'ปชน.' ซัดรัฐบาลชักหนี้5แบงค์ใส่ดิจิทัลวอลเล็ต 'จุลพันธ์' สวนไม่ขัดกม.
"สส.ปชน." ซัดรัฐบาล ชักดาบ 5แบงค์รัฐ ดึงงบ3.5หมื่นล้าน ใส่โครงการดิจิทัลวอลเล็ต แนะให้เปลี่ยนใช้เป็นกม.โอนงบดีกว่า ด้าน "จุลพันธ์" สวนไม่เกี่ยวเงินชำระหนี้ ยันโยกงบทำได้ไม่ขัดกฎหมาย
ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาฯ วาระพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 วาระสอง ซึ่งที่ประชุมได้อภิปรายมาถึงงบกลาง ที่กรรมาธิการวิสามัญฯ ได้พิจารณาปรับเพิ่ม 8.42 แสนล้านบาท จากวงเงิน 8.05 แสนล้านบาท ทั้งนี้พบในส่วนของค่าใช้จ่ายในรายการที่ได้งบเพิ่มมีจำนวน 2 รายการ คือค่าใช้จ่ายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ ถูกจัดสรรไว้ 1.87 แสนล้านบาท จากวงเงิน 1.52 แสนล้านบาท และส่วนของเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 9.6 หมื่นล้านบาท จากวงเงินเดิม 9.5 หมื่นล้านบาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในการอภิปรายพบความน่าสนใจอยู่ที่การอภิปรายของน.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ฐานะกมธ.เสียงข้างน้อย ที่อภิปรายต่อการทำนโยบายเติมเงินหมื่นผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ว่า ในส่วนของการปรับลดงบประมาณจาก 5 ธนาคาร รวมเป็นเงิน 3.5 หมื่นล้านบาทนั้น มีความประหลาด เพราะในชั้นอนุกมธ. ไม่มีการปรับลดค่าใช้จ่ายส่วนที่นำไปชำระหนี้ และเป็นเงินที่ใช้ในส่วนของโครงการค้างเก่า เช่น โครงการจำนำสินค้าเกษตร ปี2552 โครงการประกันรายได้ สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ และพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายยกฯ รวมถึงตัดงบของธนาคารออมสิน 2,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นรายการที่ใช้ในโครงการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด เป็นการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อให้รวมเงินเพื่อใช้ในโครงการเติมเงิน ทั้งนี้ที่ปรับลดนั้นลอยมาหลังจากที่อนุกมธ.พิจารณาเสร็จสิ้น ในคราวที่ครม. มีมติให้โอนเงินเพื่อใช้กับโครงการดิจิทัลวอลเล็ต
"วันนี้เราไม่รู้ว่าโครงการดิจิทัลวอลเล็ตจะเดินไปทางไหน เงินที่ได้มาจะพอหรือไม่ หากไม่พอจะทำอย่างไรต่อ เพราะขณะนี้ไม่มีความชัดเจน ต้องรอรัฐบาลใหม่ถวายสัตย์ปฏิญาณตน และแถลงนโยบายก่อน ซึ่งไม่สามารถรู้ว่าจะเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง ขณะนี้พบรายละเอียดที่จะเปลี่ยนเงินดิจิทัลเป็นเงินสด ให้กับ 14.5ล้านคน ส่วนที่เหลือต้องหาเงินมาอีก 3.05 แสนล้านบาท เพื่อใช้แจกอีก 45 ล้านคน ดังนั้นรัฐบาลชักดาบ 5 ธนาคาร รวม 3.5 หมื่นล้านบาท ยังไม่รู้ว่าจะพอหรือไม่” น.ส.ศิริกัญญา อภิปราย
น.ส.ศิริกัญญา อภิปรายด้วยว่าสภาฯ ไม่จำเป็นต้องเห็นชอบเงินจำนวน 1.2แสนล้านบาท เพื่อใช้กับโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ควรต้องรอแถลงนโยบายให้จบก่อน ซึ่งตนมีข้อเสนอแนะว่าหลังจากที่รัฐบาลแถลงนโยบายต่อรัฐสภาแล้ว ควรออกร่างพ.ร.บ.โอนงบประมาณ เพราะยังมีเวลา ให้ประชาชนรอมาได้ปีกว่า ควรให้รออีกหน่อย โดยการ ออก ร่างพ.ร.บ.โอนประมาณโดยตัดงบกระทรวงของพรรคเพื่อไทย และพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อใช้ดิจิทัล วอลเล็ต เพื่อแจกให้ครบ45 ล้านคน
สส.พท. ลุกหนุน ดิจิทัลวอลเล็ต ชี้ประชาชนรอคอย
ทั้งนี้ในส่วนของสส.พรรคเพื่อไทย ได้อภิปรายสนับสนุนงบกลางในส่วนของค่าใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ โดย นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า พรรคเพื่อไทยตั้งเป้าให้จีดีพีโต 5% ซึ่งสิ่งที่จะช่วยได้ คือ โครงการดิจิทัลวอลเล็ต หากโครงการนี้ไม่ออกจะทำได้ไม่ตามเป้า
ขณะนี้นายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม สส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย อภิปรายสนับสนุนว่าตนไม่ตัดงบกลาง แต่จะขอเพิ่มแต่ทำไม่ได้เพราะผิดกฎหมาย และไม่รู้จะเอาเพิ่มจากไหน ดังนั้นขอให้ทีมการคลังรีบช่วยนายกฯ และขอให้สภาฯ เห็นชอบผ่านเงินก้อนดังกล่าวเพื่อช่วยประชาชนรากหญ้าและแก้ปัญหาเศรษฐกิจ โดยไว เพื่อให้ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ ที่เข้ามาเชื่อมต่อนโยบายสร้างเศรษฐกิจ ให้ประชาชนมีเงินใช้สอย ซึ่งเมื่อรากหญ้าเข้มแข็งแล้วตลาดบนจะเข้มแข็งด้วย โดยตนสนับสนุนการเปลี่ยนจากเงินดิจิทัลเป็นการแจกเงินสดให้ประชาชน
ทางด้านนายธีระชัย แสนแก้ว สส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย อภิปรายสนับสนุนงบกลางในส่วนของรายการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ หากไม่มีเงินก็ต้องกู้ ซึ่งประชาชนรอคอย อีกไม่กี่วันข้างหน้าขอให้เงินไหลสู่ประชาชนภายในเดือนก.ย. ทั้งนี้ไม่ว่าออกมาในรูปแบบไหนขอให้เงินถึงมือประชาชน
ขณะที่นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ฐานะรองประธานกมธ.คนที่สอง ชี้แจงว่า ในส่วนของบกลางรายการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อใช้ในโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต ส่วนที่ห่วงในการเปลี่ยนแปลงงบของธนาคารรัฐ 5 แห่ง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจนั้นชอบด้วยกฎหมายทุกประกาศ ซึ่งได้ตั้งในงบประมาณวาระแรกผ่านมติ ครม. และเสนอต่อสภาฯ ซึ่งได้รับความเห็นชอบในการพิจารณาวาระแรก การเสนอเปลี่ยนแปลงรัฐวิสาหกิจทั้ง 5 แห่ง 3.5หมื่นล้านบาท เพราะได้ทบทวนแล้ว ปรับลดงบที่ชะลอดำเนินการได้เพื่อให้รัฐบาลใช้นโยบายในโครงการเร่งด่วน
“ยืนยันไม่ขัดต่อกฎหมายไม่ได้ปรับลดในมาตรา 40 รายจายเพื่อชำระหนี้ภาครัฐ แผนบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ ซึ่งได้ตั้งไว้ 4.1แสนล้านบาท ซึ่งจำนวนดังกล่าวนั้นมี 2.8หมื่นล้านบาท ในการชำระหนี้ของ ธกส. ไม่ได้ปรับลดจนชำระคืนในสัดส่วนที่ต้องชำระคืน กระบวนการพิจารณาในชั้นกมธ. ในการเปลี่ยนแปลงงบรายจ่ายมาตรา 29 เป็นมาตรา 6 นั้นชอบด้วยกฎหมายทุกประการ” นายจุลพันธ์ ชี้แจง
ต่อจากนั้นที่ประชุมได้ลงมติโดยพบว่าเสียงข้างมากเห็นชอบต่อการแก้ไขของกมธ. ในส่วนของงบกลางตามที่เสนอต่อที่ประชุม.