'สุรชาติ' ชี้ 'ทักษิณ' โชว์วิสัยทัศน์ สะท้อนทศวรรษที่สูญหายจากการรัฐประหาร

'สุรชาติ' ชี้ 'ทักษิณ' โชว์วิสัยทัศน์ สะท้อนทศวรรษที่สูญหายจากการรัฐประหาร

'สุรชาติ' ชี้ 'ทักษิณ' พูดวิสัยทัศน์ประเทศไทยในงาน 'เนชั่น ทอล์ค' ถูกทุกฝ่ายจับตา สะท้อนทศวรรษที่สูญหาย เหตุขาดหายไปนานในสังคมที่เกิดรัฐประหาร ชี้ผู้นำทหารไร้วิชั่น ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีแค่เอกสารราชการเย็บเล่ม 

เมื่อวันที่ 23 ส.ค.2567 นายสุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านความมั่นคง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นถึงกรณี "เนชั่น ทอล์ค" เมื่อคืนวันที่ 22 ส.ค.67 ที่ผ่านมา ซึ่ง "เนชั่น กรุ๊ป" จัดงาน "Vision for Thailand" โดยเชิญ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มากล่าวปาฐกถาถึงวิสัยทัศน์ทางเศรษฐกิจ และการเมือง ว่า ค่ำวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา คอการเมืองทุกคนดูจะรอรายการใหญ่ของเนชั่น ต้องถือเป็นงานที่พลาดไม่ได้ ไม่ต่างจากคอกีฬารอดู "แมตช์ใหญ่" จึงต้องขอบคุณทางผู้บริหารเนชั่นที่ใจกว้างยอมถ่ายทอดสดให้บรรดาผู้ที่สนใจการเมือง แต่ทุนทรัพย์น้อยที่ไม่สามารถซื้อโต๊ะ ได้ร่วมฟังรายการทั้งหมด แบบไม่ตัดทอน

นายสุรชาติ ระบุว่า ในสภาวะของการเมืองไทยที่ยังมีความผันผวน และมีปัญหาต่างๆ มากมาย รอการมาของรัฐบาลใหม่นั้น การเชิญคนอย่าง ดร.ทักษิณ ชินวัตร ขึ้นเวทีเพื่อเปิดมุมมองด้วยการเสนอ “ภาพอนาคตของประเทศไทย” จึงเป็นหัวข้อที่น่าสนใจอย่างยิ่ง ซึ่งการเสนอเช่นนี้ ย่อมถูกจับตามองอย่างมากจากฝ่ายต่างๆ ในฐานะของการเป็นอดีตนายกรัฐมนตรีที่ถูกทำรัฐประหารในปี 2549 อดีตผู้นำที่มีบทบาทอย่างสำคัญในการพลิกฟื้นประเทศไทยหลังวิกฤติเศรษฐกิจ 2540 และเป็นบุคคลที่ตกเป็นเป้าโจมตีในความขัดแย้งทางการเมืองอย่างมากคนหนึ่ง

การนำเสนอภาพมหภาคของประเทศในเชิง “วิสัยทัศน์แห่งอนาคต” ของประเทศนั้น เป็นสิ่งที่ขาดหายไปนานแล้วในสังคมไทย ซึ่งการหายไปเช่นนี้ เป็นผลสืบเนื่องของปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่ถูกฝ่ายอนุรักษนิยมขวาจัดสร้างขึ้น ได้นำไปสู่การรัฐประหาร 2549 และตามมาด้วยรัฐประหาร 2557 จนกลายเป็น “สงครามยืดเยื้อ” ในเวทีการเมืองไทยอย่างยาวนาน ผลจากสภาพเช่นนี้ ทำให้การเมืองไทยถูกครอบงำด้วยภาพลักษณ์ 2 ประการ คือ “ความขัดแย้ง และการยึดอำนาจ” 

ภายใต้สภาวะที่การเมืองไทยถูกขับเคลื่อนผ่านการรัฐประหาร ผู้นำที่เข้ามามีบทบาทหลักจึงเป็นใครไปไม่ได้ นอกจาก “ผู้นำทหาร” หรือในความหมายที่แท้จริงคือ “ผู้นำรัฐประหาร” และบรรดาเครือข่ายที่เป็นผลพวงจากการยึดอำนาจ พร้อมกับความแบบขวาจัดสุดขั้ว

ในบริบทแบบอำนาจนิยมเช่นนี้ การนำเสนอวิสัยทัศน์ไม่ใช่สิ่งที่ผู้นำทหารสามารถทำได้ แม้พวกเขาจะผ่านการ “แถลงผลยุทธศาสตร์ในแบบ วปอ.” แต่ผู้เข้าเรียนทุกคนย่อมรู้ดีว่า สิ่งนั้นเป็นเพียง “พิธีกรรม” ในระบบการศึกษาของโรงเรียนทหาร ดังนั้น เมื่อต้องเข้ามาเป็นผู้บริหารประเทศจริงๆ ผู้นำทหารจึงทำได้เพียงการสร้างวาทกรรม “ความสงบเรียบร้อย” ไม่ใช่การนำเสนอภาพอนาคตของสังคมไทย

นายสุรชาติ ระบุอีกว่า บางคนอาจจะโต้แย้งว่า ผู้นำรัฐประหาร 2557 พยายามสร้าง “วิสัยทัศน์แห่งอนาคต” ผ่านยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แต่ในความเป็นจริงแล้ว สิ่งที่ถูกเสนอขายเป็นเพียง “เอกสารราชการเย็บเล่ม” ที่ไม่มีความเป็นยุทธศาสตร์แต่อย่างใด ซึ่งเป็นเพราะผู้นำทหารไทยที่มีอำนาจไม่มีความรู้ และความเข้าใจในสิ่งที่เป็นยุทธศาสตร์เพียงพอ จึงสร้าง “ยุทธศาสตร์ที่ไม่มียุทธศาสตร์” อย่างไร้สาระ อีกทั้ง เหตุผลเบื้องหลังที่แท้จริง กลับเป็นยุทธศาสตร์ที่หวังผลในการควบคุมการเมือง มากกว่าจะหวังผลในทางยุทธศาสตร์

ถ้าย้อนกลับไปจากรัฐประหาร 2557 เป็นต้นมา จึงไม่เพียงไม่มีข้อเสนอในเชิงวิสัยทัศน์ให้คนในสังคมได้เห็น มีแต่เพียงการขายวาทกรรมแบบอำนาจนิยมผสานกับอนุรักษนิยม เพื่อเรียกเสียงเชียร์จากกลุ่มผู้สนับสนุน ดังนั้น ไม่ว่าเราจะชอบ หรือไม่ชอบคุณทักษิณ คงต้องยอมรับว่า การเปิด “ภาพมหภาคทางความคิด” ในเวทีเนชั่น เป็นสิ่งที่สังคมไทยไม่ได้ยินมานานแล้วนับจากรัฐประหาร 2549 เป็นต้นมา และมีเนื้อหาสาระที่ท้าทายอย่างมากว่า แนวคิดดังกล่าวจะพลิกฟื้นประเทศได้อีกครั้ง เช่นที่อดีตนายกฯ ทักษิณ เคยทำสำเร็จมาแล้วหลังปี 2540 หรือไม่ และหลายประเด็นเป็นเรื่องที่ท้าทายในเชิงนโยบาย และยุทธศาสตร์ของประเทศอย่างน่าสนใจ

ในมุมของคนที่ทำงานความมั่นคงแล้ว เสียดายว่าคุณทักษิณไม่เสนอมุมมองใน 2 เรื่องที่สำคัญ คือ ปีนี้เป็นปีที่ 21 ของปัญหาความรุนแรงในภาคใต้ และปัญหาปล้นปืนที่เกิดในสมัยนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร วันนี้ปัญหาอยู่ในสมัยของนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร ซึ่งฝ่ายตรงข้ามกำลังเปิดการรุกอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการรุกผ่านแนวร่วมในกลไกการเมืองของประเทศ ปัญหาภาคใต้จึงท้าทายอย่างมาก

ในอีกส่วน เราไม่ได้ฟังแนวทางการแก้ปัญหาสงครามกลางเมืองในเมียนมา ทั้งที่คุณทักษิณได้เริ่มแนวทางการแก้ปัญหาแบบ “แทร็ค 2” ในช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา จนกลายเป็นเรื่องราวสำคัญในเวทีสากล และสงครามในเมียนมาวันนี้กำลังพลิกโฉมไปอย่างรวดเร็ว และส่งผลกระทบกับไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ด้วย แต่อย่างน้อยก็มีการกล่าวถึง ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชาถูกหยิบยกขึ้นมาอธิบายให้สังคมได้รับทราบ ซึ่งเป็นประเด็นที่ปีกขวาจัด โดยเฉพาะกลุ่ม สว. ขวาจัดชุดเดิม ที่ก่อกระแสเรื่องนี้มาระยะหนึ่งแล้ว

นายสุรชาติ ระบุด้วยว่า อย่างไรก็ตาม การเปิดเวทีนำเสนอวิสัยทัศน์ของคุณทักษิณ ช่วยบอกเราว่า จากรัฐประหาร 2549 จนถึงการสิ้นสุดของอำนาจกลุ่มรัฐประหาร 2557 ในการเลือกตั้ง 2566 ที่อำนาจอยู่ในมือของผู้นำทหาร และเครือข่ายการยึดอำนาจนั้น เป็น “ทศวรรษที่สูญหาย” เพราะไม่เพียงการเมืองไทยติดกับดักของ “ความขัดแย้ง และการยึดอำนาจ” เท่านั้น หากยังเป็นช่วงเวลาที่สังคมไทยไม่เคยได้ยิน “วิสัยทัศน์แบบผู้นำ” จากบรรดานายทหารนักรัฐประหารเลย นอกจากคำพูดแบบ “เวิ่นเว้อ” ไปวันๆ … เว้นแต่จะจะบอกว่าวิสัยทัศน์ของผู้นำทหาร เป็นได้แค่เพียง “จินตนาการในกะลาไทย” เท่านั้นเอง

"สุดท้ายนี้ ต้องขอขอบคุณเนชั่นอีกครั้ง ที่ทำให้คอการเมืองมีประเด็นถกแถลงกันอีกหลายวันไม่จบ และถ้าจะทำรัฐประหารครั้งใหม่ อยากให้ผู้นำทหารออกมาแสดง “วิสัยทัศน์” ให้สังคมไทยได้ทราบก่อนบ้าง อย่าเอาแต่ “กระพี้” มาขายหลังได้อำนาจแล้ว" นายสุรชาติ ระบุ

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์