'พรรคประชาชน' ย้ำต้องปฏิรูปศาลรธน. ทบทวนหน้าที่-ที่มา-เพิ่มถูกตรวจสอบ
"สภาฯ" ถกญัตติการแสดงความเห็นตุลาการศาลรธน. ย้ำพฤติกรรมแสดงอคติจ้องยุบพรรคก้าวไกล "พริษฐ์" ลุกประกาศ 3 ประเด็นต้องปฏิรูปศาลรธน. ไม่รอแก้รธน.ทั้งฉบับ
ผู้สื่อข่าวรายงานถึงการประชุมสภาฯ ที่พบว่ามี สส. เสนอญัตติด่วน เพื่อขอให้สภาฯ พิจารณาเกี่ยวกับการแสดงออกของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์โดยประชาชนจนนำไปสู่การตั้งคำถามต่อควาเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม และการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรอิสระ เพื่อส่งข้อสังเกตและข้อเสนอแนะขอสภาฯ ให้กับศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาดำเนินการต่อไป ซึ่งเสนอโดย นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.พรรคประชาชน นายอดิศร เพียงเกษ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย
โดย นายณัฐพงษ์ เสนอญัตติว่า ตามมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หมวดที่สองว่าด้วยจริยธรรมอันเป็นค่านิยมหลัก ข้อที่13 บัญญัติว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะต้องปฎิบัติหน้าที่ด้วยความยุติธรรม เป็นอิสระ เป็นกลาง และปราศจากอคติ และข้อที่ 17 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะต้องไม่กระทำการใดๆให้เสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ของการดำรงตำแหน่ง แต่จากการแสดงทัศนคติบนเวทีสาธารณะของตุลาการท่านหนึ่ง คิดว่าเป็นการแสดงทัศนะคติที่เป็นกลางหรือไม่ และเป็นการแสดงทัศนคติที่สาธารณชนสามารถตั้งคำถามได้ว่าการตัดสินยุบพรรคก้าวไกลนั้นใช้อคติส่วนตัวในการวินิจฉัยหรือไม่
"จรรยาบรรณวิชาชีพของคนที่เป็นตุลาการ ซึ่งมีประมวลจริยธรรมข้าราชการตุลาการข้อที่ 28 บัญญัติไว้ว่า ผู้พิพากษาไม่พึงแสดงปาถกฐา บรรยาย สอนหรือเข้าร่วมการสัมมนา อภิปรายแสดงความคิดเห็นใดต่อสาธารณชน ซึ่งอาจกระทบกระเทียบต่อการปฏิบัติหน้าที่และเกียรติศักดิ์ของผู้พิพากษา" นายณัฐพงษ์ อภิปราย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าความน่าสนใจในญัตติดังกล่าวคือการประกาศและย้ำจุดยืนของพรรคประชาชนต่อการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ในประเด็นเร่งด่วนและจำเป็น
โดยนายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน อภิปรายว่า แม้ว่าสภาฯ จะผ่านร่างแก้ไข พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ แต่จากกรณีที่รัฐบาลยืนยันจะทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญ 3 ครั้ง ดังนั้นเป็นไปได้น้อยมากที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะบังคับใช้ได้ทันก่อนการเลือกตั้งปี 2570 ดังนั้นสิ่งที่สามารถทำได้ คือ การยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราและพ.ร.ป.คู่ขนาน ทั้งนี้ในประเด็นที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ คือ ตุลาการควรยึดโยงจากประชาชน ควรได้รับความเห็นชอบหรือรับรองจากตัวแทนของประชาชน มีกระบวนการตรวจสอบ ดังนั้นสิ่งที่จะเสนอให้เกิดการปฏิรูปศาลรัฐธรรมนูญ คือ ทบทวนอำนาจหน้าที ปฏิรูปกระบวนการได้มา รวมถึงทบทวนเพิ่มกลไกตรวจสอบถอดถอนศาลรัฐธรรมนูญและผู้ดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระ
“เมื่อวานตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอาจจะเยาะเย้ยว่ายุบแล้วไม่มีปัญหา ตั้งใหม่ได้ และเหมือนเป็นการทวงบุญคุณ ซึ่งผมไม่ขอบคุณ แม้ศาลรัฐธรมนูญจะยุบพรรคการเมืองและตัดสิทธิบุคลากรให้มีส่วนร่วมทางการเมือง แต่ไม่สามารถทำลายอุดมการณ์ที่อยู่เบื้องหลังพรรคการเมืองได้ ทั้งที่กังวลของการยุบพรรค คือ เป็นการทำลายล้างประเทศ ทำให้สังคมตั้งคำถามว่ากฎหมายสูงสุดถูกใช้เป็นเครื่องมือการเมืองขัดขวางเจตนารมณ์ของประชาชน” นายพริษฐ์กล่าว
หลังการอภิปรายแล้วเสร็จนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯ กล่าวว่า การเสนอญัตติดังกล่าวเพื่อเป็นการส่งข้อเสนอแนะไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อไม่มีผู้ใดเห็นแย้ง จะส่งข้อสังเกตที่ได้จากการอภิปรายไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาตามข้อบังคับของสภาฯ ข้อที่ 88 จากนั้นได้ปิดประชุม