ถอด ‘เศรษฐา’ เกมยาก ‘ทักษิณ’ คัมแบ็คการเมือง แบบ 'สง่างาม'
ศาลรัฐธรรมนูญ ชี้ชัด การผิดจริยธรรมร้ายแรง ของ "เศรษฐา" กรณีตั้งคนมีชื่อเสียงเสื่อมเสียเป็น รัฐมนตรี กลายเป็นบรรทัดฐานการเมือง โยงถึง "ทักษิณ" ส่อเป็นเกมยาก หากคัมแบ็คการเมืองแบบสง่างาม
มติของ ศาลรัฐธรรมนูญ 5 ต่อ 4 ให้ “เศรษฐา ทวีสิน” พ้นจากตำแหน่ง “นายกฯ” ในกรณีที่เสนอชื่อ “พิชิต ชื่นบาน” ผู้มีประวัติด่างพร้อย ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ที่ถือว่าเป็นพฤติกรรมที่เข้าข่ายกระทำผิดจริยธรรมร้ายแรง
กรณีนี้ถือว่าคำวินิจฉัยของ “ศาลรัฐธรรมนูญ” ได้ “วางมาตรฐาน”การเมืองบทใหม่ ว่าด้วยการดูตาม้าตาเรือให้ดี และดูให้ถี่ถ้วน ก่อนจะแต่งตั้งใครเข้ามารับตำแหน่งทางการเมือง โดยเฉพาะตำแหน่ง “รัฐมนตรี” ที่มีอำนาจในทางบริหารราชการแผ่นดิน
โดยเฉพาะการยึดถือบทบัญญัติของ “รัฐธรรมนูญ2560” และ มาตรฐานจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2561 ที่บังคับใช้กับ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งเป็นกลไกคัดกรอง “คนดี” เข้ามาทำหน้าที่ปกครองบ้านเมือง กลายเป็นกติกาที่ต้องยึดถือปฏิบัติให้ดี
การอ้างว่า ไม่มีความรู้ทางกฎหมาย ทางรัฐศาสตร์ หรือให้หน่วยงานที่มีหน้าที่ตรวจสอบแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่า “ไม่ใช่ข้ออ้างและฟังไม่ขึ้น” เพราะกรณีของ “พิชิต” ที่มีประเด็น “ถุงขนม” วิญญูชนทั่วไปพึงทราบได้ว่าเป็นการกระทำไม่สมควร และการดันแต่งตั้งต่อไป จะมีผลกระทบต่อความเชื่อถือศรัทธาของ “ผู้นำประเทศ”
ในแง่ของการวางบรรทัดฐานทางการเมือง “บทใหม่” ตามมุมมองของ นักกฎหมาย “เจษฎ์ โทณวะณิก” อดีตที่ปรึกษากรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) มองว่า ทำให้เกิดมาตรฐานขั้นสูงของ “ฝ่ายการเมือง” ต่อการแต่งตั้งบุคคลเข้ามาทำหน้าที่
“คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ทำให้มาตรฐานจริยธรรมสูงขึ้น มีเกณฑ์พิจารณาโดยเฉพาะความซื่อสัตย์เป็นที่ประจักษ์ การปล่อยให้คนที่มีมลทิน หรือมองโดยรวมแล้วมีปัญหาในความซื่อสัตย์ จำเป็นต้องพิจารณาในระดับสูง อีกทั้งประเด็นนี้จะเป็นหลักเกณฑ์ที่ใช้เป็นบรรทัดฐานต่อไปในทางการเมือง ทั้งระดับชาติ และท้องถิ่น” อ.เจษฎ์ ระบุ
ขณะที่ นักวิชาการสถาบันพระปกเกล้า “สติธร ธนานิธิโชติ” ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย มองว่า ผลของคำวินิจฉัยคดีนี้ ต่อจากนี้ไปจะเสนอใครเป็นรัฐมนตรี ต้องตรวจสอบจริยธรรมที่เป็นมาตรฐานขั้นสูง ซึ่งอาจมีประเด็นว่า การตรวจสอบ “จริยธรรม” นั้น จะใช้เกณฑ์อะไรเป็นจุดวัด เนื่องจากไม่มีเครื่องมือให้ตรวจสอบ ซึ่งต่างจากการแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี มีบทกำหนดให้ตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160
ในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่มีผลผูกพันกับทุกองค์กรนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่า คดีถอด “เศรษฐา” ออกจากตำแหน่งนายกฯนั้น ยังมี เอฟเฟ็กต์ที่ต้องจับตา ในกรณีของ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯ ที่ประกาศว่า หลังพ้นโทษปลายเดือนสิงหาคมนี้ จะเข้ามาช่วยงานการเมืองลูกสาว
แม้ยังไม่ชัดว่า จะ “เข้ามาช่วย” โดยมีตำแหน่งตามกฎหมาย ที่ต้องยึดกติกาตามรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดเป็นบทเฉพาะของ “ตำแหน่ง” ที่จะได้รับ หรือ เป็น ตำแหน่งที่อยู่เหนือจาก “รัฐธรรมนูญ” กำหนด
ทว่าในรายละเอียดของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ อาจตัดตอน “ใบเบิกทาง” ของ “ทักษิณ” ที่จะทวงศักดิ์ศรี และได้เปิดหน้า มีบทบาทบนเวทีการเมือง
เพราะอาจอาศัยถ้อยคำของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ยื่นร้อง “คนกล้าแต่งตั้ง” ว่าเข้าข่าย “เป็นผู้ที่สมคบ คบค้าสมาคม ผู้มีชื่อเสียงในทางเสื่อมเสีย อันอาจกระทบต่อความเชื่อถือศรัทธาของประชาชนในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้เสนอแต่งตั้ง” ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และโยงเป็นการกระทำที่ขัดต่อมาตรฐานจริยธรรม ปี2561 ข้อ 7 ข้อ 8 ข้อ11 ข้อ 17 และ ข้อ19 ที่กำกับการปฏิบัติหน้าที่ ที่คำนึงถึงความซื่อสัตย์สุจริต ไม่แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ ทำสิ่งที่ขัดกันแห่งผล ได้ประโยชน์ รวมถึงไม่ทำสิ่งที่เสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ ด้วยการคบหา สมาคมคู่กรณี ผู้ทำผิดกฎหมาย ผู้มีชื่อเสียงเสื่อมเสีย
เรื่องนี้ “นักวิชาการจากสถาบันพระปกเกล้า” ย้ำในเคสของ “ทักษิณ” ว่า “ในทางการเมืองนั้นละเอียดอ่อน ต้องคิดให้ดี และต้องทำถูกตามกฎหมาย” เช่นเดียวกับ “อ.เจษฎ์” ที่มองว่า “เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายอีกต่อไป แม้จะมีตำแหน่งที่ปรึกษาของนายกฯรองรับ”
กับอีกแรงกระเพื่อมหลัง คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ คือการเปลี่ยนตัวนายกฯ และเปลี่ยนคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตามรัฐธรรมนูญแล้วไม่กำหนดระยะเวลาไว้รองรับว่า “เมื่อมีอุบัติเหตุ” ต้องเปลี่ยนนายกฯ จะต้องโหวตเลือกนายกฯ คนใหม่ ภายในกี่วัน แม้ “เพื่อไทย” ยังเป็นพรรคแกนนำ แต่ต้องคอยฟังสัญญาณจาก “ทักษิณ” ที่เป็นคนคุมเกมอยู่เบื้องหลัง
แม้จะมี “แคนดิเดตนายกฯ” อยู่ให้เป็นตัวเลือก ทว่าใครจะเป็นผู้ไว้วางใจ ที่ประคองอำนาจให้อยู่ใน “กระดานเกมของผู้มีอำนาจฝั่งเพื่อไทย"
ดังนั้นช่วงนี้จึงไม่ต่างอะไรกับ “ห้วงสุญญากาศทางการเมือง” และต้องจับตาถึง จุดเปลี่ยนการเมืองที่ไม่มีใครอยากให้ไปถึง คือการล้างขั้ว จนถึงขั้น “ยุบสภา”.