'นิติฯ4สถาบัน' ชี้ 'ศาลรธน.' ขยายอำนาจเกินปชต. ส่อกระทบเสถียรภาพการเมือง
นักวิชาการนิติศาสตร์ 4สถาบัน จัดเวทีวิพากษ์ “ศาลรธน.” ขยายอำนาจเกินหลักพื้นฐานประชาธิปไตย หวั่นกระทบเสถียรภาพการเมือง “ปริญญา” แนะรัฐสภา แก้รธน.ม.210 จี้ วางกรอบคัดเลือกคนไร้อคติ
คณะนิติศาสตร์ 4 สถาบัน ได้แก่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จัดเวทีสวนาวิชาการ เรื่อง “เมื่อศาล(รัฐธรรมนูญ) ปกครองบ้านเมือง?” โดยมีนักวิชาการจาก 4 สถาบันเข้าร่วมเวที
อ.สมชาย มช. ชี้ 2ทศวรรษ “ศาลรธน.” ยิ่งกว่ารัฐประหาร
นายสมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ก่อนหน้านั้นคนที่เคยมีบทบาทต่อการสร้างศาลรัฐธรรมนูญในรัฐธรรมนูญ 2540 เคยคาดหวังว่าศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นกลไกให้ระบบประชาธิปไตยให้เดินหน้า แต่ปัจจุบันพบว่าโครงสร้างศาลรัฐธรรมนูญกลายเป็นส่วนขยายของตุลาการและระบบราชการ ที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมาจากผู้พิพากษาของศาล และคนในแวดวงราชการ นอกจากนั้นยังไม่ยึดโยงกับประชาชน
นายสมชาย กล่าวด้วยว่า จากบทบาทในรอบ 2ทศวรรษที่ผ่านมา การเมืองไทยเผชิญรัฐประหาร 2 ครั้ง คือ ปี 2549 และปี 2557 แต่ศาลรัฐธรรมนูญในห้วงเวลาดังกล่าว ตนคิดว่าทำรุนแรงไม่น้อยกว่าการรัฐประหาร เพราะยุบ 4พรรคขนาดใหญ่ที่ได้รับความนิยม พรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน พรรคอนาคตใหม่ พรรคก้าวไกล ซึ่ง ในจังหวะที่อยู่ตรงข้ามชนชั้นนำ หมายถึงเสียงประชาชนถูกกำหราบ อีกทั้งยังปลด 4 นายกฯ การสะท้อนภาวะตุลาการธิปไตย การยกอำนาจตุลาการขึ้นมาอยู่เหนืออำนาจนิติบัญญัติ และอำนาจบริหาร
“คำถามที่เกิดขึ้นอำนาจตุลาการสอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยหรือไม่ ทั้งนี้มีปรากฎการณ์หลายประเทศ เมื่อชนชั้นนำไม่สามารถครอบครองพื้นที่รัฐสภา เอาชนะเลือกตั้งได้ จะเลือกใช้อำนาจตุลาการเป็นเครื่องมือควบคุมจากอำนาจจากการเลือกตั้ง ที่ผ่านมาการทำรัฐธรรมนูญใหม่จะคิดเรื่องระบบเลือกตั้งใหม่ เพื่อให้พรรคพวกที่สนับสนุนชนะเลือกตั้ง แต่เมื่อชนชั้นนำไม่สามารถออกแบบการเลือกตั้งเพื่อครองพื้นที่รัฐสภา จึงเห็นองค์กรอิสระไม่ยึดโยงประชาชนเกิดขึ้น”นายสมชาย กล่าว
“ปริญญา” ข้องใจ “ศาลรธน.” ใช้เสียงข้างมากเหนือหลักรัฐธรรมนูญ
ด้านปริญญา เทวานฤมิตรกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ตนไม่ว่าศาลรรัฐธรรมนูญไม่เที่ยงธรรม แต่ขณะนี้คนไม่เชื่อถือในเรื่องความเที่ยงธรรม ข้างหนึ่งโดนตลอด ข้างหนึ่งรอดตลอด ทั้งนี้การตัดสินคดียุบพรรคก้าวไกล และให้นายเศรษฐา ทวีสิน พ้นตำแหน่งเป็นนายกฯ นั้นเป็นไปตามหลักกฎหมายหรือไม่ ทั้งนี้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญในรัฐธรรมนูญ 2560 คือ การควบคุมกฎหมาย และการกระทำไม่ให้ขัดรัฐธรรมนูญ แต่ขณะนี้สามารถวินิจฉัยการกระทำด้วย ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญอยู่เหนือ อำนาจฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ รวมถึงอยู่เหนือรัฐธรรมนูญ เนื่องจากสามารถตีความได้ทุกอย่าง
นายปริญญา กล่าวต่อว่าในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในคดียุบพรรคก้าวไกล ตนไม่สบายในในประเด็นการใช้สิทธิเสรีภาพการล้มล้างการปกครอง ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญสามารถสั่งให้เลิกการการกระทำและยุบพรรคการเมือง ทำให้สะท้อนถึงปัญหาการวินิจฉัยผลวินิจฉัยกระทบต่อสิทธิของประชาชนที่สนับสนุนพรรคการเมือง ถือเป็นการเสียสิทธิ ตามกฎหมายอาญาแล้วหากจะผิดเมื่อกระทำว่ากฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิด แต่ศาลรัฐธรรมนูญดูแค่เจตนาว่าจะเซาะกร่อนหรือนำไปสู่การล้มล้าง ถือว่าผิด
“ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ใช้ข้อกฎหมายแต่ใช้เสียงข้างมาก แม้เป็นไปตามที่กฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความของศาลรัฐธรรมนูญกำหนด แต่การทำคำวินิจฉัยส่วนตนมาก่อน ถือว่ามีธง แม้ตุลาการคนอื่นจะมีเหตุผลดีกว่า ซึ่งผมมองว่าหลักการลงมติเอานั้นตีความได้ทุกอย่าง แบบนี้ไม่ใช่ศาล” นายปริญญา กล่าว
แนะ รัฐสภา แก้รธน.210 จี้ “กก.สรรหาองค์กรอิสระ" วางมาตรฐานเลือกคนไร้อคติ
นายปริญญา กล่าวว่า ขอเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 ให้ศาลรัฐธรรมนูญอยู่ใต้บังคับมาตรา 188 คือ การพิจารณาต้องเป็นไปตามกฎหมาย และมีอิสระ การพิจารณาพิพากษาให้รวดเร็ว เป็นธรรมและปราศจากอคติ ทั้งนี้มีความยากเพราะต้องทำประชามติ นอกจากนั้นคือการแก้ไขกฎหมายลูกว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญให้ใช้การพูดคุยจนเป็นข้อยุติ ไม่ใช่ใช้การโหวต หากมีข้อกฎหมายที่ขัดแย้งต้องใช้หลักปรึกษาหารือ นอกจากนั้นแล้วต้องแก้วิธีพิจารณาของศาลให้สิทธิจำเลยได้ต่อสู้อย่างเต็มที่ ไม่ใช่ยึดศาลมีหลักฐานเพียงพอแล้ว หรือฟังความข้างเดียว โดยสามารถทำได้ ไม่ต้องมีเกณฑ์สว.เห็นชอบหรือทำประชามติ แต่เมื่อผ่านแล้วต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา รวมถึงทำให้ศาลรัฐธรรมนูญมีความรับผิดชอบที่ตรวจสอบได้
“เดือนพ.ย.นี้ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมี 2 คนที่ต้องเลือกคนใหม่ ดังนั้นขอให้ใช้การสรรหาเคร่งครัดการสรรหาคนที่ปราศจากอคติ และขอให้สว.หารือกับกรรมการสรรหา ให้คัดสรรบุคคลเป็นที่เชื่อถือของประชาชน โดยใช้การตรวจสอบบุคคลอย่างเข้มข้น ซึ่งเรื่องนี้ไม่ต้องแก้ไขกฎหมายอะไร และขอให้เป็นการใช้เป็นกระบวนการสรรหาบุคคลในองค์กรอิสระอื่นๆ ด้วย” นายปริญญา กล่าว
“ต่อพงศ์” ชำแหละ 5 ปรากฎการณ์ศาล ทำลายหลักการปชต.
ขณะที่ นายต่อพงศ์ กิตติยานุพงศ์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ศาลรัฐธรรมนูญไทยเกินไปกว่าข้อกล่าวหาใช้อำนาจทางการเมือง แต่มีลักษณะพยายามอธิบายหลักการพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตยไม่สอดคล้องกับที่เข้าใจในรูปแบบทั่วไป คือ 1.ศาลรัฐธรรมนูญเปลี่ยนจากผู้พิทักษ์รัฐธรรมนูญและระบอบประชาธิปไตย แต่พิทักษ์คุณค่าดั้งเดิม หรือ สถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิด เพราะในสังคมพหุวัฒนธรรมศาลรัฐธรรมนูญต้องผสานวัฒนธรรมและความเชื่อต่างๆ ไว้ แต่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา พบว่าไม่รับรองสิทธิเสรีภาพที่หลากหลายหากเป็นการใช้เตะต้องคุณค่าดั้งเดิม
2.ศาลรัฐธรรมนูญไม่ใช่คนกลางวินิจฉัยข้อพิพาท แต่กลายเป็นคู่ขัดแย้งของสังคมการเมือง ซึ่งเห็นจากทัศนคติของตุลาการ และคำวินิจฉัยต่างๆ
3.ศาลรัฐธรรมนูญเป็นศาลที่ล้มเหลวสร้างพลังของเหตุผลในคำพิพากษาในคดีที่เป็นข้อพิพาททางการเมือง หรือเกี่ยวข้องสถาบันจะทำให้เห็นความอ่อนด้อยในการให้พลังเหตุผลมากขึ้น
4.ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ทรงอำนาจในการตีความของรัฐธรรมนูญ แม้จะเป็นคำวินิจฉัยที่ผูกพ้นทุกองค์กร แต่เนื้อหาในคดียุบพรรคพบว่าเป็นการใช้อำนาจเผด็จการ สุดโต่ง ขจัดความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่อันตรายต่อระบอบประชาธิปไตย ทั้งนี้ศาลนำมาใช้ได้ แต่ต้องใช้อย่างจำกัด
“เวลานี้กลไกระบอบประชาธิปไตยเราใช้พิทักษ์ หรือทิ่มแทงระบอบประชาธิปไตยกันแน่ ขอให้ตั้งคำถามว่าศาลรัฐธรรมนูญใช้เครื่องมือประชาธิปไตยไม่เป็นไปตามหลักที่วางไว้ได้หรือไม่ ซึ่งการใช้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญนั้นเป็นลักษณะกึ่งเผด็จการ” นายต่อพงศ์ กล่าว
5. ในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคไทยรักษาชาติ และพรรคก้าวไกล ระบุว่ามีข้อเท็จจริงเห็นประจักษ์ มุ่งหมายล้มล้างการปกครอง ศาลเห็นข้อเท็จจริงได้เอง และศาลมองว่าเป็นเรื่องถูกต้อง ถือเป็นการใช้ความคิดแทนคนอื่น ทั้งที่ศาลรัฐธรมนูญควรยึดถือการให้สิทธิผู้ถูกกล่าวหาต่อสู้คดีอย่างเต็มที่
“ความพยายามของศาลรัฐธรรมนูญ เข้าไปไกลกว่าการร่วมแชร์อำนาจปกครอง แต่เป็นการอธิบายหลักการปกครอง ถือเป็นการทำลายหลักการของคุณค่าพื้นฐานประชาธิปไตย ทั้งนี้ในคำวินิจฉัยของพรรคไทยรักษาชาติ คดีธรรมศาสตร์ และ พรรคก้าวไกล จะทำให้เปลี่ยนผ่านหรือการพูดด้วยสันติวิธีเป็นไปไม่ได้อีกต่อไป ทั้งในสภา และการเคลื่อนไหวนอกสภาทำไม่ได้ เพราะถูกนำไปขยายต่อ ว่าเป็นพฤติกรรมล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่ส่งผลต่อระบบกฎหมายอย่างรุนแรง” นายต่อพงศ์ กล่าว
“อ.สุทธิชัย” ประเมินคำวินิจฉัยศาลรธน.คดี “ยุบพรรค-ถอดเศรษฐา” กระทบเสถียรภาพการเมือง
ทางด้าน นายสุทธิชัย งามชื่นสุวรรณ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า คดียุบพรคก้าวไกล เพราะการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 นั้น ถือเป็นการแทรกแซงฝ่ายนิติบัญญัติ เป็นการขยายอำนาจตนเอง เนื่องจากตามกระบวนการแล้วมีขั้นตอนทางออก หลังจากที่การแก้ไขกฎหมาย โดยผ่านสภาฯ และวุฒิสภาแล้วเสร็จก่อนบังคับใช้ยังเปิดช่องให้ตรวจสอบ ไม่ใช่ใช้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ในกรณีดังกล่าว ส่วนกรณีคดีสั่งให้นายเศรษฐา พ้นตำแหน่งนายกฯ เพราะการตั้งรัฐมนตรีในประเด็นความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ถือเป็นการแทรกแซงฝ่ายบริหารที่ร้ายแรง ที่ส่งผลต่อเสถียรภาพทางการเมืองของรัฐบาล ซึ่งทราบว่ามีคนยื่นยุบพรรคเพื่อไทยโดยนำผลของคดีนายเศรษฐา
“ทั้ง 2 เรื่องนั้น ทำให้เส้นแบ่งความรับผิดชอบทางการเมืองและทางกฎหมายเบลอไปหมด ทั้งนี้ศาลรัฐธรรมนูญควรเป็นผู้กำกับกติกา แต่สิ่งที่เห็นคือศาลเป็นกลไกทางการเมืองและคำวินิจฉัยไม่ใช่ใช้กฎหมาย แต่เป็นการตัดสินในทางการเมืองที่เป็นปัญหา” นายสุทธิชัย กล่าว
“อ.มุนินทร์ ” ย้ำไม่จำเป็นต้องมีศาลรธน. หากวินิจฉัยขาดหลักการกฎหมาย
ส่วนนายมุนินทร์ พงศาปาน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่านักวิชาการคณะนิติศาสตร์ ทั้ง 143 คน ที่ร่วมลงชื่อในแถลงการณ์ต้องการยืนยันสิ่งที่เกิดขึ้นจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในหลายคดี ทำให้สังคมเชื่อว่าการตีความหรืออธิบายเหตุผลคำวินิจฉัยยุบพรรค เป็นมาตรฐานตีความกฎหมายแบบไทยๆ ตนยืนยันว่านิติศาสตร์แบบไทยๆ ไม่มีการสอนในกฎหมายมหาวิทยาลัย
“ผมอยากฝากไว้ ว่าเป็นเรื่องสำคัญ การใช้หลักการของกฎหมาย หากศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาอย่างเป็นศาลได้ ศาลรัฐธรรมนูญไม่อาจเป็นศาลได้ เราไม่ต้องมีศาลรัฐธรรมนูญก็ได้ ถ้าองคืกรชี้ขาดด้วยกระบวนการพิจรณาประชุมหารือเชื่ออย่างไรโหวตกัน ให้คนทั้งประเทศทำประชามติก็ได้ ไม่จำเป็นต้องมีศาลรัฐธรมนูญ หรือ กระบวนการยุติธรรม ไม่ต้องเรียนวิชานิติศาสตร์ ทั้งนี้หลักการนิติศาสตร์เป็นระบบเดียวกันทั้งโลก เป็นหลักประกันสิทธิขั้นพื้นฐานของพวกเรา” นายมุนินทร์ กล่าว.