สัญญาณเร่งเกม รื้อ ‘รธน.60’ ป้องนายกฯ ปล่อยผีการเมือง
สภาฯ เห็นชอบ การแก้ กม.ประชามติแล้ว ไทม์ไลน์ต่อไปต้องจับตา การยืนยันของ นายกฯ แพทองธาร ว่าจะเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญอย่างไร ตัวแทนเพื่อไทยส่งสัญญาณควรเร่งเกม เพื่อป้องนายน้อย - ปล่อยผีการเมือง
KEY
POINTS
Key Point :
- สภาฯ เห็นชอบร่างพ.ร.บ.ประชามติ ปลดล็อก "เกณฑ์ผ่าน" ด้วยเสียงข้างมาก 2 ชั้น
- ความน่าสนใจของเนื้อหาที่แก้คือ แค่ใช้เสียงข้างมาก แถมเพิ่มสิทธิ "งดออกเสียง" ให้ผู้ที่ยังแคลงใจมีช่องสะท้อนความเห็น
- การเดินหน้าแก้ พ.ร.บ.ประชามติ "คนเพื่อไทย" มอง คือ กุญแจดอกแรกที่จะนำไปสู่ รื้อรัฐธรรมนูญ 2560 พร้อมส่งสัญญาณว่าเป็นการเดินเกมเพื่อช่วย "นายกฯ แพทองธาร"
- ประเด็นแรกคือ ไม่ให้ซ้ำรอยการถูกถอดถอนเหมือน "เศรษฐา ทวีสิน"
- ประเด็นสองคือ การคืนเสถียรภาพทางการเมืองให้รัฐบาล-ปล่อยผีการเมือง
- ทว่าในเกมแก้ รธน.นั้น ต้องรอฟังสัญญาณจาก "นายกฯ" คนใหม่อีกครั้ง ในการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ว่าจะเอาอย่างไร
สภาผู้แทนราษฎรผ่าน “ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ” ซึ่งแก้ไข “เกณฑ์เสียงข้างมาก 2 ชั้น” เพื่อคลายล็อกความยากของแนวทางที่นำไปสู่การ รื้อ “รัฐธรรมนูญ 2560” และเกิดกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยประชาชน
สาระในประเด็น “แก้เกณฑ์ผ่านประชามติ” ที่สภาฯ เห็นชอบ ที่สำคัญ คือ 1.ถือเอาเสียงข้างมากของผู้มาออกเสียงประชามติ และ 2.เสียงข้างมากนั้น ต้องมากกว่าคะแนน “งดออกเสียง”
ความน่าสนใจในเนื้อหาที่แก้ไขโดยคณะกรรมาธิการฯ ของสภาฯ ซึ่งมี “วุฒิสาร ตันไชย” นักวิชาการจากสถาบันพระปกเกล้า เป็นประธาน คือ การเปิดช่องให้ผู้มาออกเสียงประชามติมีทางออก นอกจากจะใช้สิทธิแค่ 2 ตัวเลือกคือ เห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วยเท่านั้น ยังมีช่อง “งดออกเสียง” หากเห็นว่า ในแง่มุมเรื่องที่ออกเสียงประชามตินั้น ยังมีรายละเอียดที่เห็นต่าง
เช่น ในกรณีของการตั้งคำถามประชามติ ที่กำหนดเงื่อนไข ห้ามแก้ไขหมวด 1 และหมวด 2
ขั้นตอนหลังจากที่ “สภาฯ” เห็นชอบแล้ว จะเข้าสู่การพิจารณาของ “วุฒิสภา”ตามไทม์ไลน์ของการแก้ไข “พ.ร.บ.ประชามติ” คาดว่าจะแล้วเสร็จและบังคับใช้ได้ภายในเดือนพ.ย.นี้ ก่อนที่จะนำไปสู่การออกเสียงประชามติ ในเดือนก.พ.2568 ในห้วงเดียวกับการเลือกตั้งท้องถิ่น
ทว่า ในไทม์ไลน์ที่เซตไว้ โดย “คณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญ 2560” ที่มี “ภูมิธรรม เวชยชัย” นั่งเป็นประธาน อาจต้องทบทวนใหม่ รวมไปถึง “คำถามประชามติ” ที่ขีดเงื่อนไข “ไม่แก้หมวด 1 และหมวด 2” ซึ่งเป็นคำถามตามนโยบายรัฐบาลเพื่อไทย ในยุคนายกฯ เศรษฐา
เนื่องจากมีปัจจัยของการ “เปลี่ยนตัวนายกฯ” และเงื่อนไขของการร่วมรัฐบาล รวมถึงนโยบายของพรรคร่วมรัฐบาล สู่ “นโยบายรัฐบาล” ที่เตรียมแถลงต่อรัฐสภาเร็วๆ นี้
ปฏิเสธไม่ได้ว่า หลังจากที่ “เศรษฐา ทวีสิน” ถูกสั่งให้พ้นจากตำแหน่งนายกฯ ทำให้นโยบายตามคำแถลงต่อรัฐสภา ต้องรอคำยืนยันว่า “แพทองธาร ชินวัตร” นายกฯ คนใหม่ จะหยิบนโยบายใดมาประกาศเป็นนโยบายเร่งด่วนต่อเนื่อง
เช่นเดียวกับ นโยบายการแก้รัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อนำไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จากประชาชน ผ่าน สภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่แม้เป็นหนึ่งในนโยบายของพรรคเพื่อไทย ก็ยังต้องรอคำยืนยันเช่นกัน
ทว่า กว่าที่จะได้เห็นคำแถลงนโยบายของ รัฐบาล-แพทองธาร ต่อเรื่องแก้รัฐธรรมนูญที่ชัดเจน ขณะนี้มีการส่งสัญญาณออกมาจาก “พรรคเพื่อไทย” ในการอภิปรายต่อที่ประชุมสภาฯ เมื่อ 21 ส.ค.67 ที่บอกกลายๆ ถึงจุดยืนที่จะเดินหน้าต่อไปอย่างไรในห้วงเวลาหลังจากนี้
ตามการอภิปรายของ “ขัตติยา สวัสดิผล” สส.บัญชีรายชื่อ เป็นตัวแทนของพรรค อภิปรายต่อที่ประชุมสภาฯ ไว้ตอนหนึ่ง ระบุว่า การแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติ คือกุญแจดอกแรกที่จะทำให้ประเทศไทยพ้นกับดักความสิ้นหวัง
โดย 1 ทศวรรษ มีประจักษ์พยาน 3 เหตุการณ์ คือ 1.ยุบพรรคก้าวไกล ตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค 2.สั่งให้เศษฐา ทวีสิน พ้นจากตำแหน่งนายกฯ และ 3.เป็นคำถามที่นายกฯ คนใหม่ แพทองธาร เผชิญภายหลังรับตำแหน่งคือ กังวลต่อการซ้ำรอยหลุดจากตำแหน่ง ซึ่งเป็นสัญญาณที่บ่งชี้ว่าการเมือง ไร้เสถียรภาพ ไม่แน่นอน และต่อเนื่องในการบริหารประเทศ และฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติถูกสั่นคลอน
“วิกฤติที่เกิดขึ้นไม่ใช่ความบังเอิญ แต่มีมูลเหตุมาจากรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ประชาชนส่วนใหญ่มีฉันทามติว่า เป็นต้นตอปัญหา ดังนั้นการผลักดันยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยประชาชน เพื่อประชาชน เป็นโจทย์สำคัญของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ต้องทำให้เกิดขึ้นจริงใน 4 ปี ตามสัญญาที่ให้ไว้ และปลดล็อกประเทศไทยให้พ้นจากความไร้เสถียรภาพทางการเมือง” ขัตติยา ระบุ ขณะที่ตัวแทน สส.เพื่อไทยคนอื่นๆ หนุนเสริมเรื่องนี้เช่นกัน
บ่งชี้ให้เห็นถึง “ธงนำ” ของพรรคเพื่อไทย ต่อการ “รีเซต”กติกาสูงสุดของประเทศ ที่รอบนี้อาจได้เห็นการขยับตัวบนเงื่อนไขด้านเวลา ที่กระชับเกมเร็ว แทนยื้อเวลา เนื่องจากมีชะตา และอนาคตการเมืองของ นายกฯ แพทองธารเป็นเดิมพัน
ท่าทีเพื่อไทย หลายปัจจัยเวลานี้ ต้องเร่งถางเสี้ยนหนาม เพื่อปกป้อง “นายน้อย” ฐานะนายกฯ หญิงคนที่ 2 ของตระกูลชินวัตร ไม่ให้ถูก “กลเกมในรัฐธรรมนูญ” เล่นงาน โดยเฉพาะความเสี่ยงถูกถอดถอนซ้ำรอยเศรษฐา ทวีสิน
รวมถึงขจัด เงื่อนไขบางประการของรัฐธรรมนูญ เพื่อปล่อยผีคนการเมืองให้คืนสังเวียน ลุกมาทวงคืนศักดิ์ศรีของ “ตระกูลใหญ่”
ต้องจับตานโยบายเพื่อไทยที่อาจเปลี่ยนเป็นเกมเร็ว เพื่อหวังรื้อเดดล็อก แต่อาจไม่ง่าย เพราะเกมชิงอำนาจนี้ อาจมี “บางฝ่าย” รอวัน “ทุบ” ครั้งใหญ่ และไม่แน่ เกมนี้อาจพลิกผัน มีบทลงเอย กลายเป็นศึก “ล้างบางทั้งโคตร” ก็เป็นได้
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์