อนาคตการเมือง 'บิ๊กป้อม' นับถอยหลังหมดยุค '3 ป.'
ดูเหมือนความขัดแย้งระหว่าง “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ กับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ กำลังเป็นที่จับตามองของคอการเมือง
ไม่แพ้การจัดตั้งรัฐบาล “อุ๊งอิ๊ง 1” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนที่ 31 ว่าโฉมหน้าจะออกมาอย่างไร
เนื่องเพราะปัญหาใหญ่ของการจัดตั้งรัฐบาลแพทองธาร ที่ยังไม่ลงตัว ส่วนหนึ่งมาจากการเสนอรายชื่อรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐ ระหว่าง สาย “บิ๊กป้อม” กับ สาย ผู้กองธรรมนัส ที่ไม่ตรงกัน และมีความขัดแย้งสูงภายในพรรค
ไม่แน่ อาจต้องลุ้นรายชื่อรัฐมนตรีถึงวินาทีสุดท้าย หลังมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งอย่างเป็นทางการเลยทีเดียว
ทั้งนี้ มติพรรคพลังประชารัฐ ที่มี “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ นั่งหัวโต๊ะประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค ยังคงเสนอชื่อเดิมทั้ง 4 คน ตามโควตาที่พรรคเพื่อไทยให้มา คือ
1.พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ เป็น รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
2. ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เป็น รมว.เกษตรและสหกรณ์
3. นายสันติ พร้อมพัฒน์ ดำรงตำแหน่ง รมช.สาธารณสุข
4. นายอรรถกร ศิริลัทธยากร ดำรงตำแหน่ง รมช.เกษตรและสหกรณ์
ในขณะที่ ร.อ.ธรรมนัส ส่ง 3 รายชื่อ ให้นายกฯอุ๊งอิ๊ง- และพรรคเพื่อไทย พิจารณา โดยไม่ได้เสนอชื่อตัวเอง ประกอบด้วย
1.นายอัครา พรหมเผ่า น้องชาย ร.อ.ธรรมนัส
2.นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ หัวหน้าพรรคกล้าธรรม
3.นายอรรถกร ศิริลัทธยากร ส.ส.ฉะเชิงเทรา ซึ่งปัจจุบัน เป็น รมช.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ที่น่าสนใจไปกว่านั้น ก่อนที่ ร.อ.ธรรมนัส จะออกมาแถลงข่าวตัดสัมพันธ์ ขอเป็นอิสระจาก “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร นั้น ได้มีเสียงให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กับสื่อบางสำนักของพล.อ.ประวิตรให้ตัดชื่อร.อ.ธรรมนัส ออกจากรายชื่อ “รัฐมนตรี” ที่เสนอให้พรรคเพื่อไทย พิจารณา จนอาจพูดได้ว่า นั่น เป็นฟางเส้นสุดท้าย ที่ทำให้ร.อ.ธรรมนัส แถลงว่า ตนรับใช้ผู้ใหญ่บางคนมานานพอแล้ว จากนี้จะขอเป็น “อิสระ” ไม่ขึ้นตรงต่อผู้ใหญ่คนนั้นอีก ซึ่งแม้ไม่เปิดเผยชื่อ แต่ทุกคนก็รู้อยู่แล้วว่า คือ “บิ๊กป้อม”พล.อ.ประวิตร นั่นเอง
พูดถึงพรรคพลังประชารัฐ ถือว่าก่อเกิดเพื่อสนับสนุน “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ว่าได้ และแม้แต่ชื่อ “พลังประชารัฐ” ก็เป็นชื่อนโยบายช่วยเหลือคนยากจนที่สำคัญของรัฐบาลประยุทธ์
โดยเริ่มแรกได้รับการสนับสนุนจากกลุ่ม “สามมิตร” ซึ่งมีแกนนำเป็นอดีตรัฐมนตรีในรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ได้แก่ สมศักดิ์ เทพสุทิน สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ และสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ กลุ่มดังกล่าวพยายามดึงอดีตส.ส.จากพรรคเพื่อไทย พรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน และพรรคประชาธิปัตย์ มาร่วมงานจำนวนมาก โดยมีหัวหน้าพรรคคนแรกคือ นายอุตตม สาวนายน และนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เป็นเลขาธิการพรรค
แน่นอน ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.)เป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 พรรคพลังประชารัฐเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) และอดีตนายกฯ คสช. เป็น “แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี” เพียงคนเดียว
ต่อมาเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2563 พรรคพลังประชารัฐได้จัดการประชุมใหญ่สามัญประจำปี พ.ศ. 2563 เพื่อเลือกคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ปรากฏว่า “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร ได้เป็นหัวหน้าพรรค ส่วนเลขาธิการพรรค คือ นายอนุชา นาคาศัย
นี่ถือเป็นจุดเริ่มของการสั่งสม “บารมี” ของ พล.อ.ประวิตร ในฐานะหัวหน้าพรรคการเมือง ท่ามกลางนักการเมืองพากันเข้าบ้านป่ารอยต่อ 5 จังหวัด หัวกระไดไม่แห้ง
สำหรับ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร นอกจากจะเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ แล้ว ยังเป็นประธานกรรมการมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ด้วย
พล.อ.ประวิตร เป็นนายทหารที่เติบโตมาจากกองทัพภาคที่ 1 ทางภาคตะวันออกมาโดยตลอด โดยสังกัดกับกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ (ร.21 รอ.) หรือคนส่วนใหญ่เรียก “ทหารเสือราชินี” ถือได้ว่าเป็นนายทหารรุ่นพี่ที่สนิทสนมกับนายทหารอดีตผู้บัญชาการทหารบกสองนาย คือ “บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา และ “บิ๊กตู่”พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ก้าวเข้าสู่การเมืองครั้งแรก เป็นรมว.กลาโหมสมัยรัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และเป็นที่ปรึกษาผู้อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ในปี 2553
และเป็นที่ทราบกันว่า เขาคือ “พี่ใหญ่” กลุ่มทหาร “บูรพาพยัคฆ์” ซึ่งหมายถึงทหารที่เริ่มต้นรับราชการจาก ร.21 รอ.
หลังการรัฐประหารปี 2557 พล.อ.ประวิตร ได้รับแต่งตั้งหลายตำแหน่ง เป็นประธานที่ปรึกษา รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ในรัฐบาลพล.อ. ประยุทธ์ และยังเป็นประธานคณะกรรมการอีกกว่า 50 คณะ
ต่อมาเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2563 พล.อ.ประวิตรได้รับการเลือกเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ
เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2565 “บิ๊กป้อม” ได้เป็นรักษาการนายกรัฐมนตรี กรณีศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้พล.อ.ประยุทธ์ยุติการปฏิบัติหน้าที่
กระทั่งช่วงปลายปี 2565 เกิดความขัดแย้งระหว่างพล.อ.ประวิตรและพล.อ.ประยุทธ์ในพรรคพลังประชารัฐ พล.อ.ประวิตร ได้สร้างภาพลักษณ์ให้กับตัวเองเป็นนายทหารประชาธิปไตย เข้าได้กับทุกกลุ่ม จนเดือนมกราคมปี 2566 พล.อ.ประยุทธ์ได้สมัครเป็นสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ ขณะที่พล.อ.ประวิตร เอง ก็ประกาศ พร้อมจะเป็นนายกรัฐมนตรี แข่งขันในสนามการเมือง รวมทั้งกล่าวว่า ตนยังมีความสัมพันธ์อันดีกับพล.อ.ประยุทธ์และพล.อ.อนุพงษ์ในฐานะพี่น้อง “3 ป.” แม้จะมีความเห็นทางการเมืองที่ต่างกันก็ตาม
และในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 พล.อ.ประวิตร ได้รับเลือกเป็นส.ส. แบบบัญชีรายชื่อคนเดียวของ พปชร. รวมกับส.ส.เขต เป็น 40 คน และเป็น “แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี” คนเดียวของพรรคพลังประชารัฐด้วย
ด้าน ร.อ.ธรรมนัส เริ่มงานการเมืองกับพรรคไทยรักไทยก่อนปี 2557 ได้ลงสมัครส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อของพรรคเพื่อไทยแต่การเลือกตั้งเป็นโมฆะ เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติเข้ายึดอำนาจ เขาเป็นหนึ่งในบุคคลที่ คสช. มีคำสั่งเรียกมารายงานตัว ต่อมาใน ปี2561 “ธรรมนัส” ได้เข้าร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐ โดยได้รับแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการยุทธศาสตร์ภาคเหนือของพรรค และในการเลือกตั้งทั่วไป ปี 2562 เขาลงสมัครรับเลือกตั้งส.ส.จังหวัดพะเยา เขต 1 และได้รับการเลือกตั้ง และปี 2564 ได้รับการแต่งตั้งเป็นเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ
จนเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2565 คณะกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ มีมติขับเขา และ ส.ส. อีก 21 คน ออกจากพรรคและในวันที่ 10 มิถุนายน ปีเดียวกัน เขาได้รับการเลือกตั้งจากสมาชิกพรรคเศรษฐกิจไทย ให้เป็นหัวหน้าพรรค จากนั้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2566 เขาได้กลับเข้าพรรคพลังประชารัฐอีกครั้ง และได้รับเลือกจากที่ประชุมพรรคให้กลับเข้ารับตำแหน่งเลขาธิการพรรคเป็นครั้งที่สอง หลังจากนั้นในวันที่ 1 กันยายนปีเดียวกัน เขาได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน
บนเส้นทางการเมือง ของ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร เห็นได้ชัดว่า เติบโตมาพร้อมกับกลุ่ม “3 ป.” ในฐานะ “พี่ใหญ่” แห่ง “บูรพาพยัคฆ์” ที่อีก 2 ป. อยู่ในกลุ่มรัฐประหารของ “คสช.” คือ พล.อ.ประยุทธ์ หัวหน้า คสช. และ พล.อ.อนุพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยหลายสมัย และคณะที่ปรึกษา คสช.
แต่หลังจากการเมืองเข้าสู่การเลือกตั้ง “บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เป็น “ป.แรก” ที่บอกลาทางการเมือง ขณะที่ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ ยังอยู่ใน “แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี” ของพรรครวมไทยสร้างชาติ และเป็นสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ แต่พอผลการเลือกตั้งไม่เข้าเป้า พล.อ.ประยุทธ์ จึงประกาศยุติทางการเมือง และต่อมาได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้เป็นองคมนตรี
เหลือก็แต่ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่ไม่ยอมถอยทางการเมือง และดูเหมือนยังคงเดินหน้าลุ้นตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี จากการเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐ และแม้ว่า จะมีข่าวลือเรื่องลาออกจากหัวหน้าพรรค หลังร.อ.ธรรมนัส ประกาศอิสรภาพ ไม่ยอมอยู่ใต้อำนาจบารมีอีกต่อไป
ส่วน ร.อ.ธรรมนัส เติบโตบนเส้นทางการเมือง จากพรรคไทยรักไทย ของอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร และเพื่อไทย ก่อนที่จะที่จะมาอยู่พรรคพลังประชารัฐ ซึ่ง ก็ไม่ต่างจากนักการเมืองหลายคน ที่ย้ายมาอยู่พรรคพลังประชารัฐ ในยุคที่ “คสช.” เรืองอำนาจ เพื่อความอยู่รอดทางการเมือง และการรักษาอำนาจการเมืองเอาไว้
แต่หลังหมดยุค “คสช.” เข้าสู่ยุคเลือกตั้ง และผู้มีอำนาจใน “คสช.” ต่างทยอยลาจากการเมือง นักการเมือง และอดีตส.ส.ของพรรคพลังประชารัฐ ก็ย้ายสังกัดกลับสู่พรรคเดิมของตัวเอง ไม่เว้นแม้แต่กลุ่มผู้กองธรรมนัส ที่ประกาศอิสรภาพจาก “บิ๊กป้อม” แห่งบ้านป่าฯ อย่างไม่เหลือเยื่อใย มิหนำ ยังหอบหิ้วเอาส.ส.ของพรรคประมาณ 29 คน ตามไปด้วย จนเหลืออยู่กับ “บิ๊กป้อม” เพียงไม่กี่คน ซึ่งหมากเกมนี้ ถูกมองว่า ร.อ.ธรรมนัส เอาคืนอย่างเจ็บแสบ กรณี “บิ๊กป้อม” ตัดชื่อออกจากรัฐมนตรี และความจริง ก็มีความขัดแย้งกันมาก่อนหน้านี้แล้ว จากข่าวที่ออกมาทางหน้าสื่อมวลชน
ประเด็นมีอยู่ว่า ถ้าปมขัดแย้งระหว่าง ร.อ.ธรรมนัส กับ “บิ๊กป้อม” ไม่มีทางเคลียร์ใจกันได้ และต่างฝ่ายต่างสู้ทนอยู่อย่างนี้ จะเกิดอะไรขึ้น
คำตอบอาจต้องย้อนดู บทบาทร.อ.ธรรมนัส ในพรรคพลังประชารัฐ เป็นสำคัญ จากการได้รับเลือกจากส.ส.ให้เป็นเลขาธิการพรรคถึง 2 สมัย ทั้งที่เคยถูกขับออกจากพรรค เคยย้ายสังกัดแล้วกลับมาใหม่
นั่นแสดงให้เห็นว่า ฝีมือ และผลงาน ในพรรคพลังประชารัฐ ต้องไม่ธรรมดา ว่ากันว่า เป็นคนทำงานการเมืองเป็น มีคอนเน็กชันทางการเมืองกับหลายพรรค และทุ่มเทช่วยลูกพรรคหาเสียงในช่วงเลือกตั้ง
ดังนั้น การที่ร.อ.ธรรมนัส ประกาศอิสรภาพจาก “บิ๊กป้อม” คนที่เดือดร้อน น่าจะเป็น “บิ๊กป้อม” มากกว่า เพราะเท่ากับว่า พรรคพลังประชารัฐจะขาดมือการเมืองคนสำคัญ ซึ่งที่เหลือ ก็ไม่แน่ว่าจะมีใครขึ้นมาทดแทนได้?
ยิ่งกว่านั้น ปัญหายังอยู่ที่ว่า พรรคพลังประชารัฐ จะจัดการอย่างไรกับ กรณีร.อ.ธรรมนัส กับ 29 ส.ส. ที่ดูเหมือนไม่สยบยอมอยู่ใต้บารมี “บิ๊กป้อม” อีกต่อไป
จับตาให้ดี “บิ๊กป้อม” ในวัน ในวัย ที่ทำอะไรก็ผิดพลาดไปหมด มีคู่ขัดแย้งทั้งในพรรค นอกพรรค แถมกับสื่อมวลชนก็ไม่เป็นมิตร เพราะมีพฤติกรรมคุกคามสื่อหรือไม่
หรือว่า นี่คือ สัญญาณแห่งการนับถอยหลัง ที่จะหมดยุค “3 ป.” ไปพร้อมกับการเสื่อมบารมีลงอย่างเห็นได้ชัดของ “บิ๊กป้อม” ที่แม้แต่ส.ส.ส่วนใหญ่ของพรรคพลังประชารัฐ ก็ไม่เอาแล้ว หรือว่าไม่จริง!?