'วทันยา' ค้าน ปชป.ร่วมรัฐบาล พท. ยันไม่ทิ้งพรรค รอกลุ่มใหม่ฟื้นศรัทธา

'วทันยา' ค้าน ปชป.ร่วมรัฐบาล พท. ยันไม่ทิ้งพรรค รอกลุ่มใหม่ฟื้นศรัทธา

"มาดามเดียร์" วทันยา ประกาศจุดยืนคัดค้าน "ประชาธิปัตย์" ร่วมตั้งรัฐบาล "เพื่อไทย" ซัดละทิ้งอุดมการณ์ เสี่ยงคะแนนนิยมลดลง ย้ำอย่าเหมารวมคน ปชป.จะเห็นด้วยกับผู้บริหารพรรคทั้งหมด ระบุยังไม่ทิ้ง ปชป.รอโอกาสผู้บริหารชุดใหม่มาฟื้นศรัทธาพรรค

เมื่อวันที่ 30 ส.ค. 2567 น.ส.วทันยา บุนนาค สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) มีมติเอกฉันท์เข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย(พท.) ว่า ตนเองไม่เห็นด้วยกับมติพรรคในครั้งนี้ที่เข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย แต่ไม่ใช่สาเหตุจากการที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นคู่ขัดแย้งกับพรรคเพื่อไทย แต่มีสาเหตุมาจากการที่พรรคประชาธิปัตย์ต้องเคารพในเจตจำนงของประชาชนที่เลือกพรรคมาด้วย

"ประชาธิปัตย์เหลือจำนวน สส.เพียง 25 ที่นั่งในการเลือกตั้งที่ผ่านมา สะท้อนว่าประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้ให้ความไว้วางใจแก่พรรคในการจะเข้าไปเป็นตัวแทนในการทำหน้าที่ แต่ก็ยังมีประชาชนอีกกว่า 900,000 เสียง ที่ยังให้ความเชื่อใจ ไว้วางใจ และให้โอกาสพรรคประชาธิปัตย์  เสียงเหล่านี้ต่อสู้ร่วมอุดมการณ์กับพรรคมาอย่างยาวนาน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการต่อสู้ระหว่างพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคเพื่อไทย ร่วม 2 ทศวรรษที่ผ่านมา" 

น.ส.วทันยา ระบุว่า เมื่อพรรคประชาธิปัตย์ละทิ้งอุดมการณ์ไปร่วมรัฐบาลกับเพื่อไทย เชื่อว่าประชาชนกว่า 900,000 เสียงย่อมไม่พอใจ และจะสะท้อนผ่านการเลือกตั้งครั้งต่อไป ที่พรรคประชาธิปัตย์อาจได้รับเสียงจากประชาชนน้อยลง และมีจำนวน สส.น้อยกว่า 25 เสียงในอนาคต 

"สถานการณ์ประชาธิปัตย์ตอนนี้เกิดจากคณะผู้บริหารชุดปัจจุบันละทิ้งอุดมการณ์ เพื่อเข้าไปสู่ประโยชน์และอำนาจของตนเองใช่หรือไม่ ซึ่งไม่ใช่เพื่อการก้าวข้ามความขัดแย้งดังที่กล่าวอ้าง และเชื่อว่าประชาชนเห็นว่าการก้าวข้ามความขัดแย้งได้เกิดขึ้นจริง หรือเป็นเพียงวาทกรรมที่ใช้แอบอ้าง เพื่อผลประโยชน์และอำนาจของตนเอง แต่อย่างไรก็แล้วแต่เป็นหน้าที่ของ สส. และสมาชิกพรรคที่ต้องทำงานต่อไปเพื่อพิสูจน์ตนเองต่อในอนาคต"

ถามว่า อนาคตทางการเมืองพรรคประชาธิปัตย์คะแนนนิยมจะลดลงจากเดิมหรือไม่ในการเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย น.ส.วทันยา ยอมรับว่าสูญเสียอย่างแน่นอน เพราะวันนี้ประชาธิปัตย์ ตนรู้สึกไม่ต่างกันเพราะพรรคละทิ้งจุุดยืนอุดมการณ์ของตัวเอง ณ  วันนี้สิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์ละทิ้งการต่อสู้มาตลอด ซึ่งไม่ได้ก้าวข้ามความขัดแย้ง แต่เป็นความต้องการเข้าสู่อำนาจมากกว่า

น.ส.วทันยา กล่าวว่า ในอุดมการณ์ 10 ข้อพรรคประชาธิปัตย์ ที่คณะผู้ก่อตั้งพรรคได้เขียนไว้เมื่อ 78ปีที่แล้ว ที่ยังคงทันสมัยอยู่จนถึงปัจจุบัน เช่น การเป็นพรรคที่ยึดมั่นในระบอบเสรีนิยมประชาธิปไตย การยึดมั่นเรื่องการกระจายทรัพยากรอย่างทั่วถึง ไม่ให้เกิดการผูกขาด อันจะนำมาสู่ความเหลื่อมล้ำ  ดังนั้นหลักการของพรรคการเมือง จึงต้องยึดมั่นในแนวทางและอุดมการณ์ของพรรคเพื่อเป็นตัวเลือกให้กับประชาชน

ซึ่งหากในวันใดที่ประชาชนศรัทธาในแนวทาง อุดมการณ์เดียวกันกับพรรค และเชื่อมั่นในพรรคการเมือง วันนั้นประชาชนก็จะมอบเสียงเพิ่มมากขึ้นให้กับพรรคการเมืองนั้นๆเอง ทั้งนี้ พรรคการเมือง ควรต้องทำการเมืองกับประชาชนอย่างตรงไปตรงมา ไม่มีการดีลลับเพื่อแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ต่อกัน การทำการเมืองอย่างซับซ้อนมากขึ้นเท่าไร ยิ่งเท่ากับว่าไม่ซื่อตรงกับประชาชนมากขึ้นเท่านั้น

\'วทันยา\' ค้าน ปชป.ร่วมรัฐบาล พท. ยันไม่ทิ้งพรรค รอกลุ่มใหม่ฟื้นศรัทธา
 
เมื่อถามว่า ยังยืนยันจุดยืนเดิมด้วยการอยู่กับพรรคประชาธิปัตย์ต่อไปหรือไม่ น.ส.วทันยา ระบุว่า ณ วันนี้ตนเองก็คิดหนัก แต่พอดูหลักการพรรคการเมืองเกิดขึ้นจากเจตจำนง เมื่อคนคิดเหมือนกันมาอยู่ร่วมกันเพื่อผลักดันอุดมการณ์ แต่วันนี้สิ่งที่เกิดขึ้นเกิดจากคนกลุ่มหนึ่ง เผอิญมีอำนาจบริหารประชาธิปัตย์อยู่ แต่ไม่ใช่เหมารวมว่าคนของพรรคประชาธิปัตย์จะเห็นตรงกันทั้งหมดกับคณะผู้บริหาร ตนเองก็เป็นสมาชิกพรรคที่ไม่เห็นด้วยและมีจำนวนไม่น้อยที่ไม่เห็นด้วยกับผู้บริหารพรรค 

"เมื่อเดียร์และสมาชิกอีกจำนวนมากยังมีแนวคิดมีอุดมการณ์เช่นเดียวกับ ก็เป็นเหตุผลที่เดียร์ว่าในอนาคตข้างหน้าพรรคประชาธิปัตย์เองก็ได้พิสูจน์ว่าเป็นพรรคที่ไม่มีเจ้าของ เป็นพรรคที่ปรับเปลี่ยนตลอด ผู้บริหารหัวหน้าพรรคไม่ได้สืบทอดโดยสายเลือดหรือยึดโยงกลุุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หากวันข้างหน้ากลุ่มคนที่มีแนวคิดตรงกันกับเดียร์มีโอกาสขึ้นมาบริหาร เดียร์เองก็พร้อมทำงานร่วมกับพรรคต่อไป" น.ส.วทันยา ระบุ

ถามว่า วันนี้มีการมองว่าปิดฉากศัตรูคู่แค้นทางการเมืองระหว่างพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์แล้ว น.ส.วทันยา กล่าวว่า  ตนไม่อยากให้มองว่าการทำงานการเมืองต้องมีศัตรูคู่แค้นหรือปฏิปักษ์กับใครโดยตลอด ตนคิดว่าทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปตามบริบทสถานการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจ สิ่งที่ตนคัดค้านไม่เห็นด้วยกับการเข้าร่วมรัฐบาล หรือพรรคประชาธิปัตย์ขัดแย้งกับพรรคเพื่อไทย แต่เกิดขึ้นเพราะว่า หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และผู้บริหารไม่เคารพในเสียงประชาชนต่างหาก