมื่อคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็นประเด็นคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามแล้ว นายกฯ จะได้ปฏิบัติตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาต่อไป
เห็นว่า การเสนอแต่งตั้ง ครม.ของนายเศรษฐา นอกจากหารือกฤษฎีกาแล้ว ในฐานะนายกฯ ต้องใช้วิจารณญาณว่า น่าเชื่อถือ ไว้วางใจ การที่นายเศรษฐา บอกว่า ภูมิหลังว่ามาจากการทำธุรกิจ มีประสบการณ์การเมืองจำกัด ไม่มีความรู้ทางนิติศาสตร์ และรัฐศาสตร์ จึงไม่รู้ว่านายพิชิตขาดคุณสมบัติหรือไม่ รับฟังไม่ได้ เพราะหลักเกณฑ์พิจารณาความซื่อสัตย์สุจริต ไม่ใช่ปัญหาความรู้ความชำนาญโดยเฉพาะ เพียงตระหนักรู้ตามแบบวิญญูชนทั่วไป ก็เพียงพอวินิจฉัยได้แล้ว การที่ปรากฏคำสั่งศาลฎีกาฯ ลงโทษนายพิชิต ที่สาธารณชนรู้โดยทั่วไป แม้อัยการสั่งไม่ฟ้องนายพิชิตกับพวกเป็นคดีอาญาคดีสินบน หรือผิดอาญาอื่นก็ตาม แต่การฟ้องคดีอาญามุ่งกล่าวโทษเอาผิดบุคคลที่ต้องลงโทษทางอาญา เป็นโทษที่ถึงแก่ชีวิต เสรีภาพ กระทบกระเทือนเสรีภาพบุคคลร้ายแรง
โดยมาตรฐานทางจริยธรรมฯ พิจารณาว่า การฟ้องหรือลงโทษอาญาบุคคลใดต้องพิจารณาให้ครบองค์ประกอบ การที่อัยการไม่ฟ้อง ไม่ใช่ไม่มีปัญหาว่าน่าเชื่อถือหรือไว้วางใจทางการเมือง การกระทำของนายพิชิตที่ศาลฎีกาฯ สั่งลงโทษ เป็นพฤติการณ์ชัดแจ้งว่า ไม่สมควรอย่างยิ่ง ผิดปกติวิสัยที่วิญญูชนประพฤติปฏิบัติ เช่น นำเงิน 2 ล้านบาทใส่ถุงมอบเจ้าหน้าที่ศาลฎีกาฯ อ้างว่าหยิบสลับกับถุงขนมช็อกโกแลต ยากที่วิญญูชนเชื่อเป็นเช่นนั้น ดังนั้นผู้เคยมีพฤติการณ์ดังกล่าว ไม่มีความไว้วางใจ แต่นายเศรษฐา ยังคงเสนอนายพิชิตเป็นรัฐมนตรี นายเศรษฐาจึงไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ขาดคุณสมบัติ และมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160 (4)
ข้อที่ผู้ร้องกล่าวอ้างว่าการฝ่าฝืนปฏิบัติมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง 160 (5) มีการเข้าพบบุคคล ซึ่งนายพิชิตเป็นหัวหน้าทนายความประจำตัว จึงเป็นมูลเหตุจูงใจให้นายเศรษฐา ต้องการเอื้อประโยชน์แก่คนดังกล่าว และเมื่อนายเศรษฐาพบบุคคลดังกล่าวแล้ว ได้นำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง นายพิชิต เป็นรัฐมนตรี ทั้งที่เคยถอนชื่อ หรือให้นายพิชิต ถอนชื่อจากการเสนอแต่งตั้งรัฐมนตรี เมื่อ 1 ก.ย.2566 เป็นพฤติการณ์แสดงให้เห็นว่า นายเศรษฐา ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ฝ่าฝืนอย่างร้ายแรง ยินยอมให้ผู้อื่นใช้อำนาจหน้าที่ในตำแหน่งนายกฯ เพื่อให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี เอาประโยชน์ส่วนตนหรือประโยชน์ประเทศชาติ ขัดกับระหว่างส่วนตน กับส่วนรวม ทั้งนี้ไม่ว่าโดยทางตรง หรือทางอ้อม เป็นการก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ดำรงตำแหน่งนายกฯ สมคบสมาคมกับผู้มีความประพฤติ หรือมีชื่อเสียงในทางเสื่อมเสีย อันอาจกระทบกระเทือนต่อความเชื่อถือศรัทธาของประชาชนในการปฏิบัติหน้าที่ของนายกฯ ขัดมาตรฐานทางจริยธรรมฯ ข้อ 7 8 11 17 และข้อ 19 ซึ่งรัฐธรรมนูญ 219 วรรคสอง บัญญัติให้ใช้บังคับแก่ ครม.ด้วย
นายเศรษฐา จึงมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160 (5) ด้วย การวินิจฉัยว่ารัฐมนตรีคนใด มีพฤติกรรมอันฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติทางจริยธรรมร้ายแรงตามมาตรา 160 (5) เป็นหน้าที่ และอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อการวินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีผู้นั้นสิ้นสุดลงหรือไม่ตาม 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ส่วนหน้าที่อำนาจของศาลฎีกา ส่วนรัฐธรรมนูญมาตรา 234 วรรคหนึ่ง (1) และมาตรา 235 วรรคหนึ่ง (1) กำหนดให้วินิจฉัยคดีผิดมาตรฐานจริยธรรม หากสงสัยว่ามีพฤติกรรมไม่น่าเชื่อถือ วินิจฉัยว่าผู้นั้นสมควรดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่ ไม่ว่าผู้นั้นดำรงตำแหน่งทางการเมืองอยู่ขณะนั้นหรือไม่
เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า การที่นายเศรษฐา รู้หรือควรรู้ข้อเท็จจริงต่างๆ เกี่ยวกับพฤติการณ์ของนายพิชิต โดยตลอดแล้ว แต่ยังเสนอแต่งตั้งให้นายพิชิต เป็น รมต.ประจำสำนักนายกฯ แสดงให้เห็นว่า นายเศรษฐา ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ขาดคุณสมบัติตามมาตรา 160 (4) ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมฯ หมวด 1 ข้อ 8 ซึ่งข้อ 27 กำหนดให้การฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมฯในหมวด 1 ให้ถือว่ามีลักษณะร้ายแรง ต้องห้ามตามมาตรา 160 (5) ด้วย
อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 เสียงวินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลง เฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ไม่ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ขาดคุณสมบัติ 160 (4) และฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมร้ายแรง ลักษณะต้องห้ามตาม 160 (5) เมื่อความเป็นรัฐมนตรีของนายกฯ สิ้นสุดลง ตามมาตรา 170 (4) แล้ว รัฐมนตรีต้องพ้นตำแหน่งทั้งคณะ ตามรัฐธรรมนูญ 167 วรรคหนึ่ง (1) มาใช้บังคับการปฏิบัติหน้าที่ของ ครม.ที่พ้นตำแหน่งต่อไป
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์